x close

ดร.ธรณ์ ขยายความ 30 ปี กรุงเทพฯ จมน้ำ จริงหรือไม่-ต้องย้ายเมืองหลวงจริงไหม

       ดร.ธรณ์ ขยายความ 30 ปี กรุงเทพฯ จะจมน้ำ หมายความว่าอย่างไร ชี้ จมน้ำ ในที่นี้ไม่ใช่จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด แต่หมายถึงพื้นที่ไหนที่น้ำท่วม ก็จะเกิดขึ้นบ่อยและนานมากขึ้น


กรุงเทพจมน้ำ
ภาพจาก Climate Central

       จากกรณีองค์กร Climate Central ได้ออกมาเผยผลวิจัยใหม่ เกี่ยวกับเมืองใหญ่ทั่วโลกที่เสี่ยงจะจมน้ำแน่นอนในปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ที่จะจมหายไปใต้ทะเลด้วยนั้น

       อ่านข่าว : กรุงเทพฯ เกินจุดเสี่ยงจมน้ำ แต่จมแน่นอน คาดปี 2593 Bangkok จะอยู่ใต้บาดาล

       กรุงเทพจมน้ำ

       ล่าสุด (31 ตุลาคม 2562) มีรายงานว่า ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายถึงความหมายของคำว่า "จมน้ำ" ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า เดิมทีเราใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมของนาซา แต่มีปัญหาเรื่องระดับเส้นความสูงพื้นดิน เพราะตามชายฝั่งมีทั้งต้นไม้และอาคาร แต่ระบบใหม่ที่ผู้วิจัยใช้นั้น มีรายละเอียดสูงกว่า ช่วยแก้ไขความผิดพลาดจากระบบเดิม ทำให้เราพบว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

       ส่วนที่มีข่าวว่า โลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ ถ้าอ่านจากงานวิจัย จะพบว่า มีโอกาส 5% ที่น้ำจะสูงขึ้น 2 เมตร แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงแบบเป๊ะ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าจะสูงขึ้น 20-30 เซนติเมตร ในปี 2050 และอาจสูง 50-70-100 เซนติเมตรในช่วงสิ้นศตวรรษ

       อีกอย่างที่ต้องทำความเข้าใจคือ "จมน้ำ" ในที่นี้หมายถึงน้ำท่วม แต่ไม่ใช่ท่วมตลอดเวลาจนแผ่นดินกลายเป็นทะเลทั้งหมด แต่หมายถึง

       1. พื้นที่จะเกิดน้ำทะเลเอ่อขึ้นแทบทุกวันเมื่อน้ำขึ้นสูง

       2. น้ำท่วมมีบ่อยครั้งขึ้น

       3. เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นระยะ

โดยปัญหาน้ำท่วม จะส่งผลกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

       โอกาสแรก : คิดตามง่าย ๆ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เวลาน้ำขึ้น มันก็ต้องเอ่อเข้ามาตามชายฝั่งมากขึ้น ชุมชนริมทะเลหรือตามปากแม่น้ำ อาจเจอน้ำเอ่อท่วมเข้ามาหลายวันต่อเดือน (ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ แต่จะมีมากขึ้น)

       โอกาสสอง : เมื่อฝนตกตามชายฝั่ง แต่น้ำทะเลสูงขึ้น น้ำก็ระบายออกยากขึ้น ยิ่งยุคนี้ฝนโลกร้อนตกโครมคราม น้ำรอการระบายจะนานขึ้น คนกรุงเทพฯ คงเข้าใจดี

       โอกาสสาม : หากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เช่น พายุโซนร้อนผ่านมา มวลน้ำจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ไหลลงมาภาคกลาง แต่เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำพวกนั้นก็ระบายออกไม่ได้ กลายเป็นมหาอุทกภัยเหมือนที่เราเคยเจอ


แล้วเราจะรับมืออย่างไร ? ย้ายเมืองหลวง ?

       แล้วจะย้ายไปไหน ในเมื่อพื้นที่ภาคกลางได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ถ้าย้ายไปไกลก็ไม่ใช่ศูนย์กลาง ก็คงต้องอยู่ตรงนี้ต่อไป

       ส่วนการรับมือเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ๆ ให้คิดได้แต่ทำได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับความพยายามอย่างยิ่งยวดซึ่งอาจจะยากหน่อย เช่น

       - กำหนดเขตชายฝั่งริมทะเลภาคกลางเป็นบัฟเฟอร์โซน ปลูกป่าเลนไว้ลดแรงคลื่นเมื่อพายุเข้า

       - ไม่ลงทุนทำอะไรมากริมฝั่งในพื้นที่เสี่ยงมาก ๆ เพราะทำไปเดี๋ยวน้ำก็เอ่อล้นเข้ามา

       - ยกระดับระบบระบายน้ำใน กทม. / เมืองให้ดีกว่านี้ ไม่พึ่งพาคูคลองตามธรรมชาติอย่างเดียว

       - ต้องใช้ระบบไฮเทคเหมือนกับที่แชร์ ๆ กันในญี่ปุ่น เพื่อผลักน้ำออกไปให้ได้


       อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มีเยอะ คงหาทางรับมือ แก้ไขกันไปตามสถานการณ์ เพราะโลกร้อนแรงขึ้น น่ากลัวยิ่งขึ้น พร้อมจะดูดเงินไปจากพวกเรา มากขึ้นและมากขึ้น ด้วยเหตุง่าย ๆ ว่าเราไปแกล้งโลกก่อน


กรุงเทพจมน้ำ

กรุงเทพจมน้ำ
ภาพจาก Craig Schuler / Shutterstock.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.ธรณ์ ขยายความ 30 ปี กรุงเทพฯ จมน้ำ จริงหรือไม่-ต้องย้ายเมืองหลวงจริงไหม อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11:40:48 87,789 อ่าน
TOP