x close

วังจันทร์วัลเลย์ เรื่องเล่าการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

         สำรวจก้าวย่างแห่งการเปลี่ยนแปลง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง จะเป็นอย่างไร... เมื่ออำเภอแห่งการเกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนา สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชนและประเทศ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วชีวิตของคนในพื้นที่เปลี่ยนไปขนาดไหน มาร่วมเติมเต็มเรื่องเล่าแง่มุมดี ๆ ที่ “วังจันทร์” แห่งนี้กัน

         ก่อนการเดินทางสู่อำเภอวังจันทร์จะเริ่มต้นขึ้น ผู้เขียนในฐานะคนเมืองหลวง สารภาพเลยว่าแทบจะไม่เคยได้ยินหรือรู้จักชื่ออำเภอนี้มาก่อน หรือต่อจะให้เค้นภาพจินตนาการ ก็ดูจะเป็นเรื่องยากกว่าเดิมอีกเท่าตัว จนไม่นานมานี้ทางกลุ่ม ปตท. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จับมือกับคนในชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ได้เวลาล้อหมุนออกเดินทางลงพื้นที่สำรวจอำเภอวังจันทร์กันแล้ว

จากพื้นที่เกษตรกรรมสู่พื้นที่แห่งการพัฒนา

วังจันทร์ ระยอง

         “แต่ก่อนวังจันทร์ไม่ได้เจริญแบบนี้หรอกนะ” บทสนทนาประโยคแรกที่คุณยายวงศ์เอ่ยขึ้นเมื่อย้อนนึกถึงอำเภอวังจันทร์ในอดีต

         คุณยายวงศ์ กลิ่นดี อายุน่าจะราว ๆ 60 กว่า ๆ เธอตอบคำถามในขณะที่กำลังสะบัดตะหลิว อาวุธคู่ใจประจำกาย อย่างขะมักเขม้น ภายในร้านอาหารตามสั่งเล็ก ๆ ที่มีที่นั่งไม่เกิน 6 ที่


         “แต่ก่อนชาวบ้านที่นี่เขายึดอาชีพทำสวนยางเป็นหลัก ยายเองก่อนหน้านี้ก็ทำอาชีพเกษตรเหมือนกับชาวบ้านเขานี่แหละ บ้านเดิมก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้ อยู่ลึกเข้าไปโน่น และเพิ่งจะย้ายมาอยู่ที่วังจันทร์เมื่อสิบกว่าปีนี้เอง” คุณยายวงศ์เล่าถึงภูมิหลังชีวิตตัวเอง พร้อมกล่าวต่อว่า

         “มาช่วงหลัง ๆ นี่แหละ ที่เริ่มมีคนเดินทางผ่านไปผ่านมาเยอะขึ้น แต่ก่อนนี้เงียบเหงา เพราะคนไม่รู้ว่ามาวังจันทร์แล้วจะเที่ยวอะไรดี” เธอพูดด้วยแววตาเปล่งประกาย เหมือนกำลังบอกให้รู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอำเภอวังจันทร์ ได้สร้างความน่ายินดีให้คนละแวกนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

วังจันทร์ ระยอง

รอยยิ้มของคุณยายวงศ์ขณะผัดข้าวให้เราอย่างอารมณ์ดี

         “ถนนหนทางแต่ก่อนก็ไม่เป็นแบบนี้นะ ถึงจะไม่ได้แย่มาก แต่ก็ไม่ได้ดีแบบนี้แล้วกัน” เธอยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นถึงความเจริญที่เกิดขึ้น สภาพถนนนอกร้านลาดยางมะตอยเนียนกริบ ประทับด้วยช่องแบ่งเลนถนนชัดเจน สองข้างทางร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่

วังจันทร์ ระยอง

ถนนลาดยางมะตอย มีเส้นแบ่งช่องเลนชัดเจน

         ณ ตอนนี้ดูเหมือนว่า ภาพอำเภอวังจันทร์ในห้วงอดีตจากสายตาชาวบ้านอย่างคุณยายวงศ์ กำลังก้าวเข้าสู่ความเจริญอย่างเต็มขั้น จากเดิมที่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก หากแต่ความเจริญในวันนี้ มอบโอกาสและสร้างทางเลือกอาชีพที่หลากหลายให้กับคนในชุมชน ให้อยู่ดีกินดีมากขึ้นกว่าเดิม

         หลังเสร็จภารกิจหาเรื่องให้ท้องอิ่มด้วยฝีมือผัดข้าวของคุณยายวงศ์แล้ว ในฐานะคนต่างถิ่นเลยถือโอกาสนี้ถามต่อเลยว่า “คุณยายพอจะมีที่เที่ยวที่ไหนในวังจันทร์แนะนำบ้างไหมคะ ?” แทบไม่ต้องรอให้จบประโยค ก็มีเสียงโพล่งขึ้นมาทันทีเดี๋ยวนั้นว่า “ลองไปป่าวังจันทร์มาหรือยัง ? เห็นมีคนเขาไปกันเยอะอยู่นะ ไปถ่ายรูป ไปดูป่าเขียว ๆ เขาทำไว้สวยเชียว” สิ้นเสียงคุณยายวงศ์ แต่เหมือนเป็นการเริ่มต้นกดปุ่มสวิตช์ความอยากรู้ของร่างกายให้ทำงาน พร้อมเปิดหาพิกัดตำแหน่งที่ตั้งเรียบร้อย ก็ได้เวลาสำรวจให้รู้จริง

“ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จากพื้นที่เกษตรสู่ศูนย์เรียนรู้ด้านป่าไม้และระบบนิเวศ

วังจันทร์ ระยอง

ปลูกป่าในใจคน
เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขอย่างยั่งยืน

         ทันทีที่เข้ามาในบริเวณพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับการทักทายด้วยลมเย็น ๆ พัดแฉลบใบหน้าเบา ๆ แดดในเวลากลางวันที่ว่าร้อนหนักหนา ดูท่าจะคลายลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าไปหลบใต้ร่มเงาของต้นไม้เจ้าถิ่น ไม่นานจึงมีเจ้าหน้าที่ออกมาต้อนรับ และทำให้รู้ว่าที่แห่งนี้นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว ยังเป็นสถานที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิดระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งในแง่พฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่า “ป่าคือต้นกำเนิดทุกชีวิต”
วังจันทร์ ระยอง

         ในส่วนของ “อาคารนิทรรศการ” รูปทรงชวนแปลกตา ได้ทราบภายหลังว่าเป็นการตั้งใจในการออกแบบ ให้มีลักษณะคล้ายลำต้นไม้ใหญ่ ประกอบด้วยห้องนิทรรศการทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่ ห้องจันทร์ฉาย ห้องจันทร์พนา และ ห้องวังจันทร์ แต่ละห้องทำหน้าที่บอกเล่าจุดเริ่มต้นของโครงการ แนวทางการปลูกป่า ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาโครงการ

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

         ตลอดช่วงเวลาที่เดินทอดน่องรับฟังการบรรยายจากเจ้าหน้าที่ สิ่งหนึ่งที่รับรู้ขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ไม่ใช่ความตื่นตาตื่นใจจากเหล่าเอฟเฟกต์แสง สี เสียง ของสื่อนิทัศน์ต่าง ๆ แต่อยู่ที่เรื่องราวการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และป่าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเราทุกคนมีหน้าที่ต้องเรียนรู้และรับผิดชอบระบบนิเวศนี้ร่วมกันตราบนานเท่านาน

วังจันทร์ ระยอง

บริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติภายในศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์

         ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดินลงมาในส่วนพื้นที่รอบอาคารนิทรรศการ ยังร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ตลอดจนกลิ่นหอมรัญจวนของดอกไม้ที่ลอยเคล้าคลอเคลียตลอดทางเดิน เป็นของฝากที่ระลึกจากศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์มอบให้กับเราในวินาทีสุดท้าย

         จากเดิมเคยคิดว่า “ป่า” คือเรื่องไกลตัว ที่เรายากจะสัมผัสและเข้าถึงได้ มาถึงตอนนี้ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ได้เปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ใหม่ และทำให้รู้ว่าเราทุกคนต่างมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่ต่อไป ใครสนใจและอยากเรียนรู้เรื่องราวองค์ความรู้ด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อม สามารถเดินทางมาที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. รวมถึงจองวันและเวลาเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์
pttreforestation.com

ต่อยอดองค์ความรู้ ต่อลมหายใจแห่งวิถีเกษตรกรรม

         นอกเหนือจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับผู้สนใจทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ นั่นคือ การทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านในอำเภอวังจันทร์ เพื่อนำมาต่อยอดและประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งมีชาวบ้านเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับโอกาสดังกล่าว เช่นเดียวกับ “ป้าบาลอน” หรือ ลัยลา พรหมมินทร์ ชาวบ้านเกษตรกรตัวอย่างในอำเภอวังจันทร์ ที่วันนี้เปิดแปลงเกษตรต้อนรับให้เราเข้าไปเยี่ยมชมทุกอณู 
วังจันทร์ ระยอง

