x close

เปิดหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดแหล่งเรียนรู้คนรุ่นใหม่





        "คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด"

        หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้มาไม่มากก็น้อย หากในข้อเท็จจริงวาทกรรมดังกล่าวอ้างอิงจากงานวิจัยเพียงชิ้นหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นผลการศึกษาที่ทำอย่างต่อเนื่องโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ
        ในความเป็นจริงหลายปีที่ผ่านมาผลการวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ กลับปรากฎว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือเพียงปีละ 8 บรรทัด อย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นวันละหลายนาทีมากกว่า โดยเฉพาะผลจากการวิจัยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เผยแพร่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือถึงวันละ 66 นาที เลยทีเดียว

        เรียกว่าคนละเรื่องเดียวกันกับมายาคติที่เราเชื่อกันมาโดยตลอด

        สอดคล้องกับการสำรวจขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ที่เล็งเห็นการขยายตัวของสังคมการอ่านในประเทศไทย และคัดเลือกให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) อันนำมาสู่การจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของมหานครแห่งนี้

เปิดหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดแหล่งเรียนรู้คนรุ่นใหม่




        ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะผู้บริหาร กทม.และสื่อมวลชนเข้าทดสอบระบบการให้บริการหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครก่อนเปิดให้บริการทางการ ในวันที่ 28 เมษายนนี้

        ในโอกาสนี้กระปุกดอทคอมขอขันอาสาพาเพื่อน ๆ ไปร่วมทดสอบระบบและสำรวจหอสมุดแห่งใหม่นี้ไปพร้อม ๆ กัน







เลือกพื้นที่ประวัติศาสตร์ ผสมผสานความเป็นไทย


        สำหรับพื้นที่ในการก่อสร้างหอสมุด เดิมทีผู้บริหาร กทม. ตั้งใจจะใช้ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดเมือง ทว่าติดปัญหาเนื่องจาก กทม. ยังหาพื้นที่ก่อสร้างสำนักงานใหม่ของตนเองไม่ได้ ทำให้ผู้บริหารต้องเสาะหาพื้นที่ใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง

        จนในที่สุดมาได้ข้อสรุปที่อาคาร 4 ชั้น ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีพื้นที่ใช้สอยรวม 4,880.38 ตารางเมตร ทำสัญญาเช่ากันเป็นเวลา 30 ปี

        จุดเด่นของอาคารหลังนี้ คือ เป็นอาคารเก่าสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคนีโอ – คลาสสิค ผสมผสานการตกแต่งแบบศิลปะไทย ภายในออกแบบให้มีความโอ่โถง โปร่งสบาย

        แบ่งส่วนพื้นที่เป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สำหรับให้บริการการอ่านและพื้นที่สำหรับทำงาน คุมแสงให้อยู่ในระดับสบายตาในโทนสีร่วมสมัย

        ทั้งนี้การปรับปรุงอาคารทั้งหมด ผู้ออกแบบพยายามตกแต่งให้คงรูปแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด



4 พื้นที่การเรียนรู้ 4 มุมแห่งภูมิปัญญา

        ในส่วนของรายละเอียดการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยทั้ง 4 ชั้น (รวมชั้นลอย) มีการจัดภายใต้แนวคิดที่น้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ใช้งาน แบ่งเป็น
ชั้นที่ 1 จัดแสดงพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการอ่านและการเรียนรู้ ตามแนวคิด รอยทางของพระราชา ตามรอยแสงแห่งปัญญา (Follow the Light of Wisdom of the King Bhumibol Adulyadej) เพื่อสร้างแนวทางให้คนไทยรู้จักการเรียนรู้อย่างชาญฉลาดผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ

        นอกจากนั้นยังมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และสังคม ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามความเหมาะสมและช่วงฤดูกาล

        ถัดเข้าไปภายในจะเป็นส่วนของห้องนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ห้องฉายภาพยนตร์ ส่วนให้บริการข้อมูลภายในห้องสมุดและข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว และห้องสมุดสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วย หนังสือเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ และสื่อโสตทัศน์ต่าง ๆ

        ชั้น M หรือชั้นลอย ส่วนนี้จะรวบรวมหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ออกแบบภายใต้แนวคิดตามรอย แสงแห่งปัญญา (Play, Learn and Grow together with the Light of Wisdom) เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ความพากเพียร และการใช้ปัญญาอย่างถูกต้อง

        ชั้นที่ 2 โลกแซ่ซ้องพระบารมี เจริญไมตรีแห่งมหานคร (Welcome to the Land of the Great King) ชั้นนี้จะรวบรวมเรื่องราวของเมืองหลวงนานาประเทศ หนังสือจากสถานทูตในประเทศไทย หนังสือจากประเทศเมืองพี่เมืองน้องของกรุงเทพมหานคร





        ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนพร้อมทั้งหนังสือสื่อการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ตลอดจนวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

        นอกจากนี้ยังมีส่วนของห้องค้นคว้าและห้องประชุมอเนกประสงค์ให้ใช้บริการ รวมทั้งนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับการอ่าน

        ชั้นที่ 3 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ชั้นนี้จะรวบรวมรายละเอียดและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้แนวพระราชดำริ และหลักการทรงงาน

        เอกสารอีกส่วนหนึ่งที่มีในชั้นนี้ จะเป็นส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านศาสนา ด้านการคมนาคม ผังเมือง ข้อมูลทั้ง 50 เขต รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ และหนังสือที่หน่วยงาน กทม. เป็นผู้ผลิตขึ้น





เปิดสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

        จากทดลองใช้บริการพบว่า ภาพรวมของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครถือว่ามีความพร้อมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบอิเล็คทรอนิกส์ทำงานได้ดี ไม่มีข้อติดขัดใด ๆ

        ผู้ที่จะมาใช้บริการเบื้องต้นกำหนดเปิดให้บริการวันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 08.00-21.00 น. วันอาทิตย์  เวลา 09.00–20.00 น. ปิดทำการวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ และคาดว่าหลังจากเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายน จะให้บริการเต็มรูปแบบได้ในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2560

สมาชิกสมัครไม่ยาก ปีละ 5-10 บาท

        สำหรับการสมัครสมาชิกเพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวนักศึกษา เป็นหลักฐานพร้อมค่าสมัคร ซึ่งสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น สามารถยืม-คืนหนังสือได้ รวมทั้งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เป็นต้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ค่าสมัครสมาชิก
        - อายุไม่เกิน 15 ปี คนละ 5 บาท/ปี
        - อายุ 15 ปีขึ้นไป คนละ 10 บาท/ปี


ค่าประกันหนังสือ
        - อายุไม่เกิน 15 ปี คนละ 20 บาท
        - อายุ 15 ปีขึ้นไป คนละ 40 บาท

วิธีการยืม-คืนหนังสือของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

        1. เมื่อได้หนังสือที่ต้องการยืม ผู้ใช้บริการสามารถมาดำเนินการยืมหนังสือได้ที่จุดบริการยืม-คืนหนังสือ บริเวณโถงทางเข้าชั้น 1
        2. นำบัตรสมาชิกแกนเข้าที่เครื่อง และเลือกที่บริการยืมหนังสือ
        3. จากนั้นเครื่องจะทำการพิมพ์รายการยืมหนังสือออกมาให้ผู้บริการได้รับทราบ เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย
        (ขั้นตอนการยืมหนังสือดังกล่าวเป็นขั้นตอนเดียวกับบริการการคืนหนังสือ)









เดินทางไม่ลำบาก เลือกได้หลายเส้นทาง

        ด้านการเดินทางมาที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกได้หลายเส้นทางและหลายรูปแบบ ทั้งรถเมล์ลงป้ายสี่แยกคอกวัว ทั้งรถไฟฟ้า BTS ลงอนุสาวรีย์ชัยแล้วต่อรถเมล์ ทั้ง MRT ลงหัวลำโพง แล้วต่อรถเมล์ หรือเรือด่วนเจ้าพระยาลงท่าพระจันทร์แล้วต่อรถเมล์ รายละเอียด ดังนี้

ป้ายรถเมล์ สี่แยกคอกวัว

        รถเมล์สาย 2, 2ส, 15, 32, 33ร, 35ร, 44ร, 47, 59, 60, 68, 70, 79, 82, 157ร, 171ร, 183ร, 201ร, 203, 503, 509, 511, 511ส, 556

รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS)
        สถานีอนุสาวรีย์ชัย ต่อรถเมล์สาย 59 ,157 ,159 ,171,183 ,201,503 ,509 ลงป้ายรถเมล์สี่แยกคอกวัว

รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT)

        สถานีหัวลำโพง ต่อรถเมล์สาย 159 ลงป้ายสี่แยกคอกวัวหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

เรือด่วนเจ้าพระยา
        ลงท่าพระจันทร์ ต่อรถเมล์สาย 59 ,157 ,159 ,171,183 ,201,503 ,509 ลงป้ายรถเมล์สี่แยกคอกวัว

        สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-245 4171 หรือ เฟซบุ๊ก หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร Bangkok City Library











ข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร Bangkok City Library
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดแหล่งเรียนรู้คนรุ่นใหม่ อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2560 เวลา 10:43:28 6,523 อ่าน
TOP