x close

รู้จักหน่วย "อรินทราช 26" นักรบในเมือง ฮีโร่ในชีวิตจริง ผู้ต่อต้านการก่อการร้าย

          รู้จักหน่วย "อรินทราช 26" นักรบในเมือง ฮีโร่ในชีวิตจริง ฝึกหนักเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะ ก่อตั้งเมื่อปี 2526

          จากกรณีเหตุสะเทือนขวัญ คนร้ายควงอาวุธสงครามกราดยิง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยได้เข้าไปก่อเหตุภายในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จนสุดท้าย ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม โดยมีการเปิดเผยว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการแบ่งการทำงานของ ทีมหนุมาน, หน่วยอรินทราช, กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 รอ. และ หน่วยนเรศวร 261 ได้สนธิกำลัง เข้าเคลียร์ตามห้องต่าง ๆ ภายในตัวห้าง

อ่านข่าว : เปิดพิกัด ปิดจ๊อบมือกราดยิงโคราช ยิงปะทะวิสามัญ จ่าคลั่ง ที่ชั้นใต้ดิน

          เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชื่อของหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการสยบคนร้ายกราดยิงโคราชอย่างหน่วย "อรินทราช 26" ก็ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เพราะมี 2 วีรบุรุษผู้กล้าสละชีวิตจากเหตุการณ์นี้คือ ร.ต.อ. ตระกูล ทาอาษา ผบ.หมวด (สบ 1) กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 กก.ต่อต้านการก่อการร้าย บก.สปพ. และ ด.ต. เพชรรัตน์ กำจัดภัย ผบ.หมู่ กองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 กก.ต่อต้านการก่อการร้าย บก.สปพ. โดยหน่วยอรินทราช 26 นับว่าเป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ ที่ถูกฝึกมาให้รับมือกับเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยเฉพาะ

          สำหรับหน่วยอรินทราช 26 นั้น รายการตกผลึก ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี เคยทำสกู๊ปไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2555 โดยมีการสัมภาษณ์ พล.ต.ต. จักรทิพย์ ชัยจินดา (ยศขณะให้สัมภาษณ์ในรายการ) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ระบุว่า

          หน่วยอรินทราช เกิดจากการที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้เล็งเห็นถึงภัยคุกคามจากต่างประเทศ เช่น ผู้ก่อการร้ายสากล ท่านจึงมีดำริให้กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จึงได้จัดตั้งหน่วย อรินทราช ขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา รวมกันแล้วแปลว่า พระราชาผู้เป็นใหญ่เหนือศัตรูทั้งหลาย สำหรับเลข 26 มาจากปีที่ก่อตั้ง

          หน่วยอรินทราช 26 จะรับสมัครเจ้าหน้าที่ในหน่วยจากผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรืออาสาสมัครตำรวจ ซึ่งอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในสังกัดกองกำกับการ 2 ป้องกันและปราบปรามจลาจล กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ และขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) มีความรับผิดชอบดูแลภายในเมืองหลวงและปริมณฑล หากเปรียบเทียบกับสากลแล้ว หน่วยอรินทราช 26 นั้นก็คือ หน่วยสวาท  (Special Weapons And Tactics : S.W.A.T.) ที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ต่างประเทศนั่นเอง ซึ่งหน่วยสวาทของไทยก็มีหลักปฏิบัติ และยุทธวิธีตามหลักสากลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ขั้นตอนการรับเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกในหน่วยอรินทราช 26

          - ประเมิน EQ หรือค่าความฉลาดทางอารมณ์ เพราะบางคนพื้นฐานทางอารมณ์ไม่ได้ รับความกดดันได้ไม่เหมือนกันซึ่งหน่วยอรินทราช ต้องเผชิญกับความกดดันบ่อย
          - ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
          - สัมภาษณ์เพื่อดูไหวพริบ เชาว์ปัญญา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
          - ตรวจร่างกาย
          หลังจากรับเข้ามาแล้ว ต้องมาฝึกหลักสูตรหลักประจำหน่วย คือ หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย ใช้เวลาฝึก 24 สัปดาห์ หากผ่านแล้วก็ถือว่าพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยอรินทราช นอกจากการฝึกในหลักสูตรหลักแล้ว หน่วยอรินทราช 26 มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกหลักสูตรต่าง ๆ ในต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่อยู่ในหน่วย

นอกจากนี้อรินทราชมีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกอีก 4 หลักสูตร คือ

          1. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
          2. หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลเก็บกู้ทำลายระเบิด"
          3. หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลซุ่มยิง"
          4. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์"

นอกจากนี้ก็มีการฝึกต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น

"แผนกรกฏ 48" การฝึกในสถานการณ์สมมุติ

และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น

ภารกิจหลักของหน่วยอรินทราช 26 มีดังนี้

          -  รักษาความปลอดภัยพิเศษในยามบ้านเมืองมีงานระดับชาติ หรือกิจกรรมพิเศษ
          - ให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญ
          -  ปราบปรามอาชญากรรม และต่อต้านการก่อการร้าย
          -  ช่วยเหลือตัวประกัน

          ตามรายงานพิเศษ กว่าจะเป็นอรินทราช 26 ของ TNN 16 ระบุว่า อรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่เชี่ยวชาญการรบในเมือง มีภารกิจหลักคือการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เข้าสนับสนุนการทำงานที่เกินกว่าขีดความสามารถของตำรวจท้องที่ เช่นภารกิจชิงตัวประกัน หรือจับกุมตัวคนร้ายที่มีอาวุธสงคราม

          การแต่งกายของหน่วยอรินทราช 26 จะไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ ที่ชุดบริเวณไหล่ซ้าย มีอาร์มสีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงกลางมีรูปอักขระยันต์ มีตัวหนังสือบอกหน่วยสังกัดว่า "ตำรวจนครบาล ปฏิบัติการพิเศษ" นั่นคือ "ตำรวจ 191" เนื้ออาร์มมีคำว่า "อรินทราช ๒๖" บริเวณหน้าอก มีรูปโล่อยู่ตรงกลาง พื้นโล่สีดำแดง กลางโล่มีสายฟ้าสีขาว มีดอกชัยพฤกษ์สีทองพุ่งเข้าหาโล่จากด้านข้าง ข้างละ 6 ดอก สีพื้นของชุดจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชุดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

ชุดทำงานปกติ สามารถเห็นได้ทั่วไปตามจุดสำคัญ
ชุดเวสสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฝึกและเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติงาน
ชุดเวสพร้อมอุปกรณ์ โดยจะมีอุปกรณ์ครบมือ ตั้งแต่หมวกกันกระสุน, เสื้อกันกระสุน, อาวุธอื่น ๆ ที่เพิ่มเข้า
ชุดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยชุดนี้จะเหมือนแบบที่ 3 เว้นแต่สีชุดที่เป็นสีดำ จะใส่ชุดนี้เมื่อต้องทำงานกับหน่วยงานอื่น (การสนธิกำลัง)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักหน่วย "อรินทราช 26" นักรบในเมือง ฮีโร่ในชีวิตจริง ผู้ต่อต้านการก่อการร้าย อัปเดตล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14:03:13 196,067 อ่าน
TOP