เปิด 5 ประเด็นน่ารู้ จากชีวิต สตีเฟน ฮอว์คิง ยอดนักวิทยาศาสตร์แห่งยุค

ภาพจาก JUSTIN TALLIS / AFP

           เปิด 5 ประเด็นน่ารู้ เกี่ยวกับ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักจักรวาลวิทยาอัจฉริยะ ผู้สร้างคุณูปการมากมายให้แก่วงการวิทยาศาสตร์โลก

           วันที่ 14 มีนาคม 2561 สำนักข่าวบีบีซี รายงานข่าวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แห่งวงการวิทยาศาสตร์โลก โดย สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยาผู้ปราดเปรื่อง และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เสียชีวิตจากไปแล้ว ด้วยวัย 76 ปี ซึ่งแถลงการณ์จากครอบครัวฮอร์คิง มีเนื้อหาระบุว่า "พวกเราโศกเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง เพราะในวันนี้ คุณพ่อผู้เป็นที่รักของพวกเราทุกคน ได้จากไปแล้ว เขาคือบุคคลพิเศษและเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผลงานและความดีทั้งหลายที่เขาได้เคยสร้างเอาไว้ จะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเนิ่นนาน"

           สตีเฟน ฮอว์คิง คือหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน เขาได้มอบความรู้ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ไว้มากมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วโลก มีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติส่วนตัวของเขา ในชื่อ The Theory of Everything (2557) โดยนักแสดงหนุ่มผู้สวมบทบาทเป็นสตีเฟนคือ เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยมไปครอง และสำหรับชีวิตของสตีเฟนนั้นมีเรื่องราวที่สนใจมากมาย และนี่คือ 5 ประเด็นน่ารู้ เกี่ยวกับผู้ชายคนนี้

ภาพจาก hawking

1. ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา

           สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์คิง เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2485 ที่เมืองออกซฟอร์ด มณฑลออกซฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ พ่อแม่ของเขาต่างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดย แฟรงค์ และ อิโซเบล ฮอว์คิง พ่อแม่ของสตีเฟน พบรักกันขณะทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยทางการแพทย์ในกรุงลอนดอน โดยแฟรงค์เป็นนักวิจัย ส่วนอิโซเบลเป็นเลขานุการ ในช่วงที่อิโซเบลกำลังตั้งครรภ์นั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มรุนแรงขึ้น กรุงลอนดอนถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้ง แฟรงค์และอิโซเบลจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่ออกซฟอร์ด ซึ่งเธอให้กำเนิดสตีเฟนในเวลาต่อมา

           ด้วยความที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการศึกษาสูง สตีเฟนจึงเป็นคนใฝ่รู่ใฝ่เรียนมาตั้งแต่เด็ก เขามีความกระตือรือร้นในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาก จนได้ฉายาว่า "ไอน์สไตน์" เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาในปี 2502 สตีเฟนในวัย 17 ปี อยากเรียนต่อด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีคณะใดที่เปิดสอนด้านคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ เขาจึงเลือกเรียนทางด้านฟิสิกส์และเคมีแทน ก่อนจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี 2505 หลังจากนั้นเขาก็ได้ศึกษาวิจัยต่อทางด้านจักรวาลวิทยา ที่วิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ในปี 2508


ภาพจาก David Fowler / Shutterstock.com

2. อาการเจ็บป่วยและวิธีการสื่อสารกับคนอื่น

           ในปี 2506 ขณะที่สตีเฟน ในวัย 21 ปี กำลังศึกษาและเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น เขาก็เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ มือไม้ของเขาสั่นและอ่อนแรง ทำให้หยิบจับสิ่งของได้ไม่ถนัด เขียนหนังสือไม่คล่องแคล่วเหมือนเมื่อก่อน การพูดจาก็เริ่มติดขัด และสามารถหกล้มลงไปกองได้อย่างไม่มีสาเหตุ เมื่อเขารับการตรวจรักษา แพทย์ก็พบว่าเขาล้มป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (Motor neuron disease) และแพทย์กล่าวว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่เกิน 2 ปี ถึงกระนั้นสตีเฟนก็ไม่ท้อถอยกับชีวิต เขายังคงทำงานด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าอาการของเขาจะแย่ลง เกือบจะเป็นอัมพาต และต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลาก็ตาม

           ในช่วงที่สตีเฟนมีอายุมากขึ้น เขาไม่สามารถพูดจาหรือขยับตัวได้อีกต่อไป สิ่งที่เขาทำได้มีเพียงแค่การขยับนิ้วและขยิบตาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังสามารถสื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ และยังสามารถสอนหนังสือได้อีกด้วย เพราะรถเข็นของเขามีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยที่แว่นตาของเขามีการติดตั้งเซ็นเซอร์ สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อเขาขยับแก้ม หรือกะพริบตา มันก็จะแปลงสัญญาณไปเป็นตัวอักษร และระบบจะแปลงตัวอักษรให้กลายเป็นเสียงอีกต่อหนึ่ง

