x close

เปิดโพสต์ อ. สั่งกราบ ฉะน้องแบม สร้างความเดือดร้อนให้คนมีศีลธรรม !?



           ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน แฉ อ. สั่งกราบ โพสต์ฉะน้องแบม ทุกอย่างเกิดจากความเห็นแก่ตัว แถมสร้างความเดือดร้อนให้คนมีศีลธรรม

           เป็นประเด็นที่สังคมจับตามองอยู่ในขณะนี้ สำหรับกรณีที่ น้องแบม หรือ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดโปงคดีโกงเงินคนยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น กับอาจารย์ท่านหนึ่ง แต่กลับถูกอาจารย์สั่งให้ไปขอโทษหน่วยงานดังกล่าว แถมถูกหาว่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะ สั่งกราบเท้าเจ้าหน้าที่ ซ้ำพอถูกสืบสวนหัวหน้าภาคก็ไม่พอใจเรียกไปคุยและทุบตีนั้น (อ่านข่าว : น้องแบม แฉอีกดอก หัวหน้าภาคใช้มือทุบหลังระบายอารมณ์ ปมเปิดโปงโกงเงินคนจน)

           ต่อมา หมออุดม รมช.ศึกษาธิการ ได้ออกโรงป้องน้องแบม โดยชี้ว่า สมควรได้รับการยกย่องเพราะทำประโยชน์แก่ประเทศ พร้อมสั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงไปดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยอธิการบดีบอกว่า อาจารย์ไม่ได้กลั่นแกล้งน้องแบม ที่ตักเตือนก็เพราะหวังดี (อ่านข่าว : อธิการบดีป้องอาจารย์ ยันไม่ได้รังแกน้องแบม ชี้ตักเตือนเพราะหวังดี !?)
           อย่างไรก็ดี วันที่ 6 มีนาคม 2561 เพจเฟซบุ๊ก ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เผยภาพสเตตัสของอาจารย์ที่สั่งน้องแบมกราบเจ้าหน้าที่ โดยอาจารย์คนดังกล่าวระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเกิดจากความเห็นแก่ตัว สร้างความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนมีศีลธรรม ! พร้อมทั้งบอกว่า ให้รีบมาขอขมาก่อนที่ทุกอย่างมันจะสาย


           ทั้งนี้ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เปิดโปงด้วยว่า การสอบสวนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่องสั่งให้กราบนั้นไม่น่าจะได้เรื่อง เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องให้ข่าวกับสื่อว่านิสิตไปทำเรื่องโดยพลการ และไม่มีการสั่งกราบ



สำหรับการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินคนจนของน้องแบม สรุปลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

           - วันที่ 7 สิงหาคม - ปลายเดือนกันยายน 2560 น้องแบมได้เข้าฝึกงานพร้อมเพื่อนอีก 3 คน ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น และได้พบความผิดปกติตั้งแต่วันแรกของการทำงาน เนื่องจาก ผอ.ศูนย์คุ้มครองฯ ได้พาไปที่บ้านพักส่วนตัว และพบเจ้าหน้าที่ 2 คน กำลังนั่งทำเอกสารจำนวนมาก

           - วันต่อมาน้องแบมถูกสั่งให้กรอกใบสอบประวัติผู้ประสบปัญหา แต่ใบดังกล่าวว่างเปล่าไม่มีแม้แต่รอยปากกา โดยเอกสารถูกแนบมากับสำเนาบัตรประชาชนที่มีการเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว น้องแบมจึงเกิดความสงสัยเนื่องจากไม่สามารถกรอกข้อมูล เช่น รายได้ สถานะทางครอบครัว หรือความต้องการได้ เนื่องจากไม่ได้ลงไปตรวจสอบหรือซักถาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บอกให้ดูจากอายุ และเดาเอา

           - ในใบสำคัญรับเงินไม่ปรากฏรายละเอียดใด ๆ มีแต่การลงชื่อของผู้รับเงินไว้แบบลอย ๆ แถมเจ้าหน้าที่ยังให้น้องแบมทำการปลอมลายเซ็นขึ้นมาด้วย โดยคนที่สั่งให้ทำคือ นางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน

           - น้องแบมได้ไปถามเจ้าหน้าที่คนอื่นที่อยู่ในศูนย์ เรื่องที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำเอกสารที่บ้าน ผอ. ก็ได้รับคำตอบจาก น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร จึงตัดสินใจช่วยกันเปิดโปงขบวนการดังกล่าว


