x close

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ ปัจจุบันยังคงวิ่งรับใช้ประชาชน

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ

          ฮือฮา ! แห่แชร์ภาพรถเมล์จากพฤษภาทมิฬ วิ่งถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์เคลื่อนที่ ที่ทำให้หวนนึกถึง...อดีต

          วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เป็นที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์หลังชาวเน็ตต่างแห่แชร์ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ ที่โพสต์ภาพรถเมล์ที่มีตัวเลขหน้ารถ 3-40193 พร้อมเล่าเรื่องราวย้อนความหลังถึงรถเมล์คันนี้ โดยระบุว่า

          "3-40193" เป็นหนึ่งในรถโดยสารที่ถูกยึดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้มากพอสมควร แต่รถไม่ได้ถูกเผาทำลาย ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น รถได้ประจำการที่สาย 2 สำโรง-ปากคลองตลาด ปัจจุบัน 3-40193 ประจำการที่สาย 25 และยังคงออกวิ่งให้บริการจนถึงทุกวันนี้...

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ

          ทั้งนี้ รถเมล์คันดังกล่าวเป็นของยี่ห้อ HINO ซึ่งก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า นิธิศ เอ รวิวรรณกุล ได้เข้าไปคอมเมนต์ใต้ภาพรถเมล์คันดังกล่าวว่า ...
          "เคยฝึกงานเป็นช่างซ่อมรถเมล์ HINO ที่หลักสี่ รถเข้าเซอร์วิสตามระยะเป๊ะ ๆ ตามกำหนดต้องปรับตั้ง ก็ปรับตั้ง อันไหนถังระยะต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนเลย ไม่ต้องรอให้พังก่อน อะไหล่ใหม่ของแท้ (รถร่วมบางเจ้า พังแล้วค่อยเปลี่ยน) แต่ถ้าจะพัง...ก็เด็กฝึกงานนี่แหละ ลืมขันนอต"

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ

          เรียกได้ว่า ภาพและข้อความนี้ กลายเป็นที่ฮือฮาบนสังคมออนไลน์ในชั่วพริบตา เนื่องจากผ่านมาแล้วกว่า 25 ปี แต่รถยังคงใช้งานได้ วิ่งรับใช้ประชาชนมาจนถึงยุคปัจจุบัน หากจะเรียกว่าประวัติศาสตร์วิ่งได้ก็คงไม่แปลกอะไร

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ

รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ

          อนึ่ง หากย้อนกลับไปในเหตุการณ์ความขัดแย้งเมื่อปี 2535 พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น เคยยืนยันหนักแน่นหลายครั้งว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวหรือรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อ พล.อ. สุจินดา และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลชุดนี้มีปัญหาคอร์รัปชันร้ายแรง และ พล.อ. สุจินดา ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ท้วงติงว่า ท่านกลืนน้ำลายตัวเอง จนเป็นที่มาของคำว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" อีกทั้งการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จนนำมาซึ่งประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย

          ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อ พล.อ. สุจินดา ในครั้งนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านอย่างหนัก โดยมี พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น เป็นแกนนำ รวมไปถึง ร.ต. ฉลาด วรฉัตร, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, นพ.เหวง โตจิราการ, นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส.จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ โดยแกนนำใช้วิธีการอดอาหารประท้วง เพื่อให้รัฐบาล พล.อ. สุจินดา ออกจากตำแหน่ง

          คืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 นักศึกษาและประชาชนราว 500,000 คน มาชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง โดยมีการเคลื่อนขบวนจากสนามหลวง ผ่านราชดำเนินกลาง เพื่อมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตำรวจและทหารได้มีการสกัดการเคลื่อนขบวนของประชาชน จนเป็นเหตุให้ปะทะกัน

          อีกทั้งยังมีการเผาทำลาย สน.นางเลิ้ง จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้แผนไพรรีพินาศขั้นที่ 3 คือการปราบปรามขั้นเด็ดขาด จากนั้นทหารและตำรวจกว่า 6,000 นาย พร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะ จึงปฏิบัติการเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งผลจากการสลายการชุมนุมในครั้งนั้นทำให้นักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปหลายร้อยคน สูญหายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก และเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ถูกเรียกขานและเป็นที่จดจำของประชาชนในชื่อ "พฤษภาทมิฬ"


ภาพและข้อมูลจาก buddhadada.com, เฟซบุ๊ก Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถเมล์สาย 2 ในตำนาน สมัยพฤษภาทมิฬ ปัจจุบันยังคงวิ่งรับใช้ประชาชน อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2560 เวลา 08:16:39 18,570 อ่าน
TOP