x close
hilight > ข่าวฮิตสังคมออนไลน์

เพจดังโพสต์ให้ข้อคิด ปม cyberbullying ไวรัลเต้นงู แล้วมันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

| 27,633 อ่าน

 

เพจดังโพสต์ให้ข้อคิด หลังเกิดกรณี cyberbullying อีกครั้งจากไวรัลเต้นงูของน้องใบเตย ชี้ คนไทยนั้นใจดี แต่ไม่ละเอียดอ่อน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2560 เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้มีการโพสต์ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องคลิปไวรัลเต้นงูของน้องใบเตย มีรายละเอียดดังนี้

#cyberbullyingที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จากปรากฏการณ์คลิปไวรัลของเด็กสาวคนหนึ่งอายุ 20 ปีนิดๆ ที่ไปเที่ยวกลางคืน แล้วขอเพลงกับดีเจ โดยให้คำใบ้ว่า เพลงที่มีงูออกมา หลังจากเปิดเพลง เธอก็เต้นๆๆ แล้วก็มีใครสักคนถ่ายคลิปของเธอเอาไว้ และเอาไปโพสต์ หลังจากนั้นคลิปก็ถูกแชร์เป็นสาธารณะ มีคนเข้าไปดูมากมายในเวลาชั่วข้ามคืน

เรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้เราเห็นกรณีศึกษาของ cyberbullying อีกครั้งของสังคมไทย

เริ่มจากคนที่ถ่ายคลิปเขาไปโพสต์

สื่อและประชาชนที่ลงคลิปแชร์ต่อ ๆ กันไป

คนที่มีคอมเมนต์วิจารณ์ถึงรูปร่างหน้าตา

พูดถึงพฤติกรรมที่ผ่านมา

ร่ายยาวกันจนไปถึงอดีตกาลบรรพบุรุษ

พร้อมกับเอาเรื่องราวต่าง ๆ ของเขามาเปิดเผย

อาชีพที่ทำ สถานที่เรียน

หลังจากนั้นก็มีคนไปให้ความเห็นมากมาย

หรือแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือไม่ก็ตาม

บางคนที่มาคอมเมนต์ในเชิงล่วงละเมิดทางเพศ แล้วบอกว่า ก็เพราะเด็กมาเต้นแบบนี้ ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้ เหมือนเป็นความผิดของเจ้าตัว กลายเป็นถูก harassment กระทำซ้ำซาก

บางทีการกระทำที่คิดว่าเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างคาดไม่ถึง เรื่องของความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา จึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็น cyberbullying อย่างหนึ่ง ซึ่งความคุกคามมีมาก เพราะใครอยากทำก็ได้ ไม่ต้องเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม ความเห็นที่รุนแรงมักเป็น anonymous ไม่เปิดเผยชื่อ คอมเมนต์แล้วก็ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่หายไปไหน จารึกอยู่ในโลกออนไลน์เรียบร้อย ใครเข้ามาก็ได้อ่านและวิจารณ์ต่ออย่างคึกคะนอง

เหมือนกรณีของนักร้องวง BNK48 กระทู้แนะนำของพันทิปหลายวันก่อน เกิร์ลกรุ๊ปของไทยแต่ทำเป็นแนวญี่ปุ่น นักร้องแต่ละคนหน้าตาน่ารักแนวเจแปนนีส

แล้วเกิดกรณีว่าคนไทยบางคนเห็นอะไรเป็น 'ผู้หญิงญี่ปุ่น' หน่อยก็จะคิดถึงหนัง AV แถมคอมเมนต์กันโจ่งครึ่มในเฟซบุ๊กไลฟ์ของวง

คอมเมนต์บางอันพูดเหมือนนักร้องแต่ละคนมาเล่นหนัง AV ให้ดู ทั้งที่เขาก็มาร้องเพลงให้ฟัง (เช่น คอมเมนต์ประมาณว่า "ครางชื่อ...หน่อย" ฯลฯ)
ถือเป็น Sexual harassment ทางออนไลน์กันแบบชัดแจ้ง แต่คนไทยบางส่วนทำกันเป็นเรื่องธรรมดาและขบขัน บางทีก็สงสัยว่า เมื่อไหร่จะเลิกกันเสียที

มีคำพูดที่บอกว่า What goes online, stay online.
หมออาจจะมองเรื่องนี้ในแง่ร้ายนิดหนึ่ง เพราะคิดว่าสำหรับสังคมไทย เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในสื่อต่าง ๆ มาตั้งแต่จำความได้ ไม่รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ หรือมันเป็นเพราะการปลูกฝังที่ผ่าน ๆ กันมา

ยกตัวอย่างเวลาดูรายการทีวี มุกตลกที่เป็นการแสดงออกถึงการหยามเหยียดคนรอบข้าง เช่น 'อ้วน' 'ดำ' 'เตี้ย' 'โง่' หรือคำที่ใช้เรียกคนที่เป็นเพศที่สาม หรือมุกตลกทางเพศ ก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูส่วนใหญ่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่เคยคิดว่า ถ้าตัวเองถูกว่าแบบนี้ จะรู้สึกเช่นไร บางคนอาจจะคิดไม่พอใจแค่ชั่ววูบเดียว แล้วก็รู้สึกว่า 'เราไม่ควรจะคิดแบบนั้น คนอื่นเค้ายังรับกันได้' จึงกลายเป็นมาตรฐานที่สร้างให้ตัวเองและคนรอบข้างเห็นว่าเรื่องแบบนี้ คือการ discrimination กลายเป็นเรื่องธรรมดา (อยากชวนให้ลองไปฟัง Ted talk ของคุณป๋อมแป๋มประกอบ 'โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง')

มันอาจละเอียดอ่อนเกินไป คนไทยส่วนใหญ่ใจดีค่ะ แต่ไม่ใช่คนละเอียดอ่อน ไม่ค่อยคิดอะไรมาก และมักจะคิดได้เมื่อถึงจุดที่สายไปแล้ว เข้าทำนองวัวหายล้อมคอกอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างค่านิยมใหม่ในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ใจเขา เริ่มตั้งแต่เรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ทำซ้ำ ๆ ทำบ่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัย และอย่าลืมว่าเด็กและเยาวชน ก็มองเห็นการกระทำของผู้ใหญ่อย่างเราอยู่
เริ่มที่ตัวเรานะคะ

#หมอมินบานเย็น

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจดังโพสต์ให้ข้อคิด ปม cyberbullying ไวรัลเต้นงู แล้วมันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2560 เวลา 16:54 27,633 อ่าน
TOP