x close

จัดเต็ม ฉายาสภา ประจำปี 2562 ไร้คนดีศรีสภา ส่วนสภาผู้แทน เจอฉายา ดงงูเห่า

 

             มาแล้ว ฉายาสภา ประจำปี 2562 ยก สภาล่ม เป็นเหตุการณ์แห่งปี ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร รับฉายา ดงงูเห่า ส่วนวาทะแห่งปี คือ ตัดพี่ตัดน้อง

ฉายาสภา ประจำปี 2562

                วันที่ 28 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่า สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะตั้งฉายาสภาอีกครั้ง ในปี 2562 ภายหลังเว้นวรรคการตั้งฉายาไปนานถึง 5 ปี ซึ่งจะมุ่งสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปีที่ผ่านมา

                โดยสำหรับ ฉายาสภา ประจำปี 2562 สามารถสรุปได้ดังนี้


1. เหตุการณ์แห่งปี : สภาล่ม

              เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน และ 28 พฤศจิกายน ระหว่างการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44

              โดยเริ่มจากการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งจะต้องนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่ปรากฏว่า ส.ส. รัฐบาล ใช้เสียงข้างมากจนนำมาสู่การนับคะแนนใหม่ ซึ่งก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าวจะต้องมีการนับองค์ประชุมก่อน ทว่ามี ส.ส. ร่วมเป็นองค์ประชุม 92 คน แม้จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันถัดไป แต่ก็ยังมี ส.ส. เพียง 240 คนไม่ครบองค์ประชุม จนนับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียให้กับสภาฯ ในยุคของ นายชวน หลีกภัย

2. สภาผู้แทนราษฎร : ดงงูเห่า

              การหายไปของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้สภาฯ ถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ แต่จะด้วยผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพหรือเป็นนิสัยส่วนบุคคล ถึงได้เป็นช่องทางที่ทำให้ปรากฎการณ์ซึ่งถูกเรียกว่า "งูเห่า" เกิดขึ้น

              ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" เพื่อตรวจสอบรัฐบาล แต่เมื่อผ่านไปสักระยะก็ยุติการเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไปจนถึงการลงคะแนนสวนทางกลับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายครั้ง ทั้งการพิจารณาพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล ไปจนถึงการร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ ก่อนจะลงมติล้มไม่ให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44 ได้เป็นผลสำเร็จ

3. วุฒิสภา : สภาทหารเกณฑ์

              รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีวุฒิสภาแบบพิเศษขึ้นมา กล่าวคือ แม้รัฐธรรมนูญจะหมวดว่าด้วยวุฒิสภาที่ให้มีการลงคะแนนเลือกกันเองจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ใน 5 ปีแรกกลับให้ ส.ว. มาจากการเลือกของ คสช. รวมกับผู้บัญชาเหล่าทัพโดยตำแหน่งเป็นจำนวน 250 คน

              นอกจากนี้ ส.ว. ชุดปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยมาจากบุคคลที่เคยเป็นสมาชิก สนช. ที่ คสช. เคยแต่งตั้ง ด้วยเหตุนี้ทำให้ ส.ว. เปรียบเสมือนเป็นทหารที่ถูก คสช. เกณฑ์เข้ามา ซึ่งไม่เพียงแค่มีหน้าที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก แต่ยังอีกภารกิจ คือ การสานต่องานของ คสช. ให้จบ โดยเริ่มให้เห็นแล้วจากการพร้อมใจเทคะแนนเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และในอนาคตกำลังจะมีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจต่อไป

4. ประธานสภาผู้แทนราษฎร : มีดโกนขึ้นสนิม


              นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในตำนานการเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็น ส.ส. ที่มีพรรษาทางการเมืองมากที่สุด และมีบารมีเต็มเปี่ยมจนได้กลับเข้ามาเป็นประธานสภาฯ อีกครั้ง

              ทว่าแม้จะมีความตั้งใจจะให้ประชาชนกลับมาศรัทธาสภา แต่เอาเข้าจริงมีดโกนอาบน้ำผึ้งที่เคยบาดลึกแหลมคมกำลังขึ้นสนิมอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภาได้ เช่น การวินิจฉัยเรื่องการนับคะแนนใหม่ในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44 จนนำมาสู่เหตุการณ์สภาล่ม ไปจนถึงการพยายามลอยตัวกับปัญหาต่าง ๆ อย่างความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการสามัญหลายคณะ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้นำสูงสุดของสภา

5. ประธานวุฒิสภา : ค้อนยาง

              ก่อนจะขึ้นเป็นประธานวุฒิสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก่อน ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อมาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภากลับไม่ยำเกรงในบารมี ดังจะเห็นได้จากการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฎว่าทุกครั้งที่นายพรเพชรขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะรองประธานรัฐสภา จะถูก ส.ส. ลองของจนควบคุมการประชุมไม่ได้

              โดยเฉพาะการปะทะคารมกันระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จนนำมาซึ่งความวุ่นวายกลางที่ประชุม แม้ประธานวุฒิสภาจะพยายามใช้ค้อนทุบบนโต๊ะเพื่อหวังให้เกิดความสงบ แต่กลับได้ผลตรงข้าม จึงเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าค้อนไม้ที่ถือไว้ในมือนั้นเป็นเพียงแค่ค้อนยางเท่านั้น

6. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : ขนมจีนไร้น้ำยา

              นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ในภาวะที่ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นลูกไล่รัฐบาล ทว่าฝ่ายค้านยังไม่อาจแสดงศักยภาพในการตรวจสอบรัฐบาลให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเทียบกับผู้นำฝ่ายค้านฯ ในอดีต อีกทั้งยังไม่ปรากฎบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อให้การทำงานของสภาฯ เกิดความสมานฉันท์และเป็นที่จดจำ จึงไม่ต่างอะไรกับขนมจีนที่ดูน่ารับประทาน แต่เมื่อไร้น้ำยารสเลิศแล้วก็ทำให้ขนมจีนจานนั้นไม่ได้อยู่ในสายตา

7. วาทะแห่งปี : ตัดพี่ตัดน้อง


              วาทะนี้เป็นของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งพูดกลางที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างการนำเสนอนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สุจริตของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์
             
              โดย พล.อ. ประยุทธ์ ตอบโต้ว่า เรารู้จักกันมานาน ท่านเป็นรุ่นพี่ผม แต่งงานวันเดียวกัน แต่วันนี้ไม่ถือว่าเป็นรุ่นพี่อีกแล้ว เพราะท่านไม่เกียรติผม เคยพูดว่าจะชักปืนยิงผม ถ้ายิงจริง ท่านก็ติดคุกไปแล้ว ท่านพูดจาหยาบคาย เหรียญรามาผมก็ได้ แต่ไม่เคยอวดอ้างอำนาจ ให้ไปทบทวนตัวเอง

8. คู่กัดแห่งปี : ปารีณา VS พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์

              เรียกว่าเป็นมวยถูกคู่ แม้จะต่างวัย สำหรับ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกพรรคส่งมาเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน เพื่อปกป้อง พล.อ. ประยุทธ์ ภายหลัง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธิ์ พยายามเชิญนายกฯ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ 

              ซึ่งนางสาวปารีณาพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง ถึงขั้นมีการผลัดกันยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกันเองภายในคณะกรรมาธิการ จนงานอื่น ๆ ของคณะกรรมาธิการเดินหน้าไม่ได้ และกรรมาธิการหลายคนทยอยลาออก เพราะไม่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

9. ดาวเด่น : ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่


              จากคนที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนอกสภา แล้ววันหนึ่งก็ได้เดินเข้าสภาในนามพรรคอนาคตใหม่ เหตุผลหลักที่ทำให้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือ อาจารย์ป๊อก ได้รับตำแหน่งดังกล่าว คือ การเปิดประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมแสวงหาความชัดเจนจากรัฐบาลมาร่วมเดือน จนนำมาสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

              ไม่เพียงเท่านี้ ตลอดการทำหน้าที่อภิปรายในสภาไม่ได้ใช้แต่เพียงวาทศิลป์เท่านั้น เพราะทุกถ้อยคำล้วนมีเหตุผลทางวิชาการและกฎหมายรองรับ จึงทำให้คว้าตำแหน่งนี้ไปอย่างลอยลำ ด้วยความหวังว่าเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่จะสามารถรักษามาตรฐานที่วางไว้ไปให้ตลอด

10. ดาวดับ : ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

ฉายาสภา
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ปารีณา ไกรคุปต์

              เมื่อมีดาวเด่นก็ต้องมีดาวดับ และ เอ๋ ปารีณา ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเธอได้สร้างกระแสในแง่ลบผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะ แม้จะแสดงบทบาทในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของมารดา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่กลับเป็นคนที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบเสียเองในเรื่องการถือครองที่ดินที่ จ.ราชบุรี ซึ่งทุกครั้งที่ถูกผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความโปร่งใส กลับพยายามบ่ายเบี่ยงหลายครั้ง ถึงขนาดที่กล่าวอ้างว่าได้ทำเอ็มโอยูกับนักข่าวที่จะยุติการสัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว โดยไม่มีหลักฐาน

11. คนดีศรีสภา : ไม่มีผู้เหมาะสม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัดเต็ม ฉายาสภา ประจำปี 2562 ไร้คนดีศรีสภา ส่วนสภาผู้แทน เจอฉายา ดงงูเห่า อัปเดตล่าสุด 28 ธันวาคม 2562 เวลา 11:37:56 27,952 อ่าน
TOP