x close

นักดำน้ำที่นำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ เปิดใจเล่าเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในวันสุดท้าย

 
           นักดำน้ำในถ้ำ 2 คนที่นำตัวหมูป่าออกจากถ้ำหลวง เปิดใจครั้งแรก ถึงปฏิบัติการสุดอันตราย กับเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดในปฏิบัติการวันสุดท้าย
นักดำน้ำที่นำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ
เจสัน มัลลินสัน (กลาง) กับ จอห์น โวลันเธน (ขวา)
ภาพจาก Thai Smile Airways

            "เราจะนำพวกเขาออกมา แต่ก็มีโอกาสที่บางคนจะไม่รอด"

            นี่คือคำเตือนที่ เจสัน มัลลินสัน วัย 50 ปี และ คริส จีเวลล์ วัย 35 ปี คู่หูนักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ ได้รับทราบก่อนที่พวกเขาจะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อสมทบทีมนักดำน้ำในปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำ ซึ่งขึ้นชื่อว่ายากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

            อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณประสบการณ์ของพวกเขา การวางแผนอันรัดกุม และความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายจากนานาประเทศ ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายที่สุดหรือความสูญเสียที่พวกเขาหวาดหวั่น ไม่ได้เกิดขึ้น และยังสามารถนำตัว 13 ชีวิตทีมหมูป่าฯ รวมถึงหน่วยซีลที่อยู่กับพวกเขา ออกมาจากถ้ำหลวง ได้อย่างปลอดภัย

            หลังจากภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ เจสัน มัลลินสัน กับ คริส จีเวลล์ จะออกมาเปิดใจเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงช่วงนาทีวิกฤตเป็นครั้งแรก ผ่านทางรายงานของเว็บไซต์เดลี่เมล เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561

            สำหรับ มัลลินสัน เขาเป็นหนึ่งในนักดำน้ำที่มีประสบการณ์เกือบ 30 ปี และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยในถ้ำจากสภาผู้กู้ภัยในถ้ำแห่งสหราชอาณาจักร เขากับ จีเวลล์ ถูกขอให้เดินทางมาที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อสมทบกับ ริค สแตนตัน และ จอห์น โวลันเธน ที่เจอตัวทั้ง 13 คนอยู่บริเวณเนินนมสาว ของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

            ภารกิจของพวกเขาหลังเดินทางมาถึงไทยในวันที่ 6 กรกฎาคม คือการทำความคุ้นเคยกับจุดอันตรายในถ้ำที่มีน้ำท่วมขังยาวเป็นกิโลเมตร มันเป็นช่องแคบ ๆ ที่ยากจะให้เด็ก ๆ หนีออกมา นอกจากนี้พวกเขายังต้องทดสอบคุณภาพของออกซิเจนในจุดที่ทั้ง 13 คนและหน่วยซีลอยู่ด้วยกัน ซึ่งทันทีที่มัลลินสันเข้าไปถึง เขาก็รู้ได้ทันทีว่าคุณภาพอากาศนั้นแย่มาก

            นอกจากนี้มัลลินสันที่นำสมุดโน้ตเข้าไปด้วย ยังคิดว่าการที่ให้เด็กเขียนข้อความสั้น ๆ ส่งมาถึงครอบครัว จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นสปิริตของเด็ก ๆ และให้กำลังใจครอบครัวที่รออยู่ด้านนอกได้ ซึ่งหลังจากจัดการเรื่องนี้ตลอดจนตรวจเช็กสภาพอากาศในถ้ำ วิเคราะห์ระดับออกซิเจนในเลือดของแต่ละคนแล้ว ก็ถึงเวลาที่มัลลินสันกับจีเวลล์จะดำน้ำกลับออกมา ซึ่งมัลลินสันยอมรับว่า เขาไม่อาจเลี่ยงความคิดว่า "มันอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนได้เห็นหน้าเด็ก"

            มัลลินสัน เผยว่า เขากับจีเวลล์แลกเปลี่ยนความคิดกัน และลงความเห็นว่ามันเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะนำเด็กออกมาจากที่นั่นได้ เขาไม่คิดเลยว่าคนเหล่านี้จะรอดชีวิตจากฤดูฝนได้ หากถูกทิ้งไว้ในถ้ำถึง 4 เดือน ตามที่หวังกันไว้ก่อนหน้านี้


คริส จีเวลล์
ภาพจาก Chris Jewell
 
            หลังผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ มันก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับแผนกันใหม่ จากเดิมที่ทางไทยหวังว่าจะให้ทั้ง 13 คนและซีล อยู่ในถ้ำได้จนกว่าจะพ้นช่วงมรสุมในเดือนตุลาคม มันก็มาถึงจุดที่พวกเขาจะต้องนำเด็กออกมาจากถ้ำให้ได้ แม้จะต้องจ่ายด้วยชีวิตก็ตาม เพราะการดำน้ำออกมาเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่

