x close

ธนาธร วิเคราะห์ การบินไทย ทำไมถึงเจ๊ง - แนะทางรอด อย่างไรรัฐก็ต้องเลิกอุ้ม !

        ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่เห็นด้วย มติรัฐบาลยื่นมือช่วยการบินไทย ค้ำประกันกู้เงิน 50,000 ล้านบาท ชี้มีเพียง 3 ทางเลือกที่ทำได้ พร้อมแนะ 5 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยซื้อไปดูแลต่อ


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การบินไทย

        เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม 2563) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีรัฐบาลอุ้มการบินไทย สืบเนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ค้ำประกันกู้เงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในช่วงที่ไม่สามารถให้บริการได้ รวมถึงเพิ่มทุนก้อนที่ 2 อีก 8 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.3 แสนล้านบาทนั้น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การบินไทย

ธนาธร ชี้ แผนฟื้นฟูการบินไทย ทำมาเพื่อขอเงินจากคลัง สวยหรูแต่ใช้งานจริงไม่ได้

        นายธนาธร เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องอุ้มการบินไทย เพราะถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ เลย ไม่ว่าการบินไทยขาดทุนเท่าไร ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนจะเป็นผู้รับภาระแบกหนี้

        ในฐานะที่ทำธุรกิจ การประมาณการงบกำไร-ขาดทุน ในแผนฟื้นฟูระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับรัฐบาล ที่ประมาณการว่า ในปีนี้จะติดลบ 59,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 จะกลับมามีกำไร 4,500 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีกำไร 13,000 ล้านบาทนั้น มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่การบินไทยจะลดต้นทุน 42 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี เพราะตนไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจนี้ และผู้ที่ทำแผนธุรกิจนี้ รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ขอเงินแค่ 50,000 ล้านบาท แต่ขอเงินจากรัฐบาลถึง 1.3 แสนล้านบาท ถ้าเป็นไปตามแผนธุรกิจนี้จริง ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินและเพิ่มทุนเช่นนี้ แผนธุรกิจนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้สวยหรู สามารถขอเงินกระทรวงการคลังได้


        การบินไทย ไม่สามารถปรับปรุงตัวเองให้กลับมามีกำไรยั่งยืนได้ ในปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะปรับต้นทุนจาก 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 116,000 ล้านบาท ต้องลดต้นทุนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

ธนาธร เผย การบินไทย ทำไมถึงเจ๊ง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การบินไทย

        นายธนาธร กล่าวต่อว่า การบินไทย ไม่ใช่สายการบินเดียวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่มีสายการบินอื่นอีกด้วย ที่ผ่านมาเงินเดือนและสวัสดิการของการบินไทย สูงกว่าสายการบินอื่น ๆ ในเอเชีย แต่ประสิทธิภาพต่อพนักงานหนึ่งคนต่ำกว่ามาก โดยค่าเฉลี่ยพนักงาน 1 คนของการบินไทย สร้างยอดขายได้เพียง 8.8 ล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสายการบินอื่น ที่อยู่ที่ 11.7 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้บริหารและการบริหารองค์กร ที่ไม่สามารถเอาศักยภาพของพนักงานมาแปรเป็นรายได้และกำไรได้ ดังนั้น คงหนีไม่พ้นการปฏิรูปครั้งใหญ่ หากยังเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีสายการบินแห่งชาติต่อไป

ธนาธร แนะปลายทางการบินไทย ปล่อยล้มละลาย หรือ ยึดกลับมาเป็นของรัฐ

มีปลายทางเลือกให้ 4 ทาง ดังนี้...

        1. เปิดเสรีน่านฟ้า โดยรัฐบาลไม่ต้องถือหุ้นการบินไทยเลย แล้วให้สายการบินอื่น ๆ แข่งขันกันอย่างเสรี

        2. เปิดเสรีน่านฟ้า หุ้นการบินไทยที่รัฐบาลถือต้องไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้กลไกตลาด มีอำนาจพอที่จะกำกับการบินไทยได้

        3. ทำแบบปัจจุบัน ที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์

        4. รัฐบาลถือหุ้นการบินไทย 100 เปอร์เซ็นต์


แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 ทางคือ...

