x close

น้อมรำลึก เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ... เชษฐภคินี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ข่าว ข่าวในพระราชสำนัก รายงานหลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของ พระพี่นาง พระพี่นางเธอ สมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ เหล่าพสกนิกรชาวไทย ... อ่าน ข่าว พระพี่นาง ประวัติพระพี่นาง พระพี่นางเธอ สมเด็จพระพี่นาง พระราชประวัติพระพี่นาง พระราชประวัติพระพี่นางเธอ ได้ที่นี่ค่ะ

พระพี่นาง


พระพี่นาง



             ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยได้ประจักษ์แก่ใจกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงปฏิบัติงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วยพระวิริยะอุตสาหะยิ่ง เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ ทำให้ทรงคลายพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัย นอกจากงานอันเป็นพระราชกิจแล้ว พระกรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่ายังปรากฏเป็นอเนกอนันต์ จึงนับได้ว่า ทรงเป็นเจ้าฟ้าองค์สำคัญของราชวงศ์ไทย ที่อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 

             สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงมีพระนามในสูติบัตรเมื่อแรกประสูติว่า เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกทั้งยังทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 

             พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามให้ว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา จากนั้นใน พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และใน พ.ศ.2478 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา ครั้น พ.ศ.2538 ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระพี่นาง


             สืบสานพระราชปณิธาน 

             สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลายวาระ ตลอดจนโดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงประกอบพระกรณียกิจต่างๆในทุกท้องถิ่นอันทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาค ภาพประทับใจที่คุ้นเคยและอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยเรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้คือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังทรงเจริญพระชนม์ชีพ ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ พร้อมกับทรงนำแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วย โดยหลายครั้งจะมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตามเสด็จอยู่เคียงข้าง จนเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงรับช่วงสืบสานพระราชปณิธานเรื่อยมา โดยทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ และก่อตั้งองค์กรใหม่ๆของพระองค์เอง รวม 63 มูลนิธิ ล้วนแต่เป็นพระกรณียกิจที่ทรงใฝ่พระทัยทำนุบำรุงเพื่อความเป็นอยู่อันดีของประชาราษฎร์ 

ประวัติพระพี่นาง


             ด้านการศึกษา 

             เมื่อสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยใน พ.ศ.2493 หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงศึกษาต่อด้านวรรณคดีกับปรัชญาด้วยความสนพระทัย สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่า พระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระ เยาว์ ได้รับสั่งแนะนำให้ ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรง รับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส

             นอกจากนี้ ยังทรงรับเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงเป็นผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ กับหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสจนสำเร็จ ใน พ.ศ.2516 อย่างไรก็ดี เนื่องจากพระภารกิจด้านอื่นๆเพิ่มมากขึ้นตามลำดับในปี พ.ศ.2519 จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

             ต่อมา เมื่อทรงทราบว่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ขาดแคลนอาจารย์ เพราะอยู่ในจังหวัดห่างไกล มีปัญหาด้านความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตาเสด็จสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส โดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี เช่นเดียวกับอาจารย์อื่นๆ

             นอกจากจะพระราชทานพระอนุเคราะห์ แก่สถาบันการศึกษาอย่างสม่ำเสมอแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังทรงงานด้านวิชาการอันมีคุณูปการ ต่อวงการศึกษาของไทยมากมาย อีกทั้งยังทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทย ไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ทั้งคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือเยาวชนไทย จนสามารถนำเหรียญรางวัลกลับมาถวาย สร้างเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน ยังทรงมีพระกรุณารับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์อุปถัมภ์ของสมาคม มูลนิธิกองทุนเกี่ยวกับครู สตรี เด็กอ่อน และโรงเรียนหลายแห่ง พร้อมทั้งพระราชทานเงินทุนสำหรับสร้างโรงเรียน และเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนเสมอมา

พระพี่นาง


             ด้านการอ่านและการเขียน

             ทรงสนพระทัย การอ่านและการเขียนมาแต่ทรงพระเยาว์ แม้ ขณะทรงศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนราชินี ได้ทรงอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าที่จะทรงหาได้ แต่ในเวลานั้นหนังสือสำหรับเด็กยังมีน้อย จึงทรงอ่านหนังสือพิมพ์แทน เมื่อทรงเจริญพระชนมายุก็สนพระทัยหนังสือด้านวรรณคดี, ภาษาศาสตร์, ศิลปวัฒนธรรม, โบราณคดี, ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

             ในด้านการเขียน ขณะพระชนมายุราว 9 พรรษา ได้ทรงชวนพระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่องและออกวารสาร รื่นรมย์ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงสนับสนุนให้ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษ แล้วเรียบเรียงเรื่องที่ทรงอ่าน ภายหลังได้จัดพิมพ์ในชื่อเรื่อง นิทานสำหรับเด็ก แจกในงานวันคล้ายวันประสูติในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความสามารถด้านการนิพนธ์เป็นที่ประจักษ์จากผลงานมากมาย อันประกอบด้วย พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ 11 เรื่อง, พระนิพนธ์แปล 3 เรื่อง, พระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว 10 เรื่อง และพระนิพนธ์บทความเชิงวิชาการ 1 เรื่อง

พระพี่นาง


             ศิลปวัฒนธรรม

             ทรงสนับสนุนศิลปะและการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม โดยโปรดเสด็จเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์, โบราณคดี, พิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยว บ่อยครั้งจะทรงแนะนำเรื่องที่พึงเอาใจใส่ อยู่เนืองๆ อาทิ ทรงแนะนำให้เจ้าหน้าที่เตรียม พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และลักษณะของสถานที่แต่ละแห่งอยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังพอพระทัยที่จะเผื่อแผ่สิ่งที่ทรงรู้เห็นแก่ผู้อื่น ทรงใช้กล้องบันทึกภาพที่ทรงสนพระทัยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงนำภาพฝีพระหัตถ์มาจัดทำ เป็นพระนิพนธ์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ทั้งในรูปของหนังสือ และวีดิทัศน์ ทรงเป็นครูผู้ชี้นำประชาชนให้เห็นความสำคัญของประวัติ-ศาสตร์ไทย และมรดกโลกเสมอมา

พระพี่นาง


             ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

             จากการตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปทรงเยี่ยมเยียนและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกล โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัย ตลอดจนทรงส่งเสริมการพัฒนาการรักษาพยาบาลโรคต่างๆอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากสมเด็จพระ บรมราชชนนีอย่างแน่วแน่ โดยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ของโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงมูลนิธิการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม, มูลนิธิเด็กโรค หัวใจ, มูลนิธิขาเทียม รวมถึงกองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อพัฒนาการพยาบาล และมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

             ตลอดเวลาที่เสด็จปฏิบัติพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงสังเกตความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงสอบถามปัญหา และทรงแนะนำให้รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคภัย ทั้งยังทรงมีพระประสงค์ให้เด็กด้อยโอกาสมีพัฒนาการ ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงตระหนักถึงปัญหาในชุมชนแออัด ได้เสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพฯเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกระตุ้นให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง สนใจดูแลและพัฒนาชุมชนนั้นๆอย่างเป็นรูปธรรม

             สมดังกับที่ทรงเป็น รุ้งงาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงอุทิศพระองค์อย่างมิรู้ เหน็ดเหนื่อยเพื่อปวงประชาราษฎร์





ข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้อมรำลึก เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ... เชษฐภคินี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โพสต์เมื่อ 4 มกราคม 2551 เวลา 00:00:00 16,674 อ่าน
TOP