            มัลลินสันยังเผยว่า เพื่อที่จะเริ่มปฏิบัติการซึ่งต้องแข่งกับเวลาที่ใกล้จะหมดลงทุกที พวกเขาต้องมาช่วยกันวางแผน จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เปลี่ยนถังออกซิเจนให้เรียบร้อย เขากับจีเวลล์ พร้อมด้วยนักดำน้ำอีก 2 คน ต้องเข้าไปช่วยเด็ก ๆ เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะดำน้ำ ต้องจับจังหวะการหายใจของแต่ละคนให้ได้ นอกจากนี้พวกเขายังได้ลองนำหน้ากากฟูลเฟซมาสก์ ออกมาทดลองใช้กับเด็กคนอื่น และทำการซักซ้อมปฏิบัติการกันที่สระว่ายน้ำด้านนอกถ้ำ

            จนเมื่อปฏิบัติการเริ่มขึ้น นักดำน้ำต้องเข้ามาช่วยเด็ก ๆ ใส่เวทสูท เช็กให้มั่นใจว่าหน้ากากมีซีลกันน้ำอยู่รอบใบหน้า ก่อนที่จะค่อย ๆ ลำเลียงพวกเขาออกมาแบบ 1 ต่อ 1 ท่ามกลางความมืดมิดของน้ำที่ขุ่นมัว จนมองไม่เห็นแม้แต่มือตัวเอง ซึ่งระหว่างนั้นบางครั้งพวกเขาให้เด็กอยู่ในท่านอนคว่ำ ค่อย ๆ ผลักเด็กไปด้านหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ บางจุดให้เด็กอยู่ด้านล่าง โดยที่พวกเขาคอยจับสายรัดที่อยู่ด้านหลัง นักดำน้ำต้องค่อย ๆ ดึงตัวเด็กมาพร้อมกับใช้อีกมือถือถังอากาศของเด็ก

            นักดำน้ำต้องจับสายนำทางตลอดเวลา เพื่อไม่ให้พวกเขากับเด็ก ๆ หลงทางอยู่ใต้น้ำ พวกเขาค่อย ๆ นำเด็กดำน้ำออกไปจนถึงจุดหนึ่ง เพื่อส่งต่อให้ทีมงานคนอื่น ๆ รับช่วงพาเด็กออกไปต่อกันเป็นทอด ๆ มันเป็นภารกิจที่กดดันด้วยความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือชีวิตคนที่พวกเขาต้องช่วย

            มัลลินสันยังเผยอีกว่า ปกติแล้วคนที่ดำน้ำในสถานการณ์เช่นนี้จะต้องสวมถุงมือนีโอพรีนเพื่อป้องกันมือของตัวเอง แต่เพื่อให้พวกเขาคลำทางถูกและปกป้องเด็ก ๆ จากหินงอก หินย้อย ทั้งเขาและจีเวลล์เลือกที่จะถอดถุงมือออก ซึ่งนั่นทำให้มือและโคนนิ้วของจีเวลล์มีรอยบอบช้ำหนักมาก

            อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้หน้ากากของเด็ก ๆ ไปกระแทกกับผนังถ้ำจนแตก ในบางจุดที่มองไม่เห็นอะไรพวกเขาต้องนำหน้าของตัวเองมาอยู่ใกล้หน้าเด็ก เพื่อที่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หน้ากากของพวกเขาจะได้กระแทกโดนผนังถ้ำก่อนเด็ก ๆ

            แต่แม้จะระมัดระวังกันขนาดไหน เหตุผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ ในปฏิบัติการวันสุดท้าย ขณะที่จีเวลล์นำตัวหมูป่าคนหนึ่งออกไปจากโถง 4 มุ่งสู่โถง 3 เขาได้พลาดทำมือหลุดจากสายนำทาง ท่ามกลางทัศนวิสัยเป็นศูนย์ มันเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่ดำเนินไป 4 นาทีเต็ม เขากวาดมือไปรอบ ๆ เพื่อจะหาสายนำทาง กระทั่งในที่สุดเขาก็คว้าเอาสายไฟ ที่นำทางเขาย้อนกลับไปสู่โถง 4 อีกครั้ง

นักดำน้ำที่นำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ
คริส จีเวลล์ (คนที่ 2 จากขวา)
ภาพจาก Chris Jewell

            จีเวลล์ที่รู้ตัวว่ากลับมาถึงโถง 4 แล้ว ได้พยายามปลอบเด็ก และหยุดรอมัลลินสัน ซึ่งนำหมูป่าคนหนึ่งออกไปแล้วกำลังย้อนมารับตัวหมูป่าคนสุดท้าย กระทั่งในที่สุดพวกเขาก็พาตัวหมูป่าทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัย

            ทั้งนี้แม้ว่ามัลลินสันและจีเวลล์จะพยายามไม่ตั้งความหวังอะไรจนเกินไป พยายามนึกถึงสถานการณ์เลวร้ายไว้เสมอ แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าในปฏิบัติการรอบสุดท้าย มันทำให้พวกเขาคิดขึ้นมาได้จริง ๆ ว่า "เราทำได้แล้ว !"

            มัลลินสันยังได้เผยถึงอีกหนึ่งความประทับใจของเขาในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยว่า เด็ก ๆ นั้นกล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ เขาไม่เห็นสัญญาณการแตกตื่นของพวกเขาเลยสักคน แม้การดำน้ำนั้นอาจจะทำให้จิตใจไม่สงบนิ่งก็ตาม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักดำน้ำที่นำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ เปิดใจเล่าเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในวันสุดท้าย อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 16:12:15 82,564 อ่าน
TOP