วันคุ้มครองผู้บริโภค อีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้ใช้สินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรม
ที่มาของวันคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับที่มาและจุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2512 ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ จัดตั้งโดยสมาคมผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ รวมตัวกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาชักชวนองค์กรเอกชนในประเทศไทยให้เข้าร่วมสหพันธ์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากองค์กรเอกชนของประเทศไทยขณะนั้นยังไม่พร้อม จึงยังไม่ได้เกิดความร่วมมือกัน แต่ถึงกระนั้นทางสหพันธ์ก็ยังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชักชวนอยู่เรื่อย ๆ
กระทั่งในปี พ.ศ. 2514 องค์กรเอกชนของประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปัญหาผู้บริโภคมีชื่อว่า "กรรมการศึกษาและส่งเสริมผู้บริโภค" และได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาในภาคเอกชน รวมทั้งได้ประสานงานกับภาครัฐบาล จนถึงปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการชุดดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ได้สลายตัวไปพร้อมกับรัฐบาลในยุคนั้นจากเหตุการณ์ทางการเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองบริโภค เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา ภายหลังรัฐสภามีมติเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ จึงได้นำร่างขึ้นบังคมทูล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา
ด้วยเหตุนี้ จึงกำหนดให้ "วันคุ้มครองผู้บริโภค" ตรงกับวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี
จุดประสงค์ของการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
การประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจการค้า และธุรกิจโฆษณา ได้นำวิชาการทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาดและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้าต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการกำหนดคุณภาพและราคาของสินค้า หรือผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา แต่เมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ บางครั้งก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ ขณะเดียวกันในบางกรณีก็ไม่อาจระงับหรือยับยั้งการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที จึงควรมีกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป จึงได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อ..
1. กำหนดสิทธิของผู้บริโภค
2. กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาต่อผู้บริโภค เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค
3. จัดให้มีองค์กรของรัฐที่เหมาะสมเพื่อตรวจตรา ดูแลและประสานงานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค
ภายหลังได้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
2. คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา และคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดอยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล
สิทธิของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
ต่อมาการสื่อสารได้มีความเจริญก้าวหน้าและเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เกิดผู้ประกอบกิจการจำนวนมาก จึงได้มีการจัดตั้ง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ) ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และจากการที่ กสทช. ได้ทำงานด้านสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ก็ได้กำหนดหลักสิทธิการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ มี 7 ข้อ ดังนี้
1. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจ โดยข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
2. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
3. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
4. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
5. สิทธิในความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อ
6. สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการบริหารจัดการสื่อ
7. สิทธิในการได้รับการเยียวยาความเสียหายเมื่อได้รับความเสียหาย
ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางใดได้บ้าง
หากถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้หลายช่องทาง อาทิ
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สายด่วน 1166 หรือเว็บไซต์ ocpb.go.th
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ consumerthai.org
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่เว็บไซต์ fda.moph.go.th กรณีเกี่ยวข้องกับเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุเสพติด วัตถุมีพิษ
- สำนักงานแพทยสภา ที่เว็บไซต์ tmc.or.th กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการรักษาพยาบาลหรือบริการของแพทย์
- สำนักงาน กสทช. ที่สายด่วน 1200 หรือสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (รส.) โทร. 02-271-0151 ต่อ 455 โทรสาร 02-271-0151 ต่อ 454 หรือทางเว็บไซต์ bcp.nbtc.go.th กรณีพบเห็นรายการหรือโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง เกินจริง อวดอ้างสรรพคุณ เอาเปรียบหรือค้ากำไรเกินควร แจ้งได้ที่สายด่วน
- สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ที่เว็บไซต์ mrd-hss.moph.go.th กรณีได้รับความเสียหายจากการบริการของสถานพยาบาลเอกชน (คลินิกลดความอ้วน โพลีคลินิก โรงพยาบาลเอกชน)
- กรมการค้าภายใน ที่สายด่วน 1569 หรือเว็บไซต์ dit.go.th กรณีเกี่ยวกับเรื่องราคาสินค้า การกักตุนสินค้า ไม่ติดป้ายราคา มาตราชั่ง ตวง วัด คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 หรือเว็บไซต์ dbd.go.th กรณีเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วน 1186 หรือเว็บไซต์ oic.or.th สำหรับเรื่องการประกันภัยประเภทต่าง ๆ
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่เว็บไซต์ tisi.go.th กรณีร้องเรียนคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่สายด่วน 1348 หรือเว็บไซต์ bmta.co.th กรณีร้องเรียนด้านขนส่งมวลชน
- กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เว็บไซต์ dopa.go.th กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านการปกครอง
- ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน 1213 หรือที่เว็บไซต์ 1213.or.th กรณีถูกฉ้อโกงเรื่องทางการเงิน
อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบ ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคอย่างเราจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม และร่วมกันรณรงค์ในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น
บทความวันสำคัญที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง