เปิดทำเนียบ เสือ 5 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกขึ้นบัญชีเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง"

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          สัตว์ป่าคุ้มครอง มีกี่ชนิด รู้ไหม ในจำนวนนี้มี "เสือ" อยู่ 5 ชนิด ที่ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และใกล้จะสูญพันธุ์ ลองมาดูว่าเรารู้จักพวกมันมากน้อยแค่ไหน

          ทุกวันนี้มีสัตว์ป่าหลายชนิดที่ถูกมนุษย์ไล่ล่าและคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างหนักจนใกล้จะสูญพันธุ์ นั่นจึงทำให้มีการกำหนด "พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535" ขึ้น เพื่ออนุรักษ์และปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้ ซึ่งในส่วนของสัตว์ป่าคุ้มครองจะแบ่งสัตว์ออกเป็น 7 ประเภทคือ
          - สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด
          - นก 952 ชนิด
          - สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด
          - สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด
          - ปลา 14 ชนิด
          - แมลง 20 ชนิด
          - สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 12 ชนิด

          รวมทั้งหมด 1,302 ชนิด

          ในจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองนับพันชนิดนี้... "เสือ" นักล่าแห่งป่าเป็นสัตว์ตระกูลหนึ่งที่ถูกมนุษย์ตามล่า เพื่อเอาหนัง และอวัยวะไปทำยาบำรุงกำลังตามความเชื่อของคนบางกลุ่มดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้วันนี้ จำนวนประชากรเสือลดลงอย่างน่าตกใจ และอยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ กระปุกดอทคอม จึงขอรวบรวม "เสือ" 5 ชนิด ที่ขึ้นบัญชี "สัตว์ป่าคุ้มครอง" มาให้เราได้รู้จักก่อนที่นักล่าแห่งพงไพรจะเหลือเพียงแค่ชื่อ หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาการรุกผืนป่าและปราบปรามการล่าสัตว์ป่าได้
 
เสือโคร่ง
 
สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อสามัญ : Tiger
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera tigris

          เสือโคร่งเป็นสัตว์ประเภทเสือที่เราน่าจะรู้จักกันมากที่สุด เพราะมีเอกลักษณ์เป็นลายพาดกลอน และมีรูปร่างสง่างาม ร่างกายแข็งแรง จึงถูกยกย่องให้เป็นจ้าวป่า 

          เสือโคร่งแบ่งออกเป็น 9 สายพันธุ์ คือ เบงกอล, แคสเปียน, ไซบีเรีย, ชวา, จีนใต้, บาหลี, สุมาตรา, อินโดจีน และมลายู แต่ทว่าปัจจุบันมีเสือโคร่งสูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์แคสเปียน, พันธุ์ชวา และพันธุ์บาหลี

          ขณะที่สายพันธุ์ที่เหลืออยู่ก็มีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนน่าห่วงว่าจะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์จีนใต้, พันธุ์สุมาตรา และไซบีเรีย ซึ่งจัดเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด คือมีน้ำหนักได้มากกว่า 300 กิโลกรัม

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ปัจจุบันพบเสือโคร่งอาศัยอยู่ใน 13 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย (สุมาตรา), ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, รัสเซีย, เวียดนาม และไทย สำหรับในประเทศไทยเอง เสือโคร่งที่อาศัยอยู่เป็นสายพันธุ์อินโดจีนทั้งหมด โดยคาดว่าจะเหลืออยู่ประมาณ 200-250 ตัว อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณใกล้ลำห้วย เพราะเป็นป่าที่มีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีประชากรเสือมากที่สุด รวมทั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทับลาน เขาใหญ่ ฯลฯ

          ด้วยสถานการณ์เสือโคร่งที่ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีการกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์เสือโคร่งสากล" (International Tiger Day) หรือ "วันอนุรักษ์เสือโลก" (Global Tiger Day) เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนเสือควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปรามการล่าเสือโคร่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง


เสือดาว หรือ เสือดำ

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อสามัญ : Leopard หรือ Panther
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera pardus

          เสือดาวเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่รองมาจากเสือโคร่ง มีจุดเด่นตรงที่มีขนสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลือง และมีลายดอกสีดำอยู่ทั่วตัว แต่บริเวณกลางตัวจะมีจุดดำเรียงกันเป็นวงเล็ก ๆ มีช่องว่างตรงกลาง เรียกว่า "ลายขยุ้มตีนหมา" แต่หากเสือดาวมีความผิดปกติของเม็ดสีที่เรียกว่า "เมลานิซึม" จะทำให้ลำตัวมีสีดำ คนจึงเรียกเสือดาวชนิดนี้ว่า "เสือดำ" แต่จริง ๆ สีของมันยังไม่ถึงกับดำสนิท เพราะถ้าอยู่ท่ามกลางแสงแดดก็ยังเห็นว่ามีลายเช่นเดียวกับเสือดาวอยู่

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          เสือดาว และเสือดำ พบได้ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียตอนใต้ มีถิ่นที่อยู่อาศัยหลากหลาย เพราะอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมหลายประเภท ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า พื้นที่โล่ง สำหรับประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้ อย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวก็เช่นในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง โดยเสือดำพบได้ยากกว่าเสือดาว และมีความดุร้ายมากกว่า

          ปัจจุบัน เสือดาวจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 182 เนื่องจากอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะยังคงมีกลุ่มลักลอบค้าสัตว์พยายามล่าเสือดำและเสือดาว ด้วยหวังจะเอาหนังไปทำเครื่องประดับ หรือใช้ในพิธีกรรม รวมทั้งเอาเครื่องในและกระดูกไปทำยาจีน 

          - เสือดำ สัตว์นักล่าแห่งพงไพร สะท้อนความสมบูรณ์ของป่า ผู้ล่า-ครอบครอง มีความผิด

เสือปลา

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อสามัญ : Fishing Cat
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Felis viverrina

          เสือปลามักถูกเข้าใจผิดว่าคือ "แมวเบงกอล" เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายแมว คือมีหน้าสั้น ขาสั้น หางสั้นกว่าครึ่งของลำตัว ใบหูกลม มีขนสีเทาแกมน้ำตาล มีลายสีน้ำตาลแกมดำสั้น ๆ เรียงเป็นแนวตามตัว แต่จะมีขนาดตัวใหญ่กว่าแมวบ้านและดุกว่า มักพบในพื้นที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          อย่างในประเทศไทยจะพบเสือปลาตามป่าที่ราบต่ำทั่วไปซึ่งอยู่ใกล้หนองน้ำลำธาร เพราะอาหารหลักของเสือปลาคือ ปลา ปู กบ เขียด นก หนู และหอย เสือปลาจึงมีความสามารถในการว่ายน้ำและดำน้ำ แต่ปกติแล้วมักจะไม่ชอบลงน้ำ แต่จะใช้วิธียืนรออยู่ตามโขดหินให้ปลาว่ายเข้ามาใกล้ ๆ ซะมากกว่า

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ปัจจุบันสถานการณ์เสือปลาทั่วโลกอยู่ในขั้นใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว เนื่องจากถูกมนุษย์รุกล้ำพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและออกหากินของเสือปลา ทำให้เสือปลาขาดแคลนอาหารและไม่มีที่อยู่อาศัย บางครั้งเสือปลาต้องออกจากป่าไปจับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านกิน สุดท้ายเสือปลาก็ถูกชาวบ้านฆ่าตาย นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสือปลาลดจำนวนลงจนใกล้สูญพันธุ์

          - เสือปลา นักล่าผู้สง่างามแห่งหนองน้ำ แมวป่าที่ใกล้สูญพันธุ์จากโลกนี้


เสือไฟ

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อสามัญ : Asian Golden Cat
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Felis temminckii

