x close

กางให้ดูชัด ๆ รถเมล์ไทย ละลายเงินไปเท่าไหร่...กับนวัตกรรมที่ใช้ไม่ได้


รถเมล์

          เปิดรายงาน รถเมล์ไทย ขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาท กับสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ต้นทุนสูงกว่ารายได้ หรือบริหารไม่ดีพอ ?

          วันที่ 13 เมษายน 2561 ข่าวเวิร์คพอยท์ ได้เผยรายงาน ประจำปีล่าสุด ขสมก. ขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างต้นทุนที่สูงกว่ารายได้ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะการบริหารที่ไม่ดีพอ

          จากรายงานระบุว่า ภาษีของประชาชน ถูกใช้ไปอย่างเสียเปล่ากับเรื่องรถเมล์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกล่องเก็บค่าโดยสาร หรือ "Cash Box" ที่ต้องโละทิ้งทั้งหมด งบวิจัยเพื่อเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์จนคนสับสน ทำให้ต้องยกเลิก และล่าสุด ศาลตัดสินให้ ขสมก. จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทเอกชนเพราะยกเลิกสัญญาโดยมิชอบอีกด้วย

รถเมล์

          - 1.15 พันล้าน ยกเลิกสัญญา ฟังไม่ขึ้น

          เรื่องที่เป็นมหากาพย์คงหนีไม่พ้นกรณีรถเมล์ NGV ของ ขสมก. จำนวน 489 คัน คาราคาซังยาวนานกว่า 12 ปี ผ่านการล้มประมูลไปถึง 6 ครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดได้กลุ่มบริษัท ช ทวี ชนะการประมูลไป และเพิ่งได้เริ่มทยอยวิ่งไปเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชำระค่าเสียหายกว่า 1,159.97 ล้านบาท ให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และอีก 3 บริษัท ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะการประมูลรถเมล์ NGV มาก่อน แต่ถูกยกเลิกสัญญา เนื่องจาก ขสมก. อ้างว่าผิดข้อตกลง เพราะนำเข้ารถจากประเทศมาเลเซีย แทนที่จะเป็นประเทศจีนตามที่ตกลงในสัญญา

          โดยศาลปกครองมีความเห็นว่า ประกาศจัดซื้อของ ขสมก. ไม่ได้ถือเรื่องแหล่งประกอบรถเมล์เป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการนำรถจากประเทศมาเลเซีย ก็ไม่นับเป็นปัญหาที่จะทำมาให้บริการประชาชน คำอ้างของ ขสมก. ในการยกเลิกสัญญาจึงไม่อาจรับฟังได้

          นอกจากนี้ ศาลปกครองกลาง ยังสั่งให้หยุดการส่งมอบรถเมล์ NGV ที่บริษัท ช ทวี เป็นผู้ชนะประมูลชั่วคราว เนื่องจากศาลเห็นว่า มีการลงมติจัดซื้อรถเมล์ NGV เป็นเท็จ เนื่องจากพบว่ากรรมการบางท่านไม่ได้ลงมติเห็นชอบแต่อย่างใด ในขณะที่ ขสมก. เตรียมยื่นอุทธรณ์ทุกกรณี
รถเมล์

          - 1.6 พันล้าน กับ กล่องเก็บค่าโดยสารที่ใช้ไม่ได้

          เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ได้สั่งยกเลิกกล่องเก็บค่าโดยสาร Cash Box บนรถประจำทางทุกคัน ทั้งหมด 2,600 คัน เนื่องจากพบว่าระบบไม่เสถียร ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งนี้ กล่องเก็บค่าโดยสาร Cash Box มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสาร แต่สุดท้ายก็ยังคงต้องใช้พนักงานอยู่ดี ทำให้ต้องสั่งยกเลิกทุกคัน จากเดิมที่ตั้งใจจะเก็บไว้ 100 คัน

          ส่วนเครื่อง E-Ticket อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจรับ ซึ่งได้ทำการติดตั้งล็อตแรกแล้ว 800 คัน ซึ่ง ขสมก. จะเรียกค่าปรับจากเอกชนฐานส่งมอบล่าช้า ทำให้ ขสมก. สูญเสียรายได้ เพราะเครื่อง E-Ticket นี้ไม่สามารถอ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้

          สำหรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ E-Ticket และกล่องเก็บค่าโดยสาร Cash Box มีวงเงิน 1,665 ล้านบาท สัมปทาน 5 ปี โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา

รถเมล์

          - เปลี่ยนเลขรถเมล์ใหม่ สุดท้ายไม่ได้ใช้ ค่าวิจัย 26 ล้านบาท

          ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ได้มีการทดลองปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ โดยนำเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ด้วย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน เป็นจำนวนมาก ซึ่งการทดลองก็ทำได้แค่เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น จากนั้นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ก็ยุติการทดสอบโครงการนี้ ซึ่งมีงบประมาณในการวิจัยสูงถึง 26 ล้านบาท โดยจะทำการประเมินผลร่วมกับ TDRI และปฏิรูปรถเมล์อีกครั้ง ในปี 2562

          ทั้งนี้ มีรายงานเปิดเผยว่า โครงการทดสอบเปลี่ยนเลขสายรถเมล์นั้น ส่งผลให้ ขสมก. ขาดรายได้ จากปกติ 3,500 – 4,000 บาทต่อวัน เหลือเพียง 700-800 บาทต่อวัน จึงต้องการให้มีการชดเชยงบประมาณกว่า 6 ล้านบาท ให้กับ ขสมก.

ภาพจาก ทวิตเตอร์ @Wiphusa, เฟซบุ๊ก Chonnapat Abe Setdhasoratha, เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กางให้ดูชัด ๆ รถเมล์ไทย ละลายเงินไปเท่าไหร่...กับนวัตกรรมที่ใช้ไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 13 เมษายน 2561 เวลา 10:16:15 15,685 อ่าน
TOP