x close

"น้องพลาสติกทายใจ" บ่งบอกนิสัยที่ซ่อนเร้น

          ทายนิสัยจากการใช้พลาสติก แบบทดสอบง่าย ๆ ที่จะบอกได้ว่าลึก ๆ แล้วคุณเป็นคนแบบไหน เปรียบได้กับพลาสติกรีไซเคิลชนิดใด มาดูกัน

          เมื่อสองเพื่อนซี้ “พี่มนุษย์” กับ “น้องพลาสติก” กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 19 ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยต้อง Work from Home ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและพึ่งพาการสั่งออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง หรือสั่งอาหารเดลิเวอรี่ จึงทำให้เกิดการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากภาชนะใส่อาหาร หรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แต่หากรู้จักวิธีจัดการที่ดี ถูกต้องตามหลัก “3R” ที่คุ้นเคย คือ “Reduce” ลดการใช้ “Reuse” ใช้ซ้ำ และ “Recycle” กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ยืดอายุการเป็นขยะให้ได้นานที่สุด ก็เท่ากับว่า ช่วยลดปริมาณของขยะพลาสติกได้อีกเยอะเลย
 
          ว่าแต่เพื่อน ๆ รู้ไหม “การรีไซเคิลพลาสติก” นอกจากจะช่วยเซฟโลกได้แล้ว ยังสามารถทายนิสัยว่าคุณเป็นคนยังไง และเปรียบเหมือนกับพลาสติกรีไซเคิลชนิดใดได้อีกด้วยนะ จะแม่นขนาดไหน เราไปลองทำแบบทดสอบกันเลย
 

คำถามที่ 1 : ถ้าได้ถุงหูหิ้วมา 1 ใบ คุณจะเอาไปทำอะไรต่อ ?

คำตอบ :

     A. ทิ้งเลยทันที  (1 คะแนน) ไม่ผ่านการรียูส จะทำให้ถุงกลายเป็นขยะเร็วขึ้น ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น

     B. แยกทิ้งในถังขยะรีไซเคิล (3 คะแนน) รถขยะจะสามารถแยกประเภทได้ง่าย และถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้รวดเร็ว

     C. ใช้เป็นถุงขยะ หรือพกไปใส่ของตอนช้อปปิ้ง (2 คะแนน) วิธีการนี้ถือเป็นการรียูสพลาสติกง่าย ๆ ยืดอายุการเป็นขยะได้นานขึ้น เพราะถุงหูหิ้วมีความเหนียว ทนทาน ใช้ซ้ำได้เรื่อย  ๆ

     D. เก็บรวบรวมแล้วนำไปบริจาค (4 คะแนน) บริจาคได้ที่โครงการวน เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลเป็นถุงกลับมาใช้ได้ใหม่ นำไปหลอมเป็นบล็อกปูถนน หรือทำกระเป๋าได้
 

คำถามที่ 2 : ถ้าดื่มน้ำจากขวดพลาสติกใส (PET) หมดแล้ว คุณเอาไปทำอะไรต่อ ?

คำตอบ :

     A. ทิ้งเลยทันที (1 คะแนน) ไม่นำกลับไปรียูสซ้ำ ปริมาณขยะจะเพิ่มมากขึ้น และถ้าไม่แยกทิ้งอาจทำให้ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม และตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้

     B. แยกทิ้งในถังขยะรีไซเคิล (3 คะแนน) ขวดพลาสติกเหล่านั้นจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานรีไซเคิล แปรรูปกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ใหม่อีกครั้ง

     C. ใส่น้ำดื่มซ้ำ (2 คะแนน) สามารถทำได้อีกหลายครั้ง แต่ต้องระวังเรื่องความสะอาด ไม่ควรใส่น้ำที่ร้อนเกิน 70°C และแช่แข็ง

     D. เก็บไว้ขาย (4 คะแนน) ราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก สมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า) มีรายได้เพิ่ม ลดปริมาณขยะ และทำให้พลาสติกถูกส่งกลับไปรีไซเคิลได้เร็วขึ้น

 

คำถามที่ 3 : คุณทิ้งแก้วกาแฟพลาสติกแบบไหน ?