ภาพจาก JOËL SAGET / AFP

3. ชีวิตส่วนตัวและความรัก

           สตีเฟนคบหาดูใจกับ เจน ไวลด์ เพื่อนของน้องสาวเขา ตั้งแต่ช่วงก่อนที่เขาจะเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ เขาและเจนหมั้นหมายกันในปี 2507 และแต่งงานกันในปี 2508 โดยในปี 2510 โรเบิร์ต ลูกชายคนแรกของพวกเขาก็ลืมตาดูโลก หลังจากนั้นก็มีลูกสาวชื่อ ลูซี่ ในปี 2513 และ ลูกชายชื่อ ทิโมธี ในปี 2522 ทว่าไม่กี่ปีหลังจากนั้น ชีวิตการแต่งงานของทั้งคู่ก็เริ่มมีปัญหา ความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินกัน เจนเหนื่อยล้ากับปัญหาความเจ็บป่วยของสตีเฟน และชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งการรักษาพยาบาลตลอดเวลา ในช่วงนั้นสตีเฟนมีความใกล้ชิดกับ อีเลน เมสัน พยาบาลผู้คอยดูแลเขา ส่วนความสัมพันธ์กับภรรยาก็แย่ลง จนกระทั่งหย่าร้างกันในช่วงต้นปี 2538

           เขาแต่งงานกับอีเลนในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือปรากฏออกมาหลายครั้งว่าสตีเฟนถูกอีเลนทำร้ายร่างกาย แต่ครอบครัวก็ปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด และในปี 2549 ชีวิตแต่งงานระหว่างสตีเฟนกับอีเลนก็จบลงด้วยการหย่าร้าง เขาและเจนกลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น และกลับมาเป็นครอบครัวเดียวกันเหมือนเดิม


ภาพจาก Twocoms / Shutterstock.com

4. จักรวาล เวลา และหลุมดำ

           สตีเฟนทุ่มเทเวลาของเขาไปกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจักรวาล และทฤษฎีเกี่ยวกับเวลา โดยในปี 2508 สตีเฟนได้อ่านบทความฉบับหนึ่งของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ที่ชื่อ โรเจอร์ เพนโรส โดยโรเจอร์ได้เสนอทฤษฎีว่า ดาวที่ระเบิดภายใต้แรงโน้มถ่วงของตนเอง จะมีปริมาตรเป็นศูนย์ และมีความหนาแน่นเป็นอนันต์ กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าซิงกูลาริตี และผลลัพธ์ของมันก็คือ หลุมดำ ต่อมาในปี 2513 สตีเฟนและโรเจอร์ได้ทำวิจัยร่วมกัน พวกเขาได้ร่วมกันวิเคราะห์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ (General relativity) โดยสรุปว่า เอกภพ ซึ่งก็คือ ปริภูมิและเวลา หรือ กาลและอวกาศ (space and time) ถือกำเนิดขึ้นจากบิ๊กแบง และจบลงที่หลุมดำ

           ผลสรุปดังกล่าวชี้ว่าจำเป็นต้องศึกษาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปร่วมไปกับทฤษฎีควอนตัมด้วย ซึ่งผลของการวิเคราะห์นั้น สตีเฟนค้นพบว่าหลุมดำไม่ได้เป็นแค่หลุมบางอย่างที่มีสีดำ แต่มันน่าจะมีการแผ่รังสีบางอย่างออกมาด้วย โดยมันเป็นวัตถุหนาแน่นสูง มีแรงโน้มถ่วงและมวลมหาศาล แต่ในท้ายที่สุดมันก็จะระเหิดหายไป นอกจากนี้แล้ว สตีเฟนยังได้เสนออีกว่า เอกภพนั้นไม่มีขอบ หรือไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งมันสามารถอธิบายได้ว่าจักรวาลมีจุดเริ่มต้นที่สมบูรณ์ด้วยกฎแห่งวิทยาศาสตร์ และมันคือหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญของเขา

           นอกจากนี้แล้ว สตีเฟนยังมีผลงานการค้นคว้าวิจัยอีกมาก และเขาก็ได้เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ A Brief History of Time, The Universe in a Nutshell รวมทั้ง Black Holes and Baby Universes and Other Essays และ The Grand Design and My Brief History

ภาพจาก ANDREW COWIE / AFP

5. เกียรติยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์

           ด้วยผลงานอันปราดเปรื่องและคุณูปการที่ สตีเฟน มีต่อวงการวิทยาศาสตร์ เขาจึงได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยในปี 2517 สตีเฟนในวัย 32 ปี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชบัณฑิตอังกฤษ ซึ่งเขาเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และในปี 2522 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้แต่งตั้งให้เขาเป็น เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน (Lucasian Chair of Mathematics) ตำแหน่งสำหรับผู้มีความรู้ความชำนาญสูงสุดในด้านคณิตศาสตร์และเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่เคยได้รับตำแหน่งนี้คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน

ข้อมูลจาก hawking, ducksters, bbc, howitworksdaily, sheknows

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด 5 ประเด็นน่ารู้ จากชีวิต สตีเฟน ฮอว์คิง ยอดนักวิทยาศาสตร์แห่งยุค อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2561 เวลา 12:15:49 45,321 อ่าน
TOP
x close