x close

เงื่อนไข จ้างแรงงานต่างด้าว มาขายของหน้าร้าน-กรรมกร มีอะไรบ้าง เริ่ม 20 มิ.ย. 63


          กรมการจัดหางาน ออกประกาศ การจ้าง แรงงาน ต่างด้าว ขายของ-กรรมกร ต้องระบุอาชีพในใบอนุญาตทำงานให้ชัดเจน ร้านค้าจ้างขายของได้ไม่เกิน 20 คน เริ่มบังคับใช้ 20 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

กฎหมายแรงงานต่างด้าว
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          วันที่ 19 มิถุนายน 2563 ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้มีการออกประกาศเงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกร และงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อกำหนดเงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

กฎหมายแรงงานต่างด้าว
ภาพจาก สปริงนิวส์

          เงื่อนไขร้านค้าที่รับต่างด้าวมาขายของหน้าร้าน

          - ผู้ประกอบการ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ หรือในกรณีร้านค้าที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ให้นายจ้างแสดงใบอนุญาต หนังสือรับรอง หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ เพื่อประกอบพาณิชยกิจ

          -  นายจ้างต้องรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านตามหลักสัดส่วน สูงสุดไม่เกิน 20 คน โดยจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ที่กำหนดสัดส่วนการรับคนต่างด้าวได้ตั้งแต่ 1-10 คน

          ตัวอย่างเช่น

          - รอบปีภาษีที่ผ่านมา หากได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินได้ สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 1 คน

          - หากชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ 1-50,000 บาท สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 3 คน
 
          - หากเสียภาษีชำระภาษีเงินได้ เกินกว่า 50,000 บาท ทุก ๆ 50,000 บาท จะสามารถจ้างคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านเพิ่มได้ 1 คน แต่ไม่เกิน 10 คน

          - หากต้องการจ้างงานมากกว่า 10 คน ให้ใช้หลักเกณฑ์การจ้างงานมาใช้พิจารณา คือ นายจ้างที่มีลูกจ้างคนไทย 30 คน สามารถรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเพิ่มได้ 1 คน และถ้ามีการจ้างคนไทยเพิ่มทุก ๆ 10 คน ให้รับคนต่างด้าวได้อีก 1 คน ซึ่งกำหนดเกณฑ์ไว้สูงสุดคือ นายจ้างจะสามารถรับคนต่างด้าวเข้าทำงานขายของหน้าร้านได้ไม่เกิน 20 คน

กฎหมายแรงงานต่างด้าว
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ภาพจาก joloei / Shutterstock.com

          เงื่อนไขการรับต่างด้าวมาเป็นกรรมกร

          ไม่ได้กำหนดจำนวนที่สามารถจ้างได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต่างด้าวผู้ที่จะสามารถทำงานกรรมกร และงานขายของหน้าร้านได้ จะต้องมีการระบุเอาไว้ในใบอนุญาตทำงานระบุสิทธิว่า สามารถทำงานกรรมกร หรืองานขายของหน้าร้าน เท่านั้น โดยในงานขายของหน้าร้านต้องระบุนายจ้างด้วย 

          กรณีที่มีใบทำงาน แต่ไม่ระบุว่าทำงานหน้าร้านหรืองานกรรมกร

          นายจ้างหรือสถานประกอบการสามารถยื่นคำขอเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทงานกรรมกร หรืองานขายของหน้าร้าน ในใบอนุญาตทำงาน ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ที่เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ หรือโทร. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน  

กฎหมายแรงงานต่างด้าว
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          บทลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎ

          หากคนต่างด้าวและนายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคนต่างด้าวจะมีความผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และเมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

          ส่วนนายจ้างจะมีความผิดตามมาตรา 9 สำหรับการกระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และหากเป็นการกระทำความผิดครั้งที่ 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ไทยพีบีเอส



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงื่อนไข จ้างแรงงานต่างด้าว มาขายของหน้าร้าน-กรรมกร มีอะไรบ้าง เริ่ม 20 มิ.ย. 63 อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2563 เวลา 15:28:31 30,481 อ่าน
TOP