x close

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย ฉลาดใช้-ไม่เสพติดยอดแชร์ !

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย

          สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนา "สถานการณ์สื่อกับสังคมไทย : ถึงเวลาฉลาดใช้สื่อ" ถกทางรอดไทยจากยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของวงการสื่อ ประชาชนใช้สื่ออย่างอย่างไรให้รู้เท่าทัน แนะต้องปลูกฝังวิชาวารสารศาสตร์ตั้งแต่วัยประถมศึกษา

@ ระดมสมอง-เสนอมุมมองฉลาดใช้สื่อ

          เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอุทยานการเรียนรู้ TK Park ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับภาคีเครือข่ายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิสยามกัมมาจล และอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดเสวนาเรื่อง "สถานการณ์สื่อกับสังคมไทย : ถึงเวลาสังคมฉลาดใช้สื่อ"

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย

          โดยมีวิทยาการร่วมเสนอความคิดเห็น ได้แก่ นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กระปุกดอทคอม, นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสื่อสาธารณะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายพิภพ พานิชภักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

@ สังคมไทยต้องรู้เท่าทันสื่อ

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ

         ช่วงพิธีเปิดงาน พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวถึงหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข ของสถาบันพระปกเกล้าว่า หลักสูตรนี้มีเป้าหมายให้ผู้เข้ารับการอบรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันอย่างอิสระ พร้อมศึกษาจากกรณีที่เกิดขึ้นจริงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุขร่วมกันระหว่างคนในสังคม
          ผลจากการศึกษาสถานการณ์ของสื่อในปัจจุบันพบว่า สื่อมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมากมายหลายด้าน ทั้งทางบวกและทางลบ เช่น มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คุณภาพของสื่อในปัจจุบันจึงถูกกำหนดโดยผู้ส่งสาร และรสนิยมของผู้รับสาร

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
วสันต์ ภัยหลีกลี้

          ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปจากอดีตมาก มีช่องทางการนำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลที่สามารถแพร่กระจายข้อมูลออกไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ จึงมีความสำคัญต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

@ 'สาร' คือจุดชี้ขาดความอยู่รอด

          สำหรับช่วงเสวนา ดำเนินรายการโดยนายวิทเยนทร์ มุตตามระ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล ซึ่งเริ่มต้นการพูดคุยด้วยการสอบถามความเห็นนายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บกระปุกดอทคอม ในประเด็นบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียกับสังคมปัจจุบัน

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
ปรเมศวร์-วิทเยนทร์-ดร.วิไลวรรณ

          นายปรเมศวร์ ระบุว่า ทุกวันนี้สังคมของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งคนได้และเสียประโยชน์ สื่อโซเชียลในยุคปัจจุบัน หากมีเนื้อหาที่ดี และน่าสนใจ จะเป็นผู้ได้เปรียบและสามารถดึงความสนใจของผู้รับสารได้มากกว่าสื่อหลักที่ขณะนี้หลายแห่งกำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนไป 

          "จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ และสื่อออนไลน์ขนาดเล็กเกิดขึ้นจำนวนมาก กล่าวคือหากสามารถถอดรหัสเนื้อหา หรือ สารที่สังคมต้องการได้ก็จะเป็นผู้อยู่เหนือคลื่นสึนามิของวงการสื่อ ไม่ถูกซัดจมหายไปใต้คลื่นที่กำลังรุนแรงในขณะนี้" นายปรเมศวร์ กล่าว
 
 @ ข่าวต้องไม่หลงลืมจริยธรรม

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
ธาม อธิบายสถานการณ์สื่อ

          นายธาม นักวิชาการอิสระชื่อดัง กล่าวถึงสื่อใหม่ว่า ปัจจุบันมีกระบวนที่ทำให้เห็นเส้นแบ่งระหว่างสื่อใหม่ กับ สื่อหลัก ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเห็นได้ชัด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สื่อมีการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ โดยมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หากข่าวไหนที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจก็จะรุมเสนอข่าวโดยอาจหลงลืมจริยธรรม

          ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ จากธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้การเรียนการสอนสื่อสารมวลชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การเรียนการสอนให้คนเป็นสื่อจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อให้ทันสถานการณ์มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างปรากฏการณ์ของการบริโภคสื่อในยุคนี้ว่า นิยมการบริโภคข่าวสารจากสื่อโซเชียลมีเดียแทนการบริโภคข่าวสารจากข่าวหลัก

@ อย่าเสพติด 'ยอดแชร์'

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
พิภพ พานิชภักดิ์-ผศ.ดร.วิลาสินี

          ขณะที่นายพิภพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และอดีตคนข่าวเครือเนชั่น ระบุว่า ในฐานะผู้ทำงานสื่อมานานกว่าสิบปี เราไม่สนใจแค่เพียงความนิยม เพราะการจะนำเสนอสิ่งใดต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ให้โอกาสว่าคนนี้ใช่หรือเปล่า ตนอยากบอกคนทำสื่อว่า "อย่าเสพติดยอดแชร์" อยากให้ "เสพติดยอดเชนจ์" (Change -การสร้างความเปลี่ยนแปลง) ที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสังคม แม้ยอดผู้ชมอาจน้อยกว่า แต่หากมีผู้นำไปไปเปลี่ยนแปลงต่อยอดเป็นประโยชน์ได้ ถือว่าคุ้มกว่า

