x close

อุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัส ไม่ใช่แค่เฉียดผ่าน แต่อัดใส่เต็ม ๆ สว่างวาบชัดเจน

 
            นักดาราศาสตร์สมัครเล่น บันทึกคลิปวินาทีสำคัญ อุกกาบาตพุ่งชนน ดาวพฤหัสบดี เป็นแสงสว่างวาบชัดเจน ไม่ใช่แค่เฉียดผ่าน


อุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัส
ภาพจาก  ทวิตเตอร์ @ChappelAstro

               วันที่ 11 สิงหาคม 2562 เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page hรายงานว่า อีธาน แชปเปิล (Ethan Chappel) นักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นชาวอเมริกัน ตรวจพบแสงสว่างวาบขึ้นที่บริเวณแถบเข็มขัดด้านใต้เส้นศูนย์สูตร (South Equatorial Belt) หรือซีกใต้ของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) แสงวาบดังกล่าวเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ประมาณ 0.88 - 1.55 วินาที คาดว่าเกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัสบดีแล้วเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงระเบิดออก

               ข้อมูลจากเว็บไซต์ Science Alert ระบุว่า อีธานพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยบังเอิญ ขณะส่องดูดาวอยู่ที่รัฐเทกซัส และสามารถบันทึกคลิปวิดีโอเอาไว้ได้ โดยเหตุการณ์น่าทึ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 เวลา 04.07 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด หรือ UTC (Coordinated Universal Time) ตรงกับเวลาประมาณ 11.07 น. ตามเวลาประเทศไทย

               ดาวพฤหัสบดีมีมวลและขนาดใหญ่กว่าโลกหลายเท่า แรงโน้มถ่วงอันมหาศาลทำให้ดาวพฤหัสบดีดึงดูดวัตถุที่อยู่ใกล้เคียงเอาไว้มากมาย จากการศึกษาในอดีต ประเมินว่าดาวพฤหัสบดีมีโอกาสสูงมากในการดึงดูดวัตถุต่าง ๆ ให้เข้ามาพุ่งชน นับว่ามีโอกาสสูงกว่าโลก 2,000 - 8,000 เท่า

อุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัส

             ที่ผ่านมาเคยมีการบันทึกข้อมูลอุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัสบดีไว้แล้ว 6 ครั้ง คือในปี 2537, ปี 2552, ปี 2553 จำนวน 2 ครั้ง, ปี 2559 และปี 2560

             ครั้งที่โดดเด่นที่สุดคือการพุ่งชนครั้งแรกในปี 2537 ซึ่ง ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 (Shoemaker-Levy 9) ถูกแรงไทดัลของดาวพฤหัสบดีฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ก่อนจะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นร่องรอยแผลเป็นสีดำขนาดใหญ่เด่นชัดในช่วงเวลานั้น

             อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังไม่พบร่องรอยการระเบิดที่ทิ้งไว้ในชั้นบรรยากาศ ในการพุ่งชนดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้ และถ้าหากได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว โมเมนต์สำคัญครั้งนี้จะกลายเป็นครั้งที่ 7 ที่นักดาราศาสตร์สามารถบันทึกเสี้ยววินาทีที่อุกกาบาตพุ่งชนและระเบิดในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีเอาไว้ได้

https://twitter.com/ChappelAstro/status/1159290187287015429


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page, เว็บไซต์ Science Alert


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัส ไม่ใช่แค่เฉียดผ่าน แต่อัดใส่เต็ม ๆ สว่างวาบชัดเจน อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2562 เวลา 14:08:28 44,622 อ่าน
TOP