x close

เปิด 14 ข้อเท็จจริง ฟ้องร้อง แพรวา ตอบคำถาม สรุปแล้วแพรวาต้องจ่ายเท่าไร !

          ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุป 14 ข้อเท็จจริงในคดี แพรวา 9 ศพ ในฐานะทนายยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ศาลตัดสินให้จ่าย 25 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย ไม่จ่ายจะบังคับคดี


แพรวา
ภาพจาก tulawcenter.org

          จากกระแสข่าวทวงความยุติธรรมให้ครอบครัวเหยื่อ แพรวา 9 ศพ เมื่อประมาณ 9 ปีก่อน โดยคดีนี้ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด แต่เวลาล่วงเลยมานานแล้ว ผู้เสียหายทั้งหมดยังไม่ได้รับการจ่ายเงินชดเชยแต่อย่างใด

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะทนายยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ได้สรุป 14 ข้อเท็จจริงในคดี แพรวา 9 ศพ ดังนี้

1. เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร

           เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 นางสาวแพรวา หรือ อรชร (จำเลย) ขับรถยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธารณะ บนทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 14 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าวชนขอบทางยกระดับอย่างแรง ส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

2. ผู้เสียหายมีกี่คน

           มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 คน บาดเจ็บ 5 คน

3. ศูนย์นิติศาสตร์ เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างไร

           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีคำสั่งให้ศูนย์นิติศาสตร์ เข้าช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีดังกล่าว โดยศูนย์นิติศาสตร์ ได้จัดทนายความดำเนินการยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวม 13 คดี และเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญา

4. คดีที่ฟ้องมีกี่คดี โจทก์กี่คน จำเลยกี่คน

           คดีที่ฟ้องมีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง ดังนี้

           คดีอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จำเลย 1 คน คือ นางสาวแพรวา

           คดีแพ่ง โจทก์ 28 คน (13 คดี) จำเลย 7 คน ได้แก่

           จำเลยที่ 1 นางสาวแพรวา

           จำเลยที่ 2 บิดานางสาวแพรวา

           จำเลยที่ 3 มารดานางสาวแพรวา

           จำเลยที่ 4 ผู้ให้ยืมรถ

           จำเลยที่ 5 สามีของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้นำรถไปฝากไว้กับจำเลยที่ 4

           จำเลยที่ 6 เจ้าของรถ

           จำเลยที่ 7 บริษัทประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 6 ทำประกันภัยรถยนต์ไว้

5. ในคดีอาญา ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดอย่างไร

           คดีอาญาถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ให้รอลงโทษเป็นเวลา 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

6. ในคดีแพ่ง ผู้เสียหายฟ้องอะไรบ้าง

           โจทก์ทั้ง 28 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ถึง 7 เป็นเงินจำนวน 113,077,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่อมา จำเลยที่ 7 บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้ครอบครองรถยนต์และได้ทำประกันไว้กับจำเลยที่ 7 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เต็มจำนวนตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ทั้ง 28 คนจึงถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ถึง 7 และศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

7. ศาลชั้นต้นตัดสินอย่างไร

           ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ถึง 3 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้ง 28 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,061,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

8. ใครอุทธรณ์คำตัดสินศาลชั้นต้นบ้าง


           โจทก์ที่ 5 และที่ 11 ยื่นอุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย และจำเลยที่ 1-3 ยื่นอุทธรณ์

แพรวา
ภาพจาก สปริงนิวส์

9. ศาลอุทธรณ์ตัดสินอย่างไร

           ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดให้แก่โจทก์ทั้ง 13 คดี และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด

10. ใครยื่นฎีกา

           ทั้งโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา โดยโจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยขอให้ศาลปรับลดค่าเสียหายลง

11. ศาลฎีกาตัดสินอย่างไร

           ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย ซึ่งรวมค่าสินไหมทดแทนทุกคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด

12. ตอนนี้คดีอยู่ขั้นตอนไหน

           ปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้ง 4 เพื่อให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบังคับ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดจะเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี กล่าวคือ สืบค้นทรัพย์สินของจำเลยเพื่อยึด หรืออายัดทรัพย์สินเพื่อนำออกมาขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชดใช้แก่โจทก์ต่อไป

13. กรณีนี้ผ่านมาเกือบ 9 ปีแล้ว หากจำเลยทั้ง 4 ได้โอนทรัพย์สินของตนไปยังบุคคลอื่น แนวทางการบังคับคดีจะทำอย่างไร

           หากในระหว่างเวลาดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จำเลยทั้ง 4 มีการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น โดยทุจริต โดยรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดี ย่อมมีความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และสามารถร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนนิติกรรมนั้น ๆ ให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลย เพื่อให้โจทก์สามารถบังคับคดีต่อไปได้

14. ขั้นตอนการบังคับคดีมีกำหนดระยะเวลาอย่างไร

          โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ต้องร้องขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กล่าวคือ โจทก์จะต้องดำเนินการออกหมายบังคับคดี เพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลย และเมื่อหมายบังคับคดีถูกส่งไปยังกรมบังคับคดี โจทก์มีหน้าที่ต้องไปตั้งสำนวนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อขอให้ทำการยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยเจ้าหนี้จะต้องแถลงรายการทรัพย์สินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 10 ปี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
tulawcenter.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด 14 ข้อเท็จจริง ฟ้องร้อง แพรวา ตอบคำถาม สรุปแล้วแพรวาต้องจ่ายเท่าไร ! อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 14:47:36 44,367 อ่าน
TOP