x close

วันนี้ในอดีต เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความสูญเสีย และชัยชนะของประชาธิปไตย


          วันนี้ในอดีต เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาชนมือเปล่า ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช.

          หลายครั้งที่ประเทศไทย เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่คนรุ่นหลังเรียกกันว่า "พฤษภาทมิฬ" และในโอกาสที่ปฏิทินเดินมาถึงวันครบรอบของโศกนาฏกรรมทางการเมืองนี้อีกครั้ง เราขอพาไปย้อนเรื่องราวว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหนักทางสังคมในครั้งนั้น จนนำไปสู่บทเรียนครั้งสำคัญต่อคำว่าประชาธิปไตยในเมืองไทย

          จุดเริ่มของ พฤษภาทมิฬ คือการรัฐประหารของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช. อ้างถึงสาเหตุที่ต้องทำว่า เพราะรัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา มีการทุจริต และมีการพยายามทำลายสถาบันทหาร รวมถึงบิดเบือนคดีวันลอบสังหารซึ่งมีจุดมุ่งหมายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้แต่งตั้งให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และในครั้งนั้น พล.อ. สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้าคณะ รสช. ได้ประกาศว่า ตนจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ

          ต่อมาเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ทางฝั่งรัฐบาลได้เลือกนายณรงค์ วงศ์วรรณ พรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะข้อครหาจากสหรัฐฯ ว่า มีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด ทำให้ พล.อ. สุจินดา ได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 นำมาซึ่งประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้เนื่องจากมองว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และยังเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. จนเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในหลายจุดภายในกรุงเทพฯ


          สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้ มีนักการเมืองจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภาร่วมกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รวมถึงการอดอาหารประท้วงของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่นั้นเป็นคนชนชั้นกลาง จนถูกเรียกว่า "ม็อบรถเก๋ง" และ "ม็อบมือถือ" และในช่วงเดือนพฤษภาคม ก็ได้มีการชุมนุมกันหลายแสนคนที่ท้องสนามหลวง

          จุดแตกหักของการชุมนุมครั้งนี้ คือวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 และขณะนั้นที่สนามหลวงคาดว่ามีผู้ชุมนุมกว่า 5 แสนคน ซึ่งบางส่วนได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำตอบจาก พล.อ. สุจินดา โดยไปตามถนนราชดำเนินกลาง แต่เมื่อถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก็ต้องเจอกับเครื่องกีดขวาง รวมถึงยังถูกเจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำที่สกปรกใส่เพื่อสลายการชุมนุม จนบานปลายเกิดการปะทะกัน และเริ่มมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต


          ข้ามคืนเข้าสู่วันที่ 18 พฤษภาคม ช่วงเที่ยงคืนเศษ ปรากฏว่าที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้ถูกกลุ่มคนปริศนาบุกทำลายและเผา โดยคนลงมือลักษณะตัดผมเกรียนและรองทรง ก่อเหตุด้วยความคล่องแคล่วเหมือนเตรียมการมาอย่างดี ซึ่งต่อมาทางรัฐบาลได้ใช้เหตุการณ์นี้ออกประกาศฉุกเฉินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในราวตีสี่เศษ ได้มีเจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่ประชาชนที่สะพานผ่านฟ้าฯ อีกครั้ง จนมีผู้เสียชีวิต ทำให้ผู้ชุมนุมแตกกระจายไปมากมาย

          เหตุสลดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 15.00 น. เมื่อรัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุม และนำกำลังเจ้าหน้าที่ 6-7 พันนาย โอบล้อมผู้ชุมนุมแถวถนนราชดำเนินไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เสียงกระสุนดังขึ้นแทบไม่หยุด แต่ประชาชนก็ยังคงชุมนุมต่อไปจนเกิดความสูญเสียอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยคน และถูกจับกุมกว่าพันคน หนึ่งในนั้นคือ พล.ต. จำลอง ขณะที่รัฐบาลได้ปฏิเสธข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ยิงประชาชน


          อย่างไรก็ดี วันที่ 19 พฤษภาคม ภาพของการสังหารประชาชนนั้นไม่สามารถถูกปิดกั้น และถูกสื่อรายงานข่าวออกไปเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งกระแสต่อต้านรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนจากแทบทุกภาคส่วน ขณะที่กลุ่มประชาชนที่หนีตายจากการปราบปรามบริเวณถนนราชดำเนินได้มุ่งหน้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง


          จากนั้น วันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา ได้ออกแถลงข่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คน ก่อนจะมีการประกาศเคอร์ฟิว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน จากนั้น เวลา 23.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ. สุจินดา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต. จำลอง และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม ส่วน พล.ต. จำลอง แถลงว่า ขอให้ผู้ที่ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ


          จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาซึ่งการทยอยกลับบ้านของประชาชน และในวันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง และวันต่อมา วันที่ 24 พฤษภาคม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เหตุการณ์สงบลง นับเป็นอันสิ้นสุดเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" และยังคงเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยยังคงจำได้ไม่ลืมเลือน...

















ภาพจาก wikipedia, 4.bp.blogspot.com

ภาพและข้อมูลจาก
sahanetilaw, pirun.ku.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันนี้ในอดีต เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความสูญเสีย และชัยชนะของประชาธิปไตย อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 13:20:00 39,950 อ่าน
TOP