คำตอบ :

     A. ทิ้งรวมไปกับขยะอื่น  (1 คะแนน) เมื่อไม่แยกจะถูกนำไปฝังหรือเผารวมกับขยะอื่น อาจทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้

     B. ปลูกต้นไม้ (3 คะแนน) ทำได้ทั้งแบบเพาะชำในดิน หรือเพาะเมล็ดในน้ำได้

     C. ล้างแล้วนำกลับมารียูสใช้ใหม่ (2 คะแนน) สามารถนำกลับมาใช้ใส่เครื่องดื่มซ้ำได้ หรือทำเป็นที่ใส่ของในบ้านได้

     D. เก็บไว้ขาย (4 คะแนน) แก้วพลาสติกใส PP ขายได้ราคาประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก สมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า) และจะถูกส่งต่อไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกได้อีก
 

คำถามที่ 4 คุณเลือกวิธีลดขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันแบบไหน ?

คำตอบ :

      A. ไม่เคยลดเลย (1 คะแนน) หากเรายังใช้พลาสติกแบบ Single Use มากจนเกินไป จะส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

      B. ใช้วัสดุทดแทนจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ (3 คะแนน) ใช้ของที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในสภาวะจุลินทรีย์ที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

      C. ลดใช้ถุงพลาสติก (2 คะแนน) หากซื้อของชิ้นเดียวจำนวนไม่มาก เก็บใส่กระเป๋าหรือถือกลับได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติก ขยะพลาสติกก็จะลดลง

      D. รียูสเป็นของใช้ในบ้าน (4 คะแนน) เช่น ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นการลดขยะมูลฝอยและยังยืดระยะเวลาในการเป็นขยะออกสู่สิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นด้วย
 

คำถามที่ 5 : คุณแยกประเภทขยะพลาสติกรีไซเคิลโดยสังเกตจากอะไร ?

คำตอบ :
     A. ไม่ได้แยก ทิ้งเลย (1 คะแนน) อาจทำให้ขยะพลาสติกถูกนำไปกำจัดไม่ถูกวิธี และอาจปนไปกับขยะอื่น เมื่อนำไปฝังหรือเผาอาจมีสารพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้

     B. หมายเลขสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ (4 คะแนน) เป็นวิธีแยกที่แม่นยำที่สุด มีทั้งแบบหมายเลข 1-7 หรืออาจเป็นตัวย่อชนิดของพลาสติก

     C. แยกจากสี (2 คะแนน) เช่น ขวดสีใสเป็นพลาสติก PET, ขวดใสขุ่นเป็นพลาสติก PP, ขวดทึบ หลากสี เป็นพลาสติก HDPE แต่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก

     D. การใช้งาน (3 คะแนน) พลาสติกแต่ละประเภทผลิตมาเพื่อการใช้งานที่ต่างกัน อาจแยกประเภทผ่าน ๆ ได้จากการสังเกตรูปลักษณ์ภายนอก แต่ไม่ใช่วิธีที่แม่นยำ
 
มาดูสิว่า คุณเป็นคนประเภทไหน
จากการรีไซเคิลขยะจากพลาสติก

1-5 คะแนน : “มั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง”

คุณคือพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE)
หรือ โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC)

          คุณเป็นคนมั่นใจ อดทน กล้าได้กล้าเสีย เด็ดขาด เจ้าระเบียบ ยึดติด ชอบอะไรเดิม ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และไม่ไว้ใจคนง่าย ๆ
 

          เปรียบได้กับพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เหนียว แข็งแรง ทนสารเคมี กรด-ด่าง และสารทำละลาย ความชื้นและก๊าซซึมผ่านได้ยาก เช่น ขวดน้ำยาต่าง ๆ ใช้ซ้ำได้จนกว่าจะแตกหรือพัง รีไซเคิลได้เป็นพลาสติกที่มีประโยชน์ใช้สอยแบบเดิม ส่วนพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) แข็งแรง ทนทาน ทนน้ำ ทนสารเคมี ผลิตให้มีสีสันได้ทุกสี เช่น อุปกรณ์ด้านงานช่างและวัสดุเกี่ยวกับบ้าน