รอยยิ้มแห่งความสุขของป้าบาลอน

         ป้าบาลอนได้พูดถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพเกษตรกรรมให้เราฟังว่า “ก่อนหน้านี้ป้าก็ทำสวนยางเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไปนี่แหละ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เอาผักนั่นนี่มาปลูก สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แรก ๆ ก็ทดลองปลูก ล้มบ้างดีบ้าง มาช่วงหลัง ๆ ปตท. เขาพาไปอบรม ก็เลยเอาความรู้มาใช้กับสวนเรา ทีนี้ก็ทำมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้กลายเป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวแล้ว” หญิงชาวสวนที่มีรอยยิ้มอันอบอุ่นเป็นเอกลักษณ์ ใครเลยจะเชื่อว่าปีนี้ป้าอายุย่างเข้า 62 แล้ว เพราะด้วยอากัปกิริยาที่ดูคล่องแคล่ว ทำเอาคนหนุ่มคนสาวที่มาเห็นต้องชื่นชมในความแข็งแรงนี้

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

สวนผักและผลไม้ของป้าบาลอนที่ค่อย ๆ ทยอยออกผลผลิตให้เก็บเกี่ยว

         นอกจากป้าบาลอนจะเป็นหัวเรือใหญ่บริหารจัดการผลผลิตต่าง ๆ ในไร่แล้ว มือขวาที่ป้าขาดไม่ได้เลยคือ “พี่ทราย” ลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนลูก ๆ 3 คน พาพวกเราเดินชมแปลงเกษตรกว้างกว่า 40 ไร่ พี่ทรายได้เล่าว่า “แต่ก่อนพี่ก็เป็นพนักงานกินเงินเดือนทั่วไป เงินเดือนยอดล่าสุดก่อนจะออกมาก็หลายหมื่นอยู่”

วังจันทร์ ระยอง

พี่ทราย ลูกมือคู่ใจป้าบาลอน

         พอฟังแบบนี้เข้า นึกแปลกใจอยู่ในที ว่าเหตุผลอะไรพี่ทรายถึงยอมทิ้งเงินเดือนหลายหมื่นบาท และเริ่มต้นสตาร์ตเงินเดือนใหม่ในบทบาทของเกษตรกรเหตุผลที่พี่เลือกกลับมาอยู่บ้าน เพราะแม่แกก็มีอายุมากแล้ว เคยล้มแขนหัก เจ็บนั่นนี่บ่อย ๆ กลับมาดูแลไป ๆ มา ๆ อยู่พักใหญ่ ก็ตัดสินใจออกจากงาน และตัดสินใจว่าจะดูแลแม่อย่างเต็มตัว ประกอบกับทางศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ได้แนะนำโครงการวังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน ให้เราได้ฟัง พี่มองว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ที่น่าสนใจ เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาช่วยแม่เต็มตัว”

         จากนั้นไม่นาน พี่ทรายก็เริ่มเรียนรู้วิชาจากป้าบาลอน ขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมวิทยายุทธ ด้วยการร่วมเป็นสมาชิก “โครงการวังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน” โครงการนี้พาเธอและป้าบาลอนเข้าอบรม รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมสายอาชีพจากหลากหลายที่ ตลอดจนได้รับพันธุ์ผักพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 20 ชนิด
ซึ่งชาวบ้านสามารถมารับเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ได้ที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ฟรี ! เพื่อเป็นการลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้แปลงเกษตรของป้าบาลอนในวันนี้ กลายเป็นซูเปอร์มาร์เกตกลางแจ้งขนาดใหญ่ประจำอำเภอวังจันทร์ไปแล้ว

วังจันทร์ ระยอง

         นอกเหนือจากพันธุ์ผักพระราชทานที่ชาวบ้านได้รับจากการเข้าร่วมโครงการแล้ว ทาง ปตท. ยังเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ที่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งทุกคนจะนำผลผลิตสด ๆ จากสวน ส่งตรงมาที่ร้านค้าแห่งนี้เป็นประจำ ใครมีโอกาสแวะผ่านไปแถวนั้น ก็อย่าลืมอุดหนุนซื้อหากันได้ (ร้านเปิดจำหน่ายทุกวันไม่มีวันหยุด)

วังจันทร์ ระยอง

สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาป่ายุบใน จังหวัดระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

รอยยิ้มของป้าบาลอนขณะกำลังโอภาปราศรัยกับลูกค้าอย่างสนุกสนาน

         บูธขายสินค้าวันนั้น นอกจากจะมีชาวบ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเอาผลผลิตจากแปลงเกษตรมาวางขายแล้ว เรายังรู้สึกอีกด้วยว่า ณ สถานที่แห่งนี้เป็นเหมือนสภากาแฟยามเช้าขนาดย่อม จะผิดก็แต่มือทุกคนที่ควรถือแก้วกาแฟ มาเป็นถือผักและผลไม้สด ๆ จากแปลงของตัวเองก็เท่านั้น

