x close

เพจกฎหมายชี้ โพสต์-แชร์เพลง ประเทศกูมี อาจไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

        เพจกฎหมายชี้ โพสต์-แชร์ "ประเทศกูมี" อาจไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ เพราะไม่ใช่ข้อมูลเท็จ จะผิด พ.ร.บ.คอมฯ ได้ต้องครบองค์ประกอบความผิดทุกข้อก่อน

พรรคอนาคตใหม่
ภาพจาก Rap Against Dictatorship

        นับว่ายังคงเป็นกระแสร้อนแรง สำหรับเพลง "ประเทศกูมี" ของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ปอท. ระบุว่า ผู้ที่โพสต์หรือแชร์เพลงนี้ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เนื่องจากเพลงประเทศกูมี เข้าข่ายการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน [อ่านข่าว : ปอท. ชี้ ใครโพสต์ต่อ - แชร์เพลง #ประเทศกูมี ส่อผิด พ.ร.บ.คอมฯ - ยังไม่มีการจับกุม คลิก]

        เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2561 เฟซบุ๊ก iLaw ซึ่งเป็นเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ได้ยกข้อมูลคำพิพากษาคดีในลักษณะคล้ายกันมาแสดงตัวอย่าง เพื่อให้พิจารณาว่า การโพสต์ หรือแชร์อย่างไรจะผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย

         โดยองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ประเทศกูมี


ซึ่งผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะต้องดำเนินการครบทุกข้อ ดังนี้

         1) ผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

         2) ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

         3) โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อ / การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ / ความปลอดภัยสาธารณะ / ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ / โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ / หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

         ซึ่งหมายความว่า หากโพสต์สิ่งใดบนโลกออนไลน์โดยไม่ใช่ข้อมูลเท็จ หรือแม้จะเท็จแต่ไม่ถึงขนาดสร้างความเสียหายต่อประเทศได้ ก็อาจจะไม่ต้องรับผิดมาตรา 14 (2)

         ส่วนกรณีคนที่แชร์ที่ตำรวจอ้างว่าจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (5) ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อนั้นรู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่แชร์นั้นเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) (2) (3) หรือ (4) หากไม่ทราบ หรือเชื่อโดยสุจริตใจว่าสิ่งที่แชร์นั้นไม่เป็นความผิด ก็ไม่มีความผิดจากการแชร์ เพราะขาดเจตนา

คำพิพากษา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพจกฎหมายชี้ โพสต์-แชร์เพลง ประเทศกูมี อาจไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ อัปเดตล่าสุด 29 ตุลาคม 2561 เวลา 09:39:45 9,913 อ่าน
TOP