ส่องไทม์ไลน์ชีวิตน้องพลาสติกตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมอย่างทุกวันนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง ? ก่อนจะเข้าสู่ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะมาเปลี่ยนโลกของพลาสติกไปตลอดกาล
รู้ไหมว่า จริง ๆ แล้วน้องพลาสติกกับพี่มนุษย์ผูกพันและอยู่เคียงข้างพึ่งพาอาศัยกันมาเป็นร้อย ๆ ปี นับจากวันแรกที่เกิดขึ้นมาบนโลกจวบจนวันนี้ วิวัฒนาการของฉันก้าวกระโดดไปมาก เลยอยากชวนพี่ ๆ มานั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลากลับไปดูเส้นทางสำคัญในชีวิต และสุดท้ายฉันจะอยู่บนโลกนี้ต่อไปอย่างไร มาดูกัน...
ก่อนฉันเกิดมา พี่มนุษย์ใช้อะไรกันนะ
กว่าน้องพลาสติกโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จะถูกใช้อย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ มนุษย์เริ่มต้นจากการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกของผลไม้ มะพร้าว ลูกน้ำเต้า ใบไม้ เปลือกหอย มาก่อน และเริ่มพัฒนาเป็นเครื่องปั้นดินเผาช่วยเก็บอาหาร สามารถขนส่งไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น จนมาสู่ขวดแก้ว แล้วต่อยอดมาเป็นกระดาษ กล่องกระดาษลูกฟูก และกระป๋องโลหะ ตามลำดับ
วิวัฒนาการของน้องพลาสติกในอดีต
มนุษย์เริ่มรู้จักนำโพลีเมอร์จากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่โบราณ ใช้เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ใช้ปูพื้นที่อยู่อาศัย เป็นต้น พอเวลาผ่านไป เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามาทำให้วิวัฒนาการของโพลีเมอร์เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากการใช้ประโยชน์จากยางธรรมชาติจนมาสู่การผลิตเป็นพลาสติกในปัจจุบัน เรามาย้อนดูประวัติการสังเคราะห์พลาสติกของโลกที่เกิดขึ้นกัน
และหลังจากนั้นมา น้องพลาสติกก็ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอ
น้องพลาสติกในโลกปัจจุบัน
จากวันนั้นมาจนวันนี้ พลาสติกถูกพัฒนาและเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันพลาสติกผลิตมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มีสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เมื่อทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นสารโมโนเมอร์ (Monomers) สร้างพันธะเกาะเกี่ยวกันไปเรื่อย ๆ จนเป็นสายโพลีเมอร์เส้นยาว ๆ (Polymers) เอาไว้ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นก่อนจะถูกส่งไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป (อ่านเพิ่มเติมได้ที่
I Am Plastic : ความในใจของน้องพลาสติก) และด้วยความแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา และที่สำคัญคือ ราคาถูก พลาสติกจึงกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญแทบจะในทุกอุตสาหกรรม
ก้าวสู่ยุคของพลาสติกชีวภาพ
เมื่อความต้องการใช้สูงขึ้น ประกอบกับพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายที่ยาวนานกว่า 450 ปี ทำให้เกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อม “พลาสติกชีวภาพ” (Bioplastics) ที่ผลิตมาจากพืชและวัสดุธรรมชาติ อย่าง ข้าวโพด น้ำตาล มันสำปะหลัง จึงถูกผลิตขึ้นมาช่วยลดปัญหาการย่อยสลายของพลาสติกลง มีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกทั่วไป ใช้งานทดแทนกันได้ และย่อยสลายทางชีวภาพได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ GREEN FOR LIFE ของกลุ่ม ปตท. อย่างแก้วเครื่องดื่ม Amazon Bio Cup ของร้าน Café Amazon ที่ทำจากเม็ดพลาสติกชนิด PLA และ BioPBS ทำจากพืช ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (Biodegradable) ซึ่งในกระบวนการผลิตสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 50%
อนาคตของน้องพลาสติกกับ Circular Economy
ก่อนหน้านี้ ระบบการผลิตพลาสติกใช้โมเดล “Linear Economy” เป็นเศรษฐกิจแบบเส้นตรง นำทรัพยากรมา “ผลิต ใช้ ทิ้ง” (Take - Make - Dispose) เกิดเป็นขยะจำนวนมากอย่างที่เห็น แต่ยุคใหม่ของน้องพลาสติกในวันนี้จะก้าวเข้าสู่ “Circular Economy” หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ช่วยทำให้พลาสติกที่มีอยู่ในระบบกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ยืดอายุการใช้งานวัสดุที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจให้นานที่สุด ผ่านความร่วมมือร่วมใจกันตั้งแต่ต้นน้ำ คือผู้ผลิตสินค้าไปจนจบที่ปลายทาง คือผู้บริโภค ผ่านหลักการ 3 ข้อ คือ