จากบ่มเพาะต้นกล้าชุมชน สู่การบ่มเพาะต้นกล้านักคิดรุ่นใหม่

         หลังอุดหนุนสินค้าของป้าบาลอนและเพื่อนเกษตรกรจนกระเป๋าสตางค์เบาหวิวแล้ว ถัดจากสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาป่ายุบใน ไม่ไกล เรามุ่งหน้าต่อไปยัง “โรงเรียนกำเนิดวิทย์" (KVIS) และ “สถาบันวิทยสิริเมธี" (VISTEC) สถาบันการศึกษาที่เป็นดั่งขุมทรัพย์กำลังความคิดของคนหนุ่มสาว ที่แม้จะก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ด้วยชื่อเสียงทางวิชาการ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีกลุ่ม ปตท. เป็นหัวเรือใหญ่ในการสนับสนุน จึงทำให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาของไทยที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง


“โรงเรียนกำเนิดวิทย์” จุดกำเนิดนักวิทยาศาสตร์คุณภาพ

          โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) จัดการศึกษาให้กับผู้มีความสามารถพิเศษทางด้าน STEM (Science Technology Engineering Math) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะโรงเรียนประจำ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายหลักคือ การก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์คุณภาพชั้นนำเทียบเท่าระดับนานาชาติ มุ่งปลูกฝังและพัฒนานักเรียนสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์คุณภาพของประเทศ

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

บรรยากาศโดยรอบของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)

“สถาบันวิทยสิริเมธี” มุ่งสร้างงานวิจัยคุณภาพสู่ระดับสากล

        สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ภาคภาษาอังกฤษทั้งหมด กับ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล

วังจันทร์ ระยอง

         แม้ว่าทั้งสองสถาบันจะบ่มเพาะบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แตกต่างกันทางวัยวุฒิ แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน นั่นคือ การมุ่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศชาติต้องการ โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นทั้งเพื่อน พี่เลี้ยง ควบคู่ไปกับการประสิทธิ์ประสาทความเข้มแข็งทางวิชาการ กระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดค้น ประยุกต์ และต่อยอดองค์ความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ให้กลายเป็นเหล่าบุคลากรคุณภาพที่ประเทศต้องการ ซึ่งทั้งสองสถาบันได้ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

วังจันทร์ ระยอง

บรรยากาศห้องเรียนและห้องวิจัยภายในบริเวณสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

วังจันทร์ ระยอง

บรรยากาศโดยรอบภายในบริเวณสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

         หลังจากลงพื้นที่สำรวจอำเภอวังจันทร์มาทั้งวัน สิ่งที่สัมผัสได้คือความมุ่งมั่นและตั้งใจของกลุ่ม ปตท. ที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่และก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง เหมือนดังเช่น “ยายวงศ์” “ป้าบาลอน” และ “พี่ทราย” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า การบ่มเพาะต้นกล้าชุมชนให้แข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญมากแค่ไหน

วังจันทร์ ระยอง

         สิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ ล้วนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน สังคม และประเทศ โดยมีกลุ่ม ปตท. เป็นหนึ่งหัวแรงสำคัญ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เนรมิตพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์รวมนักวิจัยหลากหลายแขนงมาอยู่ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ “วังจันทร์วัลเลย์”
วังจันทร์ ระยอง

         หากลองหลับตาแล้วนึกถึง “วังจันทร์วัลเลย์” ในอนาคต ไม่แน่ว่า...แปลงเกษตรของป้าบาลอนในวันนี้ เมื่อได้รับการต่อองค์ความรู้พัฒนาสู่แปลงเกษตร 4.0 ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น เผลอ ๆ อาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดระยองก็เป็นได้

         ในขณะที่สถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จะเป็นหัวแรงหลักสำคัญในการทำหน้าที่ผลิตและบ่มเพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อรองรับการเติบโตและสร้างรากฐานที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชน จังหวัด และประเทศ ทั้งหมดเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ณ วังจันทร์วัลเลย์ แห่งนี้

 “วังจันทร์วัลเลย์ โครงการแห่งอนาคตบนพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
จากผืนดินเกษตรกรรมสู่เมืองนวัตกรรม จะไปในทิศทางไหน ?
วังจันทร์วัลเลย์ คืออะไร ? และวังจันทร์วัลเลย์ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ? 
เราจะมาหาคำตอบทั้งหมดนี้ไปด้วยกัน” 

ผู้เขียน : สุพัตรา วัฒนวาทิน
ช่างภาพ : พิพัฒน์ สว่างสุข

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วังจันทร์วัลเลย์ เรื่องเล่าการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2562 เวลา 15:32:57 36,742 อ่าน
TOP