สคบ. เตือนผู้ให้เช่าหอพัก ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ แต่หัวใสเก็บค่าส่วนกลางแพงเกินจริง อาจเจอโทษฐานเอาเปรียบผู้บริโภค
จากกรณีที่ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าด้วยสัญญา เรื่องธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดยกำหนดให้ห้องพัก ห้องเช่า หอพักต่าง ๆ ห้ามเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [อ่านข่าว : สั่งคุมค่าน้ำ-ค่าไฟหอพัก ห้ามเก็บแพงเกินจริง ดีเดย์ 1 พฤษภาคม นี้]
โดย นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. ระบุว่า ปัญหาการเรียกเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟสูงเกินจริง รวมถึงการเรียกเงินมัดจำหรือไม่คืนเงินมัดจำนั้น เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนจำนวนมาก คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจึงจำเป็นต้องออกประกาศเพื่อควบคุมธุรกิจให้เช่าอาคาร ที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามก่อนที่ประกาศจะมีผลบังคับใช้ มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีอพาร์ตเมนต์บางแห่งยอมลดค่าน้ำ-ค่าไฟ แต่ไปขึ้นค่าส่วนกลางเพิ่มเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป หรืออาจอ้างว่าต้องมีค่าไฟฟ้าการปั๊มน้ำนั้น หากพบว่าเก็บในอัตราที่สูงเกินจริงก็มีโทษตามกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้าน นายสุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการรวบรวมปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ภายหลังที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นำไปให้ สคบ. พิจารณาแล้ว เนื่องจากพบว่ามีผู้ให้เช่าบางรายได้หันไปใช้วิธีการเพิ่มค่าเช่าห้องพักกับผู้เช่าแทน เนื่องจากไม่สามารถเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟเกินจริงได้
ขณะที่ พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้ เป็นต้นไป ผู้ที่ทำธุรกิจให้เช่าอพาร์ตเมนต์หรือห้องเช่าทุกรูปแบบจะต้องเรียกผู้เช่าทุกรายมาทำสัญญาใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะเรียกเก็บเงินในค่าบริการอะไรบ้าง โดยต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาภายหลัง ซึ่งขณะนี้ก็พบข้อมูลจำนวนมากผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ระบุว่าผู้ให้เช่าใช้วิธีการเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าต้องมีค่าไฟฟ้าทางเดิน หรือระบุว่าต้องใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำใส่ถังพัก เพื่อให้เพียงพอกับการใช้ของห้องเช่าที่มีจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาระบุไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน ในทางปฏิบัติสามารถเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมกับค่าประกันความเสียหาย 1 เดือน และเรียกเก็บเดือนที่อยู่อีก 1 เดือน เมื่อรวมแล้วเท่ากับผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเช่าได้ 3 เดือนได้เหมือนเดิม โดยจะต้องมีการตกลงกันในสัญญาให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาภายหลัง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก