x close

ฟังเหตุผลที่ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต ชี้ชัดไม่สำนึก-ก่อคดีอาญาเพียบ

         ทนายรณรงค์วิเคราะห์ปมศาลตัดสินประหารชีวิตนักโทษในรอบ 9 ปี เผยจำเลยไม่มีความสำนึกผิด อีกทั้งยังก่อคดีอาญาหลายคดี และย้อนคดีโหด ทำไมไม่โดนประหาร
ประหารชีวิตนักโทษ
ภาพจาก BRIGHT TV ช่อง 20

         สำหรับประเด็นการประหารชีวิตนักโทษในรอบ 9 ปี ของประเทศไทยนั้น กระแสในสังคมได้หยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต และกลุ่มคนที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นคือ มีคดีฆาตกรรมที่อำมหิตและรุนแรงที่มีลักษณะคล้ายกัน ทำไมจึงไม่ถูกประหารชีวิต...

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 19 มิถุนายน 2561 รายการทุบประเด็น ช่อง BRIGHT TV ช่อง 20 ได้สอบถามไปยัง นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดัง และวิทยากรด้านกฎหมาย ระบุว่า ขณะนี้ก็มีกระแสดราม่าเหมือนกันว่า หากประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตในรอบ 10 ปี ทางสหประชาติจะระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต แต่กลับมีโทษประหารชีวิตในปีที่ 9

ประหารชีวิตนักโทษ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ภาพจาก mickeykwang/Shutterstock.com

         ทั้งนี้ตนมองว่าคดีนี้มีพฤติการณ์การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และแทงผู้ตายหลายแผล ผู้ตายมีอาการทุกขเวทนาก่อนจะเสียชีวิต ศาลจึงมองว่าคดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมที่อำมหิตกว่าคนทั่วไป จึงลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ซึ่งความแตกต่างของคดีนี้อยู่ที่ จำเลยมีการสู้คดีอ้างว่าไม่ได้ทำ และเป็นแพะ ทางศาลระบุว่าไม่มีการสำนึก ทั้ง ๆ ที่สถานที่เกิดเหตุเป็นสวนสาธารณะ มีพยานเห็นว่าจำเลยเป็นคนแทง แต่จำเลยก็ยังปฏิเสธ นอกจากนี้จำเลยยังมีประวัติก่อคดีอาญามาหลายคดี

         นายรณณรงค์ ระบุว่า ตนเองเคยเจอผู้ต้องขังมาหลายคนที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต บอกกับตนว่า หากต้องจำคุกตลอดชีวิต ยอมตายเสียดีกว่า แต่ในทางกฎหมายบอกว่าแม้ไม่ขออภัยโทษ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีสิทธิ์ขออภัยโทษแทนได้

         ส่วนอายุของจำเลย ณ ขณะที่ก่อเหตุนั้น อายุ 19 ปี โดยในทางกฎหมายนั้นคุ้มครองเด็กอยู่ที่อายุไม่เกิน 18 ปี หากต่ำกว่า 18 ปี จะไม่ถูกลงโทษประหารชีวิต เยาวชน ถึงแม้ว่าจะอายุเกิน 18 ปี มา 1 วัน ก็พ้นคำว่าเยาวชนแล้ว

ประหารชีวิตนักโทษ
ภาพจาก BRIGHT TV ช่อง 20

         อย่างไรก็ดี ทางเว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เผยแพร่ฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิต จำนวน 55 ฐานความผิด ซึ่งมีทั้งบทลงโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การปลงพระชนม์-ประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ, ฆ่าข่มขืน, ความผิดของเจ้าพนักงานของรัฐ, ฆ่าชิงทรัพย์, เรียกค่าไถ่ เป็นต้น

         รวมทั้งบทลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายอาญาทหาร เช่น การที่ทหารยอมแพ้แก่ศัตรูทั้งที่ยังสามารถต่อสู้ได้, ทหารได้ทำการมั่วสุม ณ สถานที่ใด ๆ กันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ใช้กำลังทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้าย หรือกระทำการใด ๆ ขึ้น ให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งได้กระทำต่อหน้าศัตรู และปรากฏว่ามีทหารตั้งแต่คนหนึ่งขึ้นไปมีอาวุธ เป็นต้น