Make : ออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Use : นำไปใช้อย่างคุ้มค่า ยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น
Return : เมื่อใช้เสร็จแล้วนำกลับมาหมุนเวียนใหม่ หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกเป็นวงจรไม่รู้จบ
หลักการนี้จะช่วยให้พลาสติกไม่ต้องกลายเป็นขยะไร้ค่า สามารถสร้างประโยชน์ได้อีกมากมาย ที่สำคัญเราเริ่มได้เห็นแนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ
เยอรมนี : ออกกฎหมายควบคุมการเพิ่มจำนวนของขยะมูลฝอย รวมถึง Circular Economy Policy สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ได้ถึง 14% ทำให้อุตสาหกรรมจัดการของเสียเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 คน ในปี 2016 สามารถสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 4 หมื่นล้านยูโร
ญี่ปุ่น : ใช้กฎหมายส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล ทำให้เหลือขยะที่ไม่ได้นำกลับไปใช้ใหม่เพียง 5% เท่านั้น รัฐบาลเข้มงวดและให้ความสำคัญกับการแยกขยะ สร้างระบบให้ง่ายและอำนวยความสะดวกกับประชาชน
เนเธอร์แลนด์ : ประกาศนโยบายออกแบบสินค้าที่ใช้วัสดุตั้งต้นน้อยลง มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว เมื่อใช้งานแล้วต้องนำกลับมาใช้ได้อีก และต้องสามารถรีไซเคิลได้
ในส่วนของภาคธุรกิจในเมืองไทย ได้ให้ความสำคัญกับ Circular Economy โดยนำไปปรับใช้กับการผลิตสินค้าและออกแบบบริการ ให้ธุรกิจเดินหน้าไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการรวมกลุ่มกันในชื่อ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่ม ปตท. ได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกผ่านโครงการ Upcycling Plastic Waste Project แปรรูปพลาสติกที่ใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นำมาจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายทางการค้า Upcycling by GC, นำวัสดุเหลือใช้ภายในร้านและโรงคั่วกาแฟมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่งร้าน Cafe Amazon Circular Living และเปลี่ยนแก้วในร้านเป็นวัสดุที่ทำจากพืชย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100% และร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับที่พักอาศัยมาทำเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก เป็นต้น รวมถึงยังมีแผนในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกครบวงจรระดับสากลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET และ rHDPE เพื่อจัดการของเสียพลาสติก ไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. โดย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ยังได้สนับสนุนการลดขยะพลาสติก โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ผ่านการแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากพลาสติกอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เป็นไปตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 560 ตัน/เดือน
บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ออกแบบขวดน้ำดื่ม PET แบบเบาพิเศษ สามารถบิดได้ ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 35% สามารถบิดและเก็บสะสมก่อนส่งกลับไปรีไซเคิลได้โดยไม่เปลืองพื้นที่
บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ลงพื้นที่แนะนำวิธีคิดและออกแบบสินค้าให้กับคนในชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำขยะพลาสติกมาถักทอเป็นเส้นใยประดิษฐ์เป็นสินค้าแฟชั่น อาทิ กระเป๋าถือ กระเป๋าช้อปปิ้ง และกระเป๋าล้อลากในแบรนด์กู้ด กู้ดส์
มาถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย “น้องพลาสติก” ก็ยังคงเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพี่มนุษย์ ดังนั้น เมื่อเรามาร่วมแรงร่วมใจจับมือกันก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่เรียกว่า Circular Economy ก็จะยิ่งทำให้เราทั้งสองเกื้อหนุนและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไปอีกนานแสนนาน Happy Ending...
ขอบคุณข้อมูลจาก
กลุ่ม ปตท., ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร, กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย ดร.อรสา อ่อนจันทร์, craftechind.com, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, chemtrack.org, dspace.spu.ac.th, scbeic.com, สำนักวิชาการ, มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, haadthip.com , เฟซบุ๊ก Good Goods
รวมรูปภาพ เปิดไทม์ไลน์ชีวิต
อ่านเนื้อหาเต็มของอัลบั้มนี้