x close

รู้ให้ชัด ! ความแตกต่างของรัฐวิสาหกิจ กับ องค์การมหาชน ที่หลายคนอาจเคยสงสัย

          เราคงพอทราบกันมาบ้างว่า "รัฐวิสาหกิจ" กับ "องค์การมหาชน" ต่างก็เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของภาครัฐ แต่หลายคนอาจจะยังสับสนว่า แล้วทั้งสองหน่วยงานนี้มีภารกิจต่างกันตรงส่วนไหน และจริง ๆ แล้ว ทั้ง "รัฐวิสาหกิจ" และ "องค์การมหาชน" มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร หากใครยังสงสัย กระปุกดอทคอม ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกันให้ชัด ๆ ที่นี่เลยค่ะ
รัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจ คืออะไร ใครเป็นเจ้าของ

          "รัฐวิสาหกิจ" (Public Enterprise) ก็คือ หน่วยงานหรือกิจการที่รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งการที่รัฐบาลเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจนั้น ตามกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นไปได้ในหลายลักษณะ สามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ

          - เป็นองค์การที่รัฐเป็นเจ้าของ
          - เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
          - เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ส่วนราชการ หรือองค์การ หรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด

          ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ อาจเปรียบเทียบได้กับบริษัทของภาคเอกชน ที่ผลิตสินค้าและให้บริการประชาชน ซึ่งประชาชนก็จะต้องจ่ายค่าบริการเพื่อรับบริการนั้นในอัตราที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาคเอกชน โดยรายได้และผลกำไรที่รัฐวิสาหกิจได้รับก็จะถูกนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศ สร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

รัฐวิสาหกิจ กับบทบาทหน้าที่สำคัญต่อประเทศไทย

          รัฐวิสาหกิจ จะอยู่ในความดูแลของกระทรวงต้นสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจจะมีจุดประสงค์หลักและบทบาทหน้าที่สำคัญอยู่ 7 ข้อ คือ

          1. เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ

          ในกรณีที่สังคมต้องการบริการใหม่ ๆ แต่ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อม หรือภาคเอกชนดำเนินการแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ รัฐอาจตั้งรัฐวิสาหกิจเข้ามาดำเนินกิจการนั้น ๆ เอง หรืออาจเข้ามาถือหุ้นในภาคเอกชน เกินร้อยละ 50

          2. เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เอกชนในการดำเนินธุรกิจ

          กรณีที่ภาคเอกชนอาจไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในการดำเนินกิจการบางประเภท จึงไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มั่นใจว่าจะดำเนินธุรกิจได้คุ้มทุนหรือมีผลกำไรหรือไม่ รัฐอาจจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเป็นผู้เริ่มดำเนินการเป็นแบบอย่างก่อน และเมื่อรัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการมาจนประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ

          3. เพื่อความมั่นคงของประเทศ

          เพื่อป้องกันการผูกขาดสินค้าและบริการที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา รถไฟ รัฐจึงต้องเข้ามาดำเนินการเอง เพื่อไม่ให้ภาคเอกชนผูกขาดบริการนั้น นำไปสู่การเรียกเก็บค่าตอบแทนตามใจตัวเองเพื่อหวังผลกำไรมาก ๆ จนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับประเทศ

          4. เพื่อส่งเสริมสังคมและวัฒนธรรม

          กิจการสาธารณประโยชน์ในเชิงสังคมและวัฒนธรรมบางประเภทใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย จึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจของภาคเอกชนมากนัก รัฐจึงเข้ามาดำเนินกิจการนั้นเอง เพื่อส่งเสริมกิจการด้านสังคม ส่งเสริมสุขภาพพลานามัยให้ประชาชน รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อย่างเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ การกีฬาแห่งประเทศไทย ฯลฯ

          5. เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ

          โดยเฉพาะกิจการด้านสาธารณูปโภคที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับบริการอย่างทั่วถึง อย่างเช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่ง โทรศัพท์ แต่ทว่ากิจการสาธารณูปโภคมักใช้เงินลงทุนสูง และต้องใช้พนักงานจำนวนมาก แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มทุนและใช้เวลานาน เอกชนจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ รัฐจึงต้องดำเนินการเองเพื่อให้สาธารณชนได้รับความสะดวก โดยเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่ต่ำเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

          6. เพื่อประโยชน์ในด้านการคลังและเสริมรายได้ให้แก่รัฐ

          รัฐวิสาหกิจถือเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ และดำเนินธุรกิจโดยมีกำไรเป็นผลตอบแทน จึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ และรายได้นี้ก็นับเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศไทยด้วย โดยทุกปีรัฐวิสาหกิจจะนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้มากถึง 64,560 ล้านบาท โดยอันดับ 1 เป็นรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามมาด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)

