x close

ชวนชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ คืนวันเสาร์ 21 ต.ค. นี้


ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์

            สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ คืนวันที่ 21 ตุลาคม 2560  สังเกตได้ตั้งแต่ 5 ทุ่มเป็นต้นไป หากฟ้าใส-ไร้ฝนชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ

            วันที่ 19 ตุลาคม 2560 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ ในวันที่ 21 ตุลาคม นี้ โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก พร้อมแนะนำว่า ควรชมในจุดที่มืดสนิทและห่างจากเมือง หากปลอดฝนสามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ
            สำหรับฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยปี 2560 มีอัตราการตกสูงสุดในวันที่ 21 ตุลาคม 2560 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน ทางทิศตะวันออก สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไป ในคืนดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ข้างขึ้น 1 ค่ำ เป็นคืนที่ท้องฟ้ามืดปราศจากแสงจันทร์รบกวน

            ส่วนวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุดคือ มองด้วยตาเปล่า ในทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก เลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงเมืองให้มากที่สุดจะทำให้เห็นดาวตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ และหากพลาดชมฝนดาวตกครั้งนี้ สามารถติดตามชมฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้อีกครั้งในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560

            ทั้งนี้ ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ คืนวันเสาร์ 21 ต.ค. นี้ อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2560 เวลา 18:53:53 56,619 อ่าน
TOP