x close

ธรรมศาสตร์ ร่วมรำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ขนเสื้อผ้า-หลักฐาน จัดแสดงวันนองเลือด

        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานรำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ โดยจัดพิพิธภัณฑ์หลักฐานวันนองเลือด พร้อมมอบรางวัลผู้ปกป้องประชาธิปไตย




 6 ตุลา
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

        วันที่ 6 ตุลาคม 2562 ไทยพีบีเอส รายงานว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานรำลึก "ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519" โดยมีญาติของวีรชน พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง ร่วมไว้อาลัยและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พร้อมร่วมวางพวงมาลา และดอกไม้ ที่ลานประติมานุสรณ์

        รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้เหตุการณ์นองเลือดจะผ่านมา 43 ปีแล้ว แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายเรื่อง ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญ และยอมรับความจริงในบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปเป็นบทเรียนไม่ให้มีความรุนแรงจากความเห็นต่างทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในอนาคต

        ขณะที่ นายนิติศักดิ์ ปานปรุง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษา กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า หลังเวลาผ่านไป 43 ปี ไม่แน่ใจว่าสังคมไทยได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากน้อยเพียงใด เพราะยังคงมีการสร้างความเกลียดชังแก่ผู้เห็นต่างทางการเมืองอยู่ในสังคม

 6 ตุลา
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

        ทั้งนี้ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งรางวัล "จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย" ในปีนี้เป็นปีแรก โดยจะมอบรางวัลให้แก่นักกิจกรรมที่ปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ นายจารุพงษ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นคนแรกคือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และต้องถูกทำร้ายร่างกายหลายครั้ง โดยผู้มอบรางวัล คือ นายประภัสสร ทองสินธุ์ น้องชายของนายจารุพงษ์

 6 ตุลา
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว รับรางวัล จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

        ทางด้าน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ได้เปลี่ยนชีวิตวัยเยาว์ของนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งไปตลอดกาล การเสียชีวิตของเพื่อนนักศึกษาทำให้ตนใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีปัญญา รู้เท่าทัน และพยายามทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในสังคมอย่างเท่าเทียม พร้อมยกตัวอย่างบทบาทหน้าที่ของหลายภาคส่วน ที่ร่วมกันผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

        ในขณะเดียวกัน บริเวณหอประชุมศรีบูรพา ได้มีการจัดนิทรรศการ "ประจักษ์ | พยาน" ซึ่งมีการนำหลักฐานบางชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาจัดแสดง อาทิ ประตูแดง นครปฐม จุดที่ช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกจับแขวนคอ, ลำโพง 6 ตุลา ที่มีร่องรอยของกระสุน รวมไปถึงเครื่องแต่งกายของ นายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ สิ่งของทั้งหมดจะถูกรวบรวมในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งข้อมูล เพื่อขยายพื้นที่ความเข้าใจของคนในสังคมต่อไป

 6 ตุลา
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

 6 ตุลา
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธรรมศาสตร์ ร่วมรำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ขนเสื้อผ้า-หลักฐาน จัดแสดงวันนองเลือด อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2562 เวลา 10:43:12 9,577 อ่าน
TOP