          7. เพื่อควบคุมสินค้าอันตราย

          สินค้าบางชนิด เช่น สุรา ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล และไพ่ เป็นสิ่งเสพติดและอบายมุขที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้ และเนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมแบบเสรี รัฐไม่สามารถห้ามประชาชนบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้ แต่ก็ไม่อาจปล่อยให้เอกชนดำเนินการได้เอง เพราะอาจส่งผลเสียต่อสังคมมากยิ่งขึ้น รัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมดูแลกิจการเหล่านี้เองแต่เพียงผู้เดียว

รัฐวิสาหกิจ

ประเภทของรัฐวิสาหกิจ แบ่งเป็นแบบไหนได้บ้าง

          อาจแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดมาพิจารณา เช่น

          แบ่งตามประเภทกฎหมายที่จัดตั้ง มี 5 รูปแบบ คือ

          - จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การประปาส่วนภูมิภาค, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม, ธนาคารออมสิน 

          - จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา/กฎหมายจัดตั้งที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 เช่น องค์การสวนสัตว์, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, สถาบันการบินพลเรือน, องค์การตลาด, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

          - จัดตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิวัติรัฐวิสาหกิจและองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิวัติ คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ

          - จัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐวิสาหกิจและองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นกิจการที่มิได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะและมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน การจัดตั้งนั้นรัฐบาลอาจกำหนดเงินทุนไว้จำนวนหนึ่งเพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ โดยอาจนำผลกำไรที่ได้บางส่วนสมทบทุนดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องส่งคลัง หรืออาจเป็นเพียงตั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนโดยความตกลงระหว่างกระทรวงผู้กำกับและกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 คือ โรงงานไพ่, องค์การสุรา, โรงงานยาสูบ, โรงพิมพ์ตำรวจ, สำนักงานธนานุเคราะห์

          - บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด รัฐวิสาหกิจในประเภทนี้มี 2 ลักษณะ คือ จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยรัฐถือหุ้นทั้งสิ้น และจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยรัฐถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งจัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เช่น ปตท., ท่าอากาศยานไทย, การบินไทย, ทีโอที, กสท, ไปรษณีย์ไทย, อสมท, ธนาคารกรุงไทย


          แบ่งตามสถานะการเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นนิติบุคคล

         * รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล คือ องค์การและหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น มีฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีการดำเนินงานที่แยกออกจากผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการโดยเฉพาะ มีทุนจดทะเบียน มีหุ้น มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

          1. กิจการธุรกิจที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย, การท่าเรือแห่งประเทศไทย

          2. กิจการธุรกิจที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนสัตว์ องค์การสะพานปลา องค์การเภสัชกรรม

          3. กิจการธนาคาร ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย

          4. บริษัทจำกัด ซึ่งมีทั้งกรณีที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด หรือเข้าไปถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท การบินไทย จำกัด, บริษัท ขนส่ง จำกัด

         * รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นนิติบุคคล คือกิจการที่รัฐจัดตั้งขึ้นโดยลงทุนเองทั้งหมด ขึ้นตรงกับหน่วยงานราชการที่เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น องค์การเหมืองแร่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ เป็นต้น


รัฐวิสาหกิจผูกขาดคืออะไร
   
         หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้ ซึ่งก็คือการที่รัฐจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาควบคุมดูแลสินค้าและบริการด้านนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว ไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอันตราย เช่น โรงงานยาสูบ องค์การสุรา โรงงานไพ่ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง

          นอกจากนี้ยังมีธุรกิจด้านสาธารณูปโภคที่รัฐมักดำเนินการเพียงรายเดียว เพื่อควบคุมราคาการให้บริการไม่ให้สูงเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง

การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ มีข้อดีอย่างไรบ้าง

         การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาควบคุมดูแลกิจการด้านต่าง ๆ มีข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือ รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงราคาค่าธรรมเนียมและบริการบางประเภทได้ จึงช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา การขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การที่รัฐมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจก็สามารถนำไปพัฒนาประเทศ และสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจของชาติได้
   
         อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจอาจมีข้อบกพร่องตรงที่มีระเบียบปฏิบัติไม่ต่างจากส่วนราชการ ดังนั้นการทำงานบางครั้งจึงอาจล่าช้า และไม่คล่องตัวนัก

         เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของ "รัฐวิสาหกิจ" กันชัดเจนแล้ว คราวนี้มารู้จัก "องค์การมหาชน" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรของรัฐกันบ้างค่ะ

องค์การมหาชน

องค์การมหาชน คืออะไร ทำความเข้าใจให้ชัด

         เนื่องจากหน่วยงานราชการรูปแบบเดิมที่ประกอบด้วยส่วนราชการ (กระทรวง ทบวง กรม) และรัฐวิสาหกิจ มีข้อจำกัดของตัวระบบ ทำให้เกิดความล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ และไม่สามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมสาธารณะรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ องค์การมหาชน (Public Organization) จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาระบบราชการ โดยจัดตั้งขึ้นมาตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เพื่อให้บริการสาธารณะที่เป็นนโยบายเฉพาะด้าน

         นั่นก็หมายความว่า องค์การมหาชนถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำภารกิจใดภารกิจหนึ่งอย่างชัดเจน โดยอาจเป็นการดำเนินกิจกรรมในส่วนที่ภาครัฐเห็นว่าจำเป็นต้องมี แต่ไม่สามารถบริหารในรูปแบบส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือให้ภาคเอกชนดำเนินการได้ จึงต้องตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ และรัฐก็จัดสรรงบประมาณให้ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วองค์การมหาชนจะแตกแยกย่อยมาจากกรม กอง ในกระทรวงต่าง ๆ ดังนั้น ทุกหน่วยงานในองค์การมหาชนจะอยู่ภายใต้กระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบนั่นเอง

ภารกิจสำคัญขององค์การมหาชน

         บทบาทหน้าที่ที่สำคัญขององค์การมหาชนก็คือ การให้บริการสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ จุดสำคัญก็คือ ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่จะหารายได้จากการดำเนินงานบริการสาธารณะนั้น ๆ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและบุคลากรให้คุ้มค่าและมีประสิทธิผลสูงสุด เพื่อจัดการในเรื่องเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

         ทั้งนี้ ประเภทของบริการสาธารณะที่องค์การมหาชนสามารถจัดทำได้ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

         - การรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
         - การศึกษาอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ
         - การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
         - การพัฒนาและส่งเสริมการกีฬา
         - การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย การถ่ายทอดและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
         - การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
         - การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
         - การสังคมสงเคราะห์
         - การอำนวยบริการแก่ประชาชน
         - การดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์อื่น

องค์การมหาชน จัดตั้งอย่างไร

          การจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาสักแห่ง จะต้องพิจารณาจาก 3 ข้อ คือ

          - เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ

          - แผนงานการจัดทำบริการสาธารณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

          - การจัดตั้งหน่วยบริหารขึ้นใหม่นั้นมีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

          อย่างไรก็ตาม รัฐมีสิทธิ์ยุบเลิกองค์การมหาชนในกรณีที่องค์การมหาชนตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะกิจเสร็จสิ้นแล้ว หรือตั้งขึ้นโดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

องค์การมหาชน

องค์การมหาชน แบ่งออกเป็นกี่ประเภท
    
          องค์การมหาชนมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคล แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้กฎหมายจัดตั้ง คือ

          - องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA), โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) 

          - องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คุรุสภา, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

โครงสร้างการบริหารงานองค์การมหาชน

          องค์การมหาชนจะอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการ ซึ่งจะรับผิดชอบรายงานต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการ ดังนั้นลักษณะโครงสร้างการบริหารจะประกอบด้วย

          คณะรัฐมนตรี : มีหน้าที่พิจารณาจัดตั้ง หรือยุบเลิกองค์การมหาชน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ กำหนดหลักการบริหาร ระเบียบแบบแผน วินิจฉัยชี้ขาด

          รัฐมนตรีผู้รักษาการ : เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแลองค์การมหาชนให้ดำเนินการบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์การมหาชน จึงมีหน้าที่เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการ กำกับดูแลการสรรหาผู้อำนวยการองค์การมหาชน กำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานและเป้าหมายโดยรวม กำหนดอัตราเงินเดือน-เบี้ยประชุม

          คณะกรรมการองค์การมหาชน : มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลองค์การมหาชนให้ดำเนินกิจการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ด้วยการกำหนดนโยบายการบริหารงาน อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงิน ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้

          ผู้อำนวยการองค์การมหาชน : อยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ในองค์การมหาชนทุกตำแหน่ง และยังถือเป็นผู้แทนขององค์การมหาชนในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก มีหน้าที่บริหารกิจการขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ ระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการ ทั้งนี้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการได้

          บุคลากรขององค์การมหาชน : ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานประจำ (เจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชน) และผู้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะชั่วคราว (ลูกจ้างขององค์การมหาชน) รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มาปฏิบัติงานในองค์การมหาชนเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้จะถือว่าบุคลากรขององค์การมหาชนมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ไม่ใช่ข้าราชการ

องค์การมหาชน

การจัดตั้งองค์การมหาชน ส่งผลดีอย่างไร

          จุดเด่นขององค์การมหาชนคือ สามารถดำเนินงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวกว่าส่วนราชการอื่น ๆ เนื่องจากมีรูปแบบการบริหารคล้ายกับภาคเอกชน โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งคณะกรรมการมีความเป็นอิสระพอสมควร สามารถกำหนดระเบียบข้อบังคับ การจัดโครงสร้างการดำเนินงาน การจัดการภายในองค์กร ตลอดจนการบริหารงบประมาณได้ โดยมีรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ นั่นจึงทำให้โครงสร้างการบริหารงาน นโยบาย รวมทั้งเงินเดือนและสวัสดิการขององค์การมหาชนจะแตกต่างกันไปตามแต่ละแห่งด้วย
 
องค์การมหาชน VS รัฐวิสาหกิจ แตกต่างกันตรงไหน

          แม้จะเป็นหน่วยงานที่มีภาครัฐเป็นเจ้าของเหมือนกัน แต่การดำเนินงานและบทบาทหน้าที่มีความแตกต่างกันบางประการ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ

          สถานะ

          - รัฐวิสาหกิจ : เป็นองค์การที่รัฐเป็นเจ้าของ หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือเป็นบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (เกินร้อยละ 50) 

          - องค์การมหาชน : มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคล (แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ)

          หน่วยงานที่กำกับดูแล

          - รัฐวิสาหกิจ :   กระทรวงต้นสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
          - องค์การมหาชน : หน่วยงาน หรือกระทรวงที่องค์การมหาชนนั้นสังกัด

          รูปแบบการทำงาน

          - รัฐวิสาหกิจ :  หากเป็นบริษัท หรือนิติบุคคลที่รัฐเข้าไปถือหุ้นใหญ่ รัฐวิสาหกิจกลุ่มนี้จะมีโครงสร้างเช่นเดียวกับภาคธุรกิจเอกชน แต่หากเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเอง จะมีโครงสร้างอย่างหน่วยงานของราชการ คือรับนโยบายและข้อปฏิบัติมาจากส่วนกลาง มีสายบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้นตอน และมีกฎระเบียบมากมาย จึงต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานและพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ 

          - องค์การมหาชน : ลักษณะการบริหารจัดการเหมือนภาคธุรกิจเอกชน คือมีคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารงานของแต่ละองค์กรว่าจะออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมกับกิจกรรมขององค์กร

          ที่สำคัญคือ องค์การมหาชนมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในองค์กรนั้น ๆ จึงมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถตอบสนองภารกิจของรัฐได้รวดเร็วกว่ารัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนจึงเหมาะกับภารกิจที่ต้องการความเร่งด่วน ซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอาจดำเนินการไม่สะดวก แต่องค์การมหาชนก็ยังคงอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบจากรัฐ และขอความเห็นชอบจากรัฐในการจัดทำแผนงบประมาณ

          ภารกิจ

          - รัฐวิสาหกิจ : ดำเนินธุรกิจแทนรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงมุ่งแสวงหารายได้และผลกำไรเป็นหลัก ซึ่งรัฐวิสาหกิจถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐจะนำเงินที่ได้กลับมาใช้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ

          - องค์การมหาชน : เป็นหน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่งตามที่รัฐมอบหมายเท่านั้น ซึ่งจะเน้นเรื่องการศึกษา วิจัย การฝึกอบรม การอนุรักษ์ การพัฒนาและส่งเสริมด้านต่าง ๆ ที่ต้องมีประสิทธิภาพในการจัดการสูง และข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ องค์การมหาชนไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไรเหมือนรัฐวิสาหกิจ แต่จะเน้นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อตอบสนองงานสาธารณะต่าง ๆ

          คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า "รัฐวิสาหกิจ" และ "องค์การมหาชน" มีภารกิจที่แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย ก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อันนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติสืบต่อไป


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, กองกิจการองค์การมหาชน, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย, คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, thaipawiki.com, Thaieditorial.com      
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ให้ชัด ! ความแตกต่างของรัฐวิสาหกิจ กับ องค์การมหาชน ที่หลายคนอาจเคยสงสัย อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2561 เวลา 17:36:32 89,590 อ่าน
TOP