เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4

จับสลากพระราชมรดก

          เปิดเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น้อยคนนักจะรู้ การจับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

          ย้อนกลับไปในปี 2411 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  เสด็จพระราชดำเนินไปยังตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง โดยพระองค์ประทับอยู่ที่หว้ากอเป็นเวลา 7 วัน ก็เสด็จกลับมายังพระนคร ไม่นานหลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรจับไข้ และประทับรักษาพระวรกายบนพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ในพระบรมมหาราชวัง

          โดย ณ ตอนนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบดีว่าอาการประชวรของพระองค์ครั้งนี้ เห็นทีจะหายยาก พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำในเวลานี้ คือ ให้ขุนนางและข้าราชการเข้าเฝ้า เพื่อฝากฝังและมอบหมายพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ยังคงค้างคาอยู่ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พระราชมรดกส่วนพระองค์

          การจัดแบ่งพระราชมรดกครั้งนี้ ได้จัดทำขึ้นอย่างเงียบ ๆ เป็นการภายใน บนพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

          แรม 8 ค่ำเดือน 10
          ในเวลาค่ำ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีพระวรกายร้อนจัด จึงรับสั่งให้เสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ ผู้เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ผู้เป็นพระสนมเอก ให้ช่วยกันพยุงพระองค์เสด็จไปลงพระบังคน (ถ่ายทุกข์) แต่เมื่อเสด็จประทับลง พระองค์ก็ประชวรพระวาโย (เป็นลม) พระเนตรช้อนขึ้น สิ้นพระสติ เสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์จึงเข้ารับประคองไว้ หลังจากนั้นเสด็จพระองค์หญิงฯ ก็เสด็จลงพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อทูลพระอาการถวายกรมขุนวรจักรฯ ให้ทรงทราบเพื่อให้แต่งพระโอสถถวายพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระอาการของพระเจ้าอยู่หัวดีขึ้นตามลำดับ

          ขึ้น 7 ค่ำเดือน 11
          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า แม่หนูใหญ่จ๋า (หมายถึงเสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์) จงไปเอาเงินส่วนพระคลังข้างที่มาถวายพ่อเณรองค์ละ 10 ชั่ง จะได้เอาไว้ทำบ้าน (พ่อเณรในที่นี้หมายถึง พระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์ และบวชเณรอยู่ ณ ขณะนั้น) เสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์รับราชโองการ เข้าเบิกเงินไปถวายพระองค์เจ้าเณรทั้งเจ็ดตามรับสั่ง

          ขึ้น 14 ค่ำเดือน 11
          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับเสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ และเสด็จพระองค์หญิงโสมาวดีว่า "เจ้าทั้ง 2 คนได้รักษาพยาบาลพ่อมา บัดนี้พ่อใกล้จะตายอยู่แล้ว แหวนเพชรใหญ่ 2 วง ที่ถอดเป็นเข็มกลัด และกลัดคอได้นั้น ให้ลูกจ๋าเก็บไว้เป็นที่ระลึกคนละวง แล้วจงไปค้นดูแหวนข้างที่มาแจกให้น้องเสียคนละวงตามมีตามเกิดเถิด" เสด็จพระองค์หญิงทั้งสองรับราชโองการ

          จากนั้นทรงรับสั่งต่อไปว่า "พ่อยังมีของเก่าที่เป็นของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ (พระพี่นางในรัชกาลที่ 1) แล้วตกมาถึงสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ (อัครมเหสีในรัชกาลที่ 2) แล้วตกมาถึงพ่อ คือ

          1. อ่างทองแดงใหญ่ ที่พวกเจ้าเคยลงอาบเล่นกันตั้งแต่ยังเล็ก
          2. ตู้กระจกทาสีเขียวใบใหญ่ เป็นของโบราณตกทอดมาแต่กรุงเก่า
          3. โถลายตุ๊กตาจีน เป็นของโบราณตกทอดมาแต่กรุงเก่า


          "เจ้าสองคนกับทักษิณชา จงแบ่งปันกันรักษาของเก่านี้ไว้คนละสิ่ง" จากนั้นพระเจ้าลูกเธอจึงกราบบังคมรับราชโองการใส่เกล้าฯ และปรึกษากันว่าจะเขียนสลากขึ้นมาแล้วจับเอาคนละใบ โดยผลการจับสลากเป็นดังนี้

          เสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์จับได้อ่างทองแดงใหญ่
          เสด็จพระองค์หญิงโสมาวดีจับได้ตู้กระจกเขียว
          เสด็จพระองค์หญิงทักษิณชาจึงได้โถลายตุ๊กตาจีน


          ครั้นถึงเวลาทุ่มเศษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า พ่อร้อนนัก นี่ไฟธาตุจะแตกแล้ว เสด็จพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์จึงถวายอยู่งานพัด จนเสด็จสวรรคต

          สำหรับพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ทั้งสามพระองค์นั้น ทุกพระองค์ล้วนเป็นพระเจ้าลูกเธอที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรัก และฝากฝังให้ดูแลน้อง ๆ ในฐานะพี่สาวใหญ่ โดยในบรรดาพระราชธิดาทั้งหมด 43 พระองค์ มีเพียง 3 พระองค์นี้เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยต่อท้ายพระนาม ได้แก่

จับสลากพระราชมรดก

          1. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา

จับสลากพระราชมรดก

          2. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี

จับสลากพระราชมรดก

          3. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา

          ทั้งนี้ในปัจจุบันนั้น แทบไม่ปรากฏหลักฐานถึงพระราชมรดกของเก่าเหล่านี้แล้ว ซึ่งทางเพจคลังประวัติศาสตร์ไทย ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า เมื่อพระเจ้าลูกเธอทั้งสามพระองค์ได้รับพระราชทานมรดกเป็นการส่วนพระองค์ ก็ย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยไม่ขึ้นตรงกับกรมพระคลัง เมื่อสิ้นบุญเสด็จพระองค์หญิงทั้งสามพระองค์แล้ว ทรัพย์จากราชมรดกเหล่านี้ ก็จะตกไปยังเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน เช่น ราชสกุลที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ได้แก่ ราชสกุลเกษมสันต์ หรือ ราชสกุลที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์เจ้าทักษิณชา ได้แก่ ราชสกุลศุขสวัสด์ และราชสกุลเกษมศรี เป็นต้น

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับมรดกว่าจะจัดการอย่างไรตามพระประสงค์ เช่น ถวายคืนพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ ถวายให้แก่วัด หรืออาจยังอยู่ในตำหนักส่วนพระองค์ในพระบรมหาราชวังต่อไป

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก คลังประวัติศาสตร์ไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ จับสลากพระราชมรดก ในคืนสวรรคต ร.4 อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2560 เวลา 10:56:57 95,116 อ่าน
TOP