x close

อ.เจษฎา วอนทุกคนหยุดปั้น EM Ball ช่วยน้ำท่วมอุบลฯ ชี้ยิ่งปั้นน้ำยิ่งเน่า

       อาจารย์เจษฎา เผย EM Ball ไม่ช่วยบำบัดน้ำเสียจากวิกฤตน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ชี้อย่าไปเสียเวลาปั้น ยังมีกิจกรรมให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกเยอะ


EM Ball

       จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ยังคงวิกฤต แต่ก็มีหลายหน่วยงานประสานให้ความช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพ และให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มกำลังนั้น

       อ่านข่าว : น้ำท่วม อุบลฯ 62 สถานการณ์ยังวิกฤติ ปภ. เผยยอดเสียชีวิตหลังเกิดพายุ 30 ราย

      ล่าสุด (14 กันยายน 2562) อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ข้อความลงบน เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ระบุว่า มีกลุ่มคนบางส่วนที่คิดจะใช้ EM Ball (Effective Microorganisms Ball) ซึ่งเป็นก้อนจุลินทรีย์ มาช่วยในการบำบัดน้ำเสีย แต่ตนไม่เห็นด้วย

EM Ball

      โดย อ.เจษฎา ได้เผยแพร่ข้อมูลจากมุมมองของกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับ EM Ball เช่นกัน ระบุว่า EM เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลัก คือ

      1. กลุ่ม Lactic acid bacteria
      2. กลุ่ม Yeast
      3. กลุ่ม Phototrophs (Purple bacteria)


      ซึ่งได้รับการพัฒนามาจาก Professor Teruo Higa ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการหมักขยะมูลฝอยเพื่อทำปุ๋ย และด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสุขา เป็นต้น โดยทั่วไป จุลินทรีย์ใน EM สามารถทำงานได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic conditions) และไม่มีออกซิเจน (Anaerobic conditions)

      อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการประยุกต์ใช้งาน EM ในสภาวะที่ในน้ำท่วมขังซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen, DO) อยู่อย่างจำกัด กล่าวได้ว่า EM จะใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ และในช่วงเวลาดังกล่าว จะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงและไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำในบริเวณดังกล่าวมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่มาก รวมถึงมีการใส่ EM ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เมื่อโยน EM Ball ลงในแหล่งน้ำจึงเปรียบเสมือนการเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ให้กับแหล่งน้ำ ในบริเวณที่มีการท่วมขังอีกทางหนึ่ง
ออกซิเจนในน้ำลดลง น้ำเน่าเสียมากขึ้น


      ดังนั้น การเติม EM นอกจากจะไม่ช่วยสร้างออกซิเจนแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมจากการลดลงของปริมาณออกซิเจนในน้ำ รวมถึงเพิ่มสูงขึ้นของปริมาณสารอินทรีย์

      ทั้งนี้ วิธีการบำบัดน้ำเสียแบบที่ หน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ทำการแก้ไขปัญหาระยะสั้น  คือ การเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื่อโรค, การตกตะกอน, และการฆ่าเชื่อโรค พร้อม ๆ ไปกับการบำบัดน้ำเสียเช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา วอนทุกคนหยุดปั้น EM Ball ช่วยน้ำท่วมอุบลฯ ชี้ยิ่งปั้นน้ำยิ่งเน่า โพสต์เมื่อ 14 กันยายน 2562 เวลา 17:53:35 34,782 อ่าน
TOP