           - ต้นเดือนตุลาคม 2560 น้องแบมนำเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย แต่อาจารย์กลับบอกให้เปลี่ยนที่ฝึกงาน และอาจารย์กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ที่ทำการทุจริตได้ให้น้องแบมและเพื่อน ๆ คุกเข่าแล้วก้มกราบขอโทษ โดยลงความเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิด

           - 11 ตุลาคม 2560 น้องแบมเก็บข้อมูลหลักฐานทั้งหมดระหว่างการฝึกงาน ร่วมกับน้องเกมส์ ณัฐกานต์ หมื่นพล ที่ได้ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารราชการ กรอกข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เอกสารผู้ติดเชื้อเอดส์ ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินรวมกว่า 2,000 ชุด เป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาท แล้วยื่นเรื่องต่อสำนักงานเลขาธิการ คสช. จนนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบทั้งใน จ.ขอนแก่น และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ รวม 37 ศูนย์

           - น้องแบมถูกอาจารย์เรียกเข้าไปพบ พร้อมบอกว่าถ้าจะร้องเรียนทำไมไม่ให้เรียนจบก่อน หน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบทำอะไรไม่ได้หรอก จากนั้นหัวหน้าภาควิชาก็ใช้มือทุบหลังน้องแบม 2 ครั้ง


- หลังจากขยายผลการตรวจสอบ พบว่ามีจังหวัดที่เข้าข่ายการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งรวมแล้ว 24 จังหวัด คือ

           1. ขอนแก่น ตรวจสอบพบมียอดเบิก 6.9 ล้านบาท (ที่ที่น้องแบมฝึกงาน)
           2. สุราษฎร์ธานี 10.5 ล้านบาท
           3. เชียงใหม่ 8.5 ล้านบาท
           4. อุดรธานี 7.3 ล้านบาท
           5. สระบุรี 2.58 ล้านบาท
           6. หนองคาย 1.5 ล้านบาท
           7. บึงกาฬ 1.5 ล้านบาท
           8. อยุธยา 1.3 ล้านบาท
           9. กระบี่ 1.2 ล้านบาท
           10. ตรัง 1.2 ล้านบาท
           11. น่าน 1 ล้านบาท
           12. ตราด 9.2 ล้านบาท
           13. ร้อยเอ็ด 7 แสนบาท
           14. สระแก้ว 6.3 ล้านบาท


ส่วนอีก 10 จังหวัดที่เหลือยังอยู่ในขั้นการตรวจสอบ ได้แก่

           1. ยะลา
           2. สงขลา
           3. นราธิวาส
           4. พัทลุง
           5. ชุมพร
           6. บุรีรัมย์
           7. สุรินทร์
           8. อ่างทอง
           9. พิษณุโลก
           10. ชัยภูมิ


           โดยพฤติกรรมการทุจริตของศูนย์ 10 จังหวัด จะเป็นรูปแบบใหม่ คือ มีการนำชื่อบรรดาข้าราชการท้องถิ่น อาทิ ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน มาเบิกเงินทั้งที่คุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ไม่ได้ยากไร้ เจ็บป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป

           สำหรับปีงบประมาณ 2559 มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 298,022 คน ยอดเงินที่เบิก คือ 599.74 ล้านบาท

           ปีงบประมาณ 2560 มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 246,872 คน ยอดเงินที่เบิก คือ 493.74 ล้านบาทปีงบประมาณ 2561 งวดที่ 1 มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 137,239 คน ยอดเงินที่เบิก คือ 274.47 ล้านบาท รวมย้อนหลังเพียง 3 ปีงบประมาณ มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 682,133 คน ยอดเงินที่รัฐจ่ายไปอยู่ที่ 1,367.96 ล้านบาท

           สำหรับใครที่ไม่ได้รับเงิน หรือได้ไม่ครบตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารการเบิกจ่าย สามารถมาแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ของตัวเอง โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดี 3 ข้อหาหนัก ประกอบด้วย

           - มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือ จำคุก 10 ปี
           - มาตรา 264 ปลอมแปลงเอกสารราชการ
           - มาตรา 352 ยักยอกทรัพย์ โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำดังกล่าวหากไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะถูกจัดให้เป็นผู้ร่วมให้การสนับสนุนซึ่งจะมีความผิดเช่นเดียวกัน


ภาพและข้อมูลจาก
, เพจเฟซบุ๊ก ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดโพสต์ อ. สั่งกราบ ฉะน้องแบม สร้างความเดือดร้อนให้คนมีศีลธรรม !? อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2561 เวลา 18:16:07 67,272 อ่าน
TOP