พระราชดำรัส ร.5 เกี่ยวกับงานพระบรมศพของพระองค์เอง ต้นแบบการสร้างพระเมรุมาศ



             เปิดกระแสพระราชดำรัส รัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับพระบรมศพของพระองค์เอง ที่แต่ก่อนจะมีการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่มาก จนพระองค์รับสั่งว่า การสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่มาก ๆ นั้น เปลืองทั้งแรงงานคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ จนกลายมาเป็นต้นแบบพระเมรุมาศในปัจจุบัน

             เข้าใกล้มาทุกทีกับพระราชพิธีแห่งความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทย กับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 โดยในวันนี้ (23 ตุลาคม 2560) เว็บไซต์ kingrama9.th ได้มีการเปิดเผยที่มาและความสำคัญของพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย พระราชพิธีที่มีที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยกรุงศรีอยุธยา

รัชกาลที่ 5
              ทั้งนี้ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรืองานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยึดตามแบบแผนของงานออกพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่างจากช่วงรัชกาลที่ 1-4 ที่มีการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่โตเต็มรูปแบบ โดยมีทั้งพระเมรุมาศครอบด้านนอก และพระเมรุทอง หรือ พระเมรุน้อย อยู่ด้านใน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

               "แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่า โตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคน และเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ ว่าผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร ณ ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป"

รัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5

               ทั้งนี้ การปรับลดขนาดพระเมรุมาศในพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ในครั้งนี้ กลายเป็นแบบแผนของงานออกพระเมรุมาศที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระเมรุมาศขนาดเล็กลงคงเหลือแต่พระเมรุน้อยเท่านั้น และเป็นไปโดยประหยัด แต่ยังคงไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีและสมพระเกียรติตามพระราชอิสริยยศของพระบรมศพ

               แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-4) นิยมสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่โตเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย พระเมรุมาศหรือพระเมรุใหญ่ ครอบด้านนอก และพระเมรุทองหรือพระเมรุน้อย อยู่ด้านใน สำหรับพระเมรุมาศที่ทำสถิติสูงที่สุด ได้แก่ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดารสมัยอยุธยาว่า ขนาดใหญ่ ขื่อ 7 วา (14 เมตร) 2 ศอก (2 เมตร) โดยสูง 2 เส้น (80 เมตร) 11 วาศอกคืบ (23 เมตร) มียอด 5 ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง

(หมายเหตุ : ๑ วา เท่ากับ ๒ เมตร)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก kingrama9.th, campus-star.com
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระราชดำรัส ร.5 เกี่ยวกับงานพระบรมศพของพระองค์เอง ต้นแบบการสร้างพระเมรุมาศ อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 16:49:13 46,003 อ่าน
TOP