        1. ปล่อยการบินไทยล้มละลายไปเลย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการ ถ้ามีคนสนใจ ผู้ซื้อรายใหม่จะไปดำเนินการต่อเอง ซึ่งนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า ที่ทุกสายการบินจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยสุดท้ายรัฐบาลจะถือหุ้น 0 เปอร์เซ็นต์ ในการบินไทย ประชาชนได้ตั๋วราคาถูกลง มีเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น

        2. การเข้าไปช่วยการบินไทยปล่อยกู้ในระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือล้มละลายอย่างมีการจัดการ (Bridge Loan)

        3. ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) ตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ออกให้หมด ซึ่งจะไปสู่จุดจบแบบไหนก็ได้ รัฐบาลถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ (nationalization) เหมือนกรณีเจแปนแอร์ไลน์ จากนั้นนำการบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูและปรับปรุงกิจการ ในอนาคตรัฐบาลอาจลดการถือหุ้นลง หรือถือ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเดิมก็ได้

ธนาธร ชี้ มีแค่ 5 กลุ่ม ที่สามารถซื้อการบินไทยได้

นายธนาธร กล่าวว่า ผู้ที่มีศักยภาพในไทยที่สามารถซื้อกิจการการบินไทยได้ มีเพียงแค่ 5 กลุ่ม ได้แก่...

        - กลุ่มซีพี

        - กลุ่มเบียร์ช้าง

        - กลุ่มบีทีเอส

        - กลุ่มกัลพ์

        - กลุ่มคิง เพาเวอร์ ซึ่งทั้ง 5 ธุรกิจ สามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้


        นอกจากนี้ ในส่วนของต่างชาติ แคนดิเดตที่เป็นไปได้ คือสายการบินจากประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกันสูง แต่ก็เป็นไปได้ลำบาก เพราะสายการบินใหญ่ ๆ ทั่วโลกล้วนแต่ประสบปัญหาความลำบากในช่วงนี้เช่นกัน ดังนั้นโอกาสที่สายการบินใหญ่ ๆ จะมีศักยภาพเข้ามาซื้อกิจการการบินไทยในช่วงนี้มีน้อยมาก

        กลุ่มสุดท้ายคือกองทุนจากภาคการเงิน ทั้ง Private equity หรือ Hedge Fund เข้ามาซื้อกิจการที่มีปัญหาและฟื้นฟูกิจการเพื่อขายในตลาดเอากำไร

ธนาธร แนะทางที่ดีที่สุดฟื้นการบินไทย เปิดน่านฟ้าเสรี-รัฐบาลต้องถอนตัว


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การบินไทย

        ในภาวะแบบนี้ถ้ารัฐบาลถือหุ้นใหญ่ก็จะกลับไปสู่แบบเดิม วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การเปิดเสรีน่านฟ้า และให้รัฐบาลไม่ต้องถือหุ้น หรือถือหุ้นน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ และใช้ต่อเมื่อมีวิกฤตและความจำเป็น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าข้อเสนอของรัฐบาลในปัจจุบันนี้

        เพราะเมื่อเจ๊งประชาชนรับ แต่กำไรผู้ถือหุ้นเอาไป ไม่มีความยุติธรรมกับประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลมีทางเลือกอื่นที่ประชาชนไม่ต้องรับต้นทุนทั้งหมดของการอุ้มการบินไทย ในขณะที่ถ้าจะเลือกให้รัฐบาลถือหุ้นต่อไป เลือกที่จะถือหุ้นที่เล็ก น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า

        ตนเองเชื่อว่าเงิน 130,000 ล้านบาท เป็นเงินจำนวนที่เยอะ ประเทศไทยมีงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3-4 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณประเทศต่อปี เรากำลังบอกว่า เราจะใช้เงินก้อนนี้ไปอุ้มการบินไทย โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบเลย ผมไม่เห็นด้วย และผมเชื่อว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธนาธร วิเคราะห์ การบินไทย ทำไมถึงเจ๊ง - แนะทางรอด อย่างไรรัฐก็ต้องเลิกอุ้ม ! อัปเดตล่าสุด 12 พฤษภาคม 2563 เวลา 16:23:06 17,693 อ่าน
TOP