          เสือไฟมีลักษณะลำตัวเป็นสีพื้นน้ำตาลแดง แต่บางตัวอาจมีสีดำหรือเทา มีลักษณะเด่นคือ มีแต้มสีขาวกับขีดสีดำบริเวณแก้ม และมีเส้นจากหัวตาไปถึงกระหม่อม ด้านล่างลำตัวและขาด้านในมีสีขาว ปลายหางด้านล่างสีขาว หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดขาวอยู่กลางหลังหู ตามักมีสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองอำพัน ขนาดลำตัวไม่ใหญ่มากนัก มักอาศัยอยู่ตามป่าฝนในเขตศูนย์สูตร ตั้งแต่เนปาล ลงไปจนถึงสุมาตรา

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          อุปนิสัยของเสือไฟมักหากินในเวลากลางคืน โดยจับสัตว์ขนาดเล็กกว่า เช่น กระต่าย นก หนู ไก่ สัตว์เลื้อยคลานกินเป็นอาหาร ปัจจุบันพบเสือไฟได้น้อย เพราะเจอภัยคุกคามหลายด้าน ทั้งการบุกรุกป่าทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัย รวมทั้งการล่าเอาหนัง และบ่อยครั้งที่ได้ยินข่าวชาวบ้านฆ่าเสือไฟที่เข้ามากินสัตว์เลี้ยงในบ้าน ยิ่งทำให้เสือไฟมีแนวโน้มสูญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น


เสือลายเมฆ


สัตว์ป่าคุ้มครอง

          ชื่อภาษาอังกฤษ และชื่อสามัญ : Clouded Leopard
          ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neofelis nebulosa

          เสือลายเมฆมีลักษณะคล้ายเสือดาวแต่ตัวเล็กกว่า และรูปร่างเตี้ยป้อม จัดว่าเป็นเสือที่มีขนาดเล็กที่สุด ลำตัวมีสีน้ำตาลแกมเขียว และมีลายเป็นวงใหญ่คล้ายก้อนเมฆทั่วตัว มีหางยาวมากและฟู มีลายเป็นปล้องตลอดหาง ขาค่อนข้างสั้นและเท้าใหญ่ 

สัตว์ป่าคุ้มครอง

          เสือลายเมฆชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าทึบหรือป่าดิบในเขตร้อนชื้น เพราะปีนต้นไม้เก่ง สามารถห้อยโหนกิ่งไม้ด้วยขาหลังเพียงอย่างเดียวและปล่อยให้หัวห้อยลงมาได้ แต่กลับไม่ถนัดในการจับเหยื่อบนต้นไม้ จึงมักออกล่าเหยื่อตามพื้นดิน เช่น พวกกระรอก นก ลิง เก้ง กวาง สัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ

          และเพราะหนังเสือลายเมฆมีความสวยงาม จึงทำให้เสือลายเมฆถูกล่าเอาหนังไปทำผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ เป็นเหตุให้พบเสือลายเมฆในธรรมชาติได้น้อยมาก จึงจัดเป็นสัตว์ป่าที่ต้องคุ้มครองอีกชนิด

          ทั้งนี้ การกำหนดให้สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้มีการกำหนดโทษไว้เพื่อปราบปราบผู้กระทำผิด โดยตามมาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง และมาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 16 มาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์มาจากน้ำมือมนุษย์ที่บุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายบ้านของสัตว์เหล่านี้ จนเป็นเหตุให้สัตว์หลายชนิดต้องออกจากป่ามาหาอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่ถึงกระนั้นก็ยังถูกคนฆ่าด้วยเกรงอันตราย รวมทั้งถูกล่าจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ดังนั้น หากไม่มีการปราบปรามปัญหาเหล่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง อีกไม่นานสัตว์ป่าบางชนิดคงเหลือแต่เพียงชื่อไว้ให้ลูกหลานได้ท่องจำ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, โลกสีเขียว, สวนสัตว์ดุสิต, ไทยพีบีเอส

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดทำเนียบ เสือ 5 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกขึ้นบัญชีเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง" อัปเดตล่าสุด 6 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 17:32:22 90,808 อ่าน
TOP
x close