โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับโครงการ GSP ยกเลิกให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร กับประเทศไทย อาหารทะเลส่งออกทั้งหมดโดนเพิกถอนสิทธิ ระบุสาเหตุ ไทยแก้ปัญหาสิทธิแรงงานให้เป็นสากลไม่ได้
ภาพจาก Evan El-Amin_Shutterstock
วันที่ 26 ตุลาคม 2562 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามประกาศคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับประเทศยูเครน แต่ระงับสิทธิดังกล่าวกับประเทศไทย
โดยก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้มีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าประเทศยูเครน เนื่องจากยูเครนไม่มีความสามารถในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ แต่ขณะนี้มีการพัฒนาในด้านนี้แล้ว ทางสหรัฐฯ จึงพิจารณายกเลิกคำสั่งระงับดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ในจดหมายอีกฉบับที่ทรัมป์เขียนถึงแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา และไมค์ เพนซ์ ประธานวุฒิสภาและรองประธานาธิบดี ระบุเรื่องการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับสินค้าบางประเภทจากประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ภาพจาก pixbox77_Shutterstock
ด้านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR หรือ United States Trade Representative) ระบุว่า การระงับสิทธิโครงการ GSP ดังกล่าว มีมูลค่าการค้ารวม 1.3 พันล้าน (ราว 3.9 หมื่นล้านบาท) โดยจะมีผลใน 6 เดือน สินค้า 1 ใน 3 ของไทยที่อยู่ในโครงการส่งออกจะได้รับผลกระทบ โดยการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของประเทศไทยในรูปแบบปลอดภาษีจะถูกยกเลิกทั้งหมด
สำหรับ GSP หรือ Generalized System Preference หมายถึง สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ เมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น
โดยสหรัฐอเมริกาได้เริ่มโครงการ GSP ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งตามรายงานของเว็บไซต์กรมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การให้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย มีด้วยกัน 3 โครงการ ปัจจุบันอยู่ในโครงการที่ 3 ต่ออายุครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563