6-10 คะแนน : “เปราะบาง ใจเย็น โลกส่วนตัวสูง”

คุณคือ พลาสติกโพลีสไตรีน (PS)
หรือ โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE)

          คุณเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน อ่อนไหว เปราะบาง ใจเย็น เก็บความรู้สึกเก่ง ชอบช่วยเหลือคนอื่น จิตใจเมตตา ชอบบริจาค ไว้ใจคน ซื่อสัตย์ มารยาทดี อารมณ์ดี ขี้เล่น แต่โลกส่วนตัวสูง
 

          เปรียบได้กับพลาสติกรีไซเคิลโพลีสไตรีน (PS) ใส แข็งแต่เปราะบางเมื่อถูกกระแทก ทนต่อกรด-ด่าง ความร้อน-ความเย็นได้ปานกลาง ขึ้นรูป ทำเป็นสีต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน จาน-ถ้วย-กล่องโฟม ส่วนพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) มีความโปร่งแสง ใส นิ่ม ยืดหยุ่นได้ดี ไม่ทนความร้อน แต่ทนความเย็นได้ เช่น ถุงซิปล็อก

11-15 คะแนน : “เป็นผู้นำ มีความอดทนสูง”

คุณคือ พลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP)

         คุณเป็นคนมีความเป็นผู้นำ ความอดทนสูง ชอบลุย ทะเยอทะยาน ใจร้อน ดื้อเงียบ ไม่ชอบให้ใครมาขัด รักอิสระ โลกส่วนตัวสูง และชอบรักษาอาการให้ดูดีในสายตาคนอื่นเสมอ
 

         เปรียบได้กับพลาสติกรีไซเคิลโพลีโพรพิลีน (PP) เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา แต่กลับมีความแข็งแรง อึด ทนต่อแรงกระแทก และทนความร้อน เช่น ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่ทนร้อน หลอดดูดพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหารที่นำเข้าไมโครเวฟได้

16-20 คะแนน : “สายครีเอทีฟ เฟรนด์ลี่ ขี้เล่น รักษ์โลก”

คุณคือ พลาสติกโพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (PET)
พลาสติกอื่น ๆ (Other) หรือ พลาสติกชีวภาพ (PLA)

          คุณเป็นคนจริงใจ มีความครีเอทีฟสูง มีเสน่ห์ ช่างสังเกต เอาใจใส่ ละเอียดอ่อน มองโลกในแง่ดี เฟรนด์ลี่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย คิดถึงคนอื่นก่อนตนเอง ชอบช่วยผู้อื่น รักสิ่งแวดล้อม โกรธง่าย หายเร็ว และหลงตัวเอง
 

          เปรียบได้กับพลาสติกโพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (PET) ดูโปร่งใสให้เห็นถึงเนื้อใน เหนียว และทนแรงกระแทก เมื่อนำไปรีไซเคิลแปรรูปใหม่แล้วใส่ไอเดียลงไป จะได้เป็นสิ่งของที่น่าสนใจต่างไปจากเดิม เช่น ทำเสื้อผ้า เสื้อกันหนาว พรม ไส้หมอน ส่วนพลาสติกอื่น ๆ (Other) ไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มพลาสติกชนิดไหน เป็นมิตรกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ นำไปหลอมรวมกันเพื่อรีไซเคิลได้ หรือพลาสติกชีวภาพ พอลิแลกติกแอซิด (PLA) หรือพอลิบิวทิลีนซักซิเนต (PBS) แข็ง เหนียว ปานกลาง สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (Biodegradable)
 

          เมื่อได้ถอดรหัสจากการใช้ “น้องพลาสติก” กันไปแล้ว ทีนี้คงได้รู้จักนิสัยที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ในตัวเองมากขึ้น หวังว่าแบบทดสอบนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาใส่ใจและรู้จักใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์ซ้ำ ๆ เพื่อลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วยกันนะ “ไม่ทอดทิ้งน้อง ขอร้องล่ะ”  … จากน้องพลาสติก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"น้องพลาสติกทายใจ" บ่งบอกนิสัยที่ซ่อนเร้น อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2563 เวลา 16:43:22 11,925 อ่าน
TOP