ประหารชีวิตนักโทษ
ภาพจาก BRIGHT TV ช่อง 20

         นอกจากนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายอื่น อันได้แก่
         - พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
         - พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
         - พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

         สำหรับฐานความผิดทั้งหมดนั้นสามารถอ่านต่อได้ที่ เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

         อย่างไรก็ดีสังคมก็ยังกังขาอยู่ว่า ทำไมคดีโหดที่ใกล้เคียงกัน มีการกระทำที่โหดเหี้ยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทำไมคนร้ายจึงไม่ถูกประหารชีวิต ดังเช่นคดีดังมากมาย อาทิ


ประหารชีวิตนักโทษ

- คดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ 

         คดีที่ น.ส.วริศรา หรือ แอ๋ม กลิ่นจุ้ย อายุ 22 ปี ถูกฆ่าหั่นศพ และนำไปฝังดินทิ้งไว้เพื่ออำพรางคดี ผู้ต้องหาในคดีนี้อันได้แก่ นางสาวปรียานุช โนนวังชัย หรือ  เปรี้ยว, นางสาวกวิตา ราชดา หรือ เอิร์น และนางสาวอภิวันท์ สัตยบัณฑิต หรือ แจ้ พ้นโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ โดยศาลระบุว่า ไม่ใช่การฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นการฆ่าโดยเจตนา และถูกจำคุกคนละกว่า 30 ปี


ประหารชีวิตนักโทษ

- คดีฆ่าปาดคอมะปิน บัณฑิต มศว 

         คดีฆ่าชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือไอโฟน 7 หลังมีภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนร้ายที่ลงมือกระหน่ำแทง นายวศิน เหลืองแจ่ม อายุ 26 ปี บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของธุรกิจเว็บไซต์จนเสียชีวิตนั้น ศาลอาญาได้ตัดสินประหารชีวิต นายกิตติกร หรือตั้ม วิกาหะ และนายสุพัฒน์ชัย หรือเอ็กซ์ จันทร์ศรี แต่สุดท้ายลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตลอด


ประหารชีวิตนักโทษ

- คดีฆ่าข่มขืนน้องแก้มบนรถไฟตู้นอน ก่อนโยนร่างทิ้ง  

         โดย นายวันชัย แสงขาว หรือ เกม เป็นจำเลยในคดีฆ่าข่มขืนน้องแก้ม ด.ญ.วัย 13 ปี บนรถไฟตู้นอนก่อนโยนร่างทิ้งลงป่าละเมาะข้างทางที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดสินประหารชีวิต ก่อนยื่นอุทธรณ์ โดยศาลระบุว่า แม้จำเลยจะรับสารภาพ แต่ก็เป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงต้องลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว

         อย่างไรก็ตาม นายวันชัย หรือ เกม ไม่ยื่นฎีกา แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 247 กำหนดว่า คดีที่จำเลยต้องโทษประหารชีวิต ห้ามไม่ให้บังคับคดีตามคำพิพากษา จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอภัยโทษ ดังนั้นในระหว่างนี้จะต้องรอขั้นตอนการขออภัยโทษของจำเลย หากจำเลยไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินการบังคับคดี โดยลงโทษประหารชีวิตจำเลยตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุด แต่หากจำเลยได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ก็บังคับคดีไปตามผลสุดท้ายที่ได้รับอภัยโทษเท่าใดก็รับโทษตามนั้น

         สำหรับกรณีของ วันชัย แสงขาว ยังคงต้องจับตามองต่อไปว่า จำเลยจะถูกประหารชีวิตหรือไม่...



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
รายการทุบประเด็น BRIGHT TV ช่อง 20, เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฟังเหตุผลที่ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต ชี้ชัดไม่สำนึก-ก่อคดีอาญาเพียบ อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2561 เวลา 23:13:20 72,796 อ่าน
TOP