@ สร้างประชาชนคนพันธุ์ 'เอ๊ะ'

          นายพิภพ ชี้ด้วยว่า ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน ประชาชนต้องติดตามข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้สร้าง (maker) ต้องฉลาดรู้เท่าทันและสร้างสื่อที่ฉลาด สร้างคอนเทนต์ คัดกรอง และมีส่วนร่วมเป็นในฐานะผู้สร้างเนื้อหา และเป็นคนที่เถียงเป็น เป็น "นักเอ๊ะ" ตั้งคำถามกับสิ่งที่พบว่าจริงหรือไม่ ให้เกิดบรรยากาศถกเถียง มากกว่าสังคมที่ผู้คนว่าง่าย แห่กดไลท์และแชร์ตามกระแสไปเรื่อย ๆ ซึ่งกลไกที่ทำให้คนในประเทศเป็นเช่นนี้คือ หลักวิชาวารสารศาตร์ เพราะอาชีพสื่อมวลชนมีลักษณะเด่นคือเป็นอาชีพเปิด หากสร้างให้นักเรียนได้เรียนรู้ และสามารถเข้าใจ อธิบายโลกของตนเองได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เขาเหล่านั้นจะเป็นผู้สร้างอนาคตใหม่ของสื่อและสังคมได้

@ 'ความถูกต้อง' อยู่เหนือ 'ความเร็ว'

          ส่วน ผศ.ดร.วิลาสินี  อดีตรองผอ. ส.ส.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันการทำข่าวของสื่อโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงไป เวลาลงพื้นที่รีบคิดประเด็นนำเสนอทางออนไลน์ก่อน ถูกกำชับว่า เราต้องเร็ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวกำลังทำลายความเข้าใจของสังคม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหาทางออกร่วมกัน ให้สื่อนำเสนอโดยคำนึงถึงเนื้อหาเป็นหลัก คิดว่ากำลังส่งเสนอเรื่องอะไร เรื่องนั้นมีประโยชน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คนทำสื่อออนไลน์ ต้องแยกให้ออกระหว่างเสียงบ่นทั่วไป (Noise) กับเสียงจริงอันเป็นความคิดเห็น เป็นเสียงประชาชน (Voice) เพราะทุกวันนี้สังคมเราเต็มไปด้วย Noise ทั้งนี้ แม้บริบทการรับข่าวสารจะเปลี่ยนไป แต่สูตรการรู้เท่าทันสื่อยังไม่เปลี่ยน

@ อิสรภาพของสื่อ-เปิดกว้างรับฟัง

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
วิทยากรร่วมแสดงทัศนะ

          นอกจากนั้น ในช่วงท้ายของการเสวนา นายปรเมศวร์ ผู้ก่อตั้งเว็บกระปุกดอทคอม เสนอข้อคิดทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ประเด็นเรื่องอิสรภาพของสื่อนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ "ฟังฉันแล้วเธอเงียบ" เช่น ลูกที่ห้ามเถียงพ่อแม่ ก็เป็นความสันติแบบพ่อแม่กับลูก แต่อีกแบบหนึ่งคือสันติแบบคุยกัน โดยเปิดพื้นที่ให้คุยกันว่าปัญหาต่าง ๆ จะจบลงได้อย่างไรก็เป็นสันติในอีกรูปแบบหนึ่ง วันนี้สื่อทุกคนควรกลับมาคิดว่า เราควรจะเอาสันติในรูปแบบไหน

ทางรอดสื่อกับสังคมไทย
ผู้ร่วมฟังเสวนาคึกคัก

          ส่วนประเด็นเรื่องการศึกษา ตนมองว่าการศึกษาทุกวันนี้อาจไม่ส่งเสริมให้เด็กได้คิดและเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เช่น ในการเรียนส่วนใหญ่จะให้เขียนเรียงความ มากกว่าการเขียนเอสเสย์ (essay) ที่ผู้เขียนจะต้องมีระบบเขียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ได้แก่ ปูพื้นเกริ่นนำ ตามด้วยการนำเสนอเนื้อหาของตน ให้เหตุผลสนับสนุนเนื้อหาดังกล่าง จากนั้นแสดงข้อมูลความเห็นอื่นที่แตกต่าง คนอื่นมองต่างจากสิ่งที่เรานำเสนอย่างไร  และจบด้วยบทสรุป ซึ่งเป็นการส่่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรกลับมาคิดกันใหม่เกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนของเราหรือไม่ เพื่อให้การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากสังคมและวงการสื่อของไทยในอนาคต


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทางรอดสื่อกับสังคมไทย ฉลาดใช้-ไม่เสพติดยอดแชร์ ! อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 เวลา 14:26:21 2,942 อ่าน
TOP