x close

แจงปม ตร. หยิบผลไม้ของกลางกิน ยันจ่ายเงินแล้ว - เปิดกฎหมาย ของกลางกินได้ไหม ?


          ผู้กำกับการ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แจงปมตำรวจหยิบผลไม้จากรถเข็นกิน ยันตำรวจไม่ได้กินฟรี เหมาซื้อแล้ว 500 บาท แต่น้องสาวผู้ต้องหาเข้าใจผิด พร้อมเปิดข้อกฎหมายของกลางสามารถกินได้หรือไม่
          จากกรณีที่โลกโซเชียลแห่วิจารณ์ตำรวจนายหนึ่ง ที่หยิบผลไม้จากรถเข็นขายผลไม้ โดยที่ไม่ขอเจ้าของ ซึ่งนายตำรวจอ้างว่าเจ้าของกำลังเสียค่าปรับบนโรงพัก และผลไม้ก็ถือเป็นของกลางด้วยนั้น (อ่านข่าว : แบบนี้ก็ได้เหรอ ? ตร. แอบหยิบผลไม้กิน อ้างเป็นของกลางเพราะเจ้าของถูกจับ)

          ล่าสุด (22 กันยายน 2561) ข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า พ.ต.อ. ปัณณพัฒน์ เดชโชติพิสิฐ ผู้กำกับการ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี ระบุว่า เจ้าหน้าที่จัดหางาน จ.ปทุมธานี ได้จับกุม น.ส.รัตติกาล แก้วลอย พร้อมสามี ซึ่งเป็นชาวต่างด้าว บริเวณริมถนนหน้าบริษัท โฮยา จำกัด ในข้อหาคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือสิทธิ และให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือสิทธิ พร้อมด้วยของกลางคือ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างขายผลไม้ และผลไม้จำนวนหนึ่งเป็นของกลาง

          ทั้งนี้ ผลไม้ที่เป็นของกลางอาจเน่าเสียได้ และ น.ส.รัตติกาล ผู้ต้องหาและเป็นเจ้าของ อยู่ในระหว่างยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยเจ้าตัวหวังว่าหากได้รับการปล่อยตัวแล้ว จะประมูลนำผลไม้ไปขายต่อ เพื่อหากำไรเลี้ยงครอบครัว ระหว่างนั้นมีตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้ติดต่อขอซื้อผลไม้ทั้งหมดจากผู้ต้องหา เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลามืดค่ำไปเร่ขาย จากนั้นก็ได้นำผลไม้ไปแจกจ่ายให้ข้าราชการตำรวจรับประทานกัน ซึ่งเป็นจังหวะที่น้องสาวผู้ต้องหาเดินมาเห็นตำรวจกำลังเปิดตู้ผลไม้และถ่ายคลิปวีดีโอไว้ ซึ่งทั้งหมดเป็นการเข้าใจผิด

 ตร.หยิบผลไม้ของกลางกิน

          นอกจากนี้ รายงานข่าวได้สอบถามไปยัง ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม อธิบายกรณีดังกล่าว ดังนี้

          1. ของกลางต้องไปเก็บไว้ที่โรงพักและต้องไม่ให้ใครเอาไปใช้สอยประโยชน์ ถ้าเป็นรถ ก็ต้องเอาไปจอดไว้ ถ้าเป็นของเน่าเสียง่าย ก็ต้องหาวิธีการเก็บรักษา แต่เอาไปกินไม่ได้ ถือว่าเป็นการเอาไปใช้โดยไม่ชอบ ถ้ายึดเป็นของกลางต้องทำบันทึกการจับกุม บันทึกการตรวจของกลางว่ามีอะไรบ้าง

          2. หากอีกฝ่ายต้องการเอาผิดกับตำรวจ ทนายรณณรงค์ เผยว่า จะเป็นโทษทางวินัย เรื่องการเก็บของกลางแล้วเอาไปกิน เพราะของกลางที่ยึดได้ต้องทำลายทิ้ง หรือส่งคืนเจ้าของ และถ้าเขาไม่ผิดก็ต้องคืน แต่ถ้าผิดจริง ก็ยึดเข้าหลวงไม่ใช่เอาไปกินเอง

          อ้างอิงจาก ระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับของกลางคดีอาญา-จราจร การปฏิบัติเกี่ยวกับ “ของกลาง” (12) ของกลางรายใด เห็นว่า จะเก็บรักษาไว้อาจเน่าเปื่อยเสียหายได้ก่อนที่คดีจะส่งฟ้องศาล จะจำหน่ายหรือป้องกันมิให้เน่าเปื่อย ก็ให้จัดการไปตามสมควร เช่น เนื้อโค กระบือ สุกร จะขายเอาเงินเก็บรักษาไว้ก็ได้ ถ้าของกลางรายใดมีการเถียงกรรมสิทธิ์ หรือเป็นพยานหลักฐานสำคัญประกอบคดี ถ้าจะกระทำไปก็จะเกิดการคัดค้านได้ในภายหลัง ก็ให้ระงับไม่ต้องขาย หรือจัดการดังกล่าวมาข้างต้นนั้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ข่าวเวิร์คพอยท์
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แจงปม ตร. หยิบผลไม้ของกลางกิน ยันจ่ายเงินแล้ว - เปิดกฎหมาย ของกลางกินได้ไหม ? อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2561 เวลา 11:52:04 8,413 อ่าน
TOP