x close

อ.เจษฎา เผยสาเหตุ ซูชิเรืองแสง อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คล้ายลูกชิ้นปลาเรืองแสง ปี 53

            อ.เจษฎา ไขที่มาซูชิเรืองแสงได้ หลังหนุ่มซื้อมาจากร้านในห้างดังแต่พบกุ้งแสงเป็นสีฟ้า อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คล้ายลูกชิ้นปลาเรืองแสง ปี 2553 ชี้ทางที่ดีควรส่งตรวจสอบไม่ควรกิน


ซูชิเรืองแสง

          จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ซื้อซูชิจากร้านอาหารญี่ปุ่นในห้างสรรพสินค้า ย่านงามวงศ์วาน กลับมาที่บ้านแต่ก่อนที่กำลังจะกินกลับต้องตกใจเมื่อพบว่าซูชิหน้ากุ้งสามารถเรืองแสงในความมืดได้นั้น

          ล่าสุด (29 กรกฎาคม 2563) รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ควรส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบว่าเกิดจากอะไรจึงจะได้คำตอบชัดเจนที่สุด แต่ถ้าจะสันนิษฐานว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง ก็อาจจะเทียบเคียงได้กับกรณีที่เคยมีคนพบ "ลูกชิ้นปลาเรืองแสง" เมื่อปี 2553 ซึ่งกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เคยอธิบายไว้ว่า มีสาเหตุที่เป็นไปได้ 3 อย่างคือ

ซูชิเรืองแสง

            1. อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในทะเล กลุ่ม photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ (เช่น Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum) ที่เชื้อดังกล่าวอาจติดมากับปลาที่ใช้ทำลูกชิ้น แต่เชื้อพวกนี้จะถูกทำลายไปด้วยความร้อนระหว่างการผลิตลูกชิ้น ถ้าพบเยอะขนาดที่เรืองแสงบนลูกชิ้นได้ แสดงว่าอาจปนเปื้อนหลังผ่านความร้อนแล้ว และเก็บลูกชิ้นไว้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำเพียงพอ (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น

            2. ปลาที่เอามาทำลูกชิ้นนั้น อาจกินแพลงก์ตอนสาหร่ายกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต หรือเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ เช่น Vibrio harveyi ที่เรืองแสงในน้ำได้

            3. อาจมีการเติมสารเคมีบางชนิดที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ เช่น วัตถุเจือปนอาหารประเภทฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น และทำให้เกิดความนุ่มเหนียว รวมถึงสารฟอกขาว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์


            ดังนั้น หากประเมินจากแค่ 3 สาเหตุนี้ การที่ซูชิหน้ากุ้งดิบจะเรืองแสงได้น่าจะมาจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงที่เนื้อกุ้ง มากกว่าเรื่องของใส่สารเคมี ซึ่งก็ต้องเอาไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน มีอันตรายแค่ไหน รวมไปถึงที่มาว่ามีปัญหาในเรื่องสุขลักษณะในการผลิตและเก็บรักษาหรือไม่

            สิ่งที่พอจะแนะนำได้คือหากพบลักษณะอาหารผิดปกติแบบนี้ก็ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะนอกจากเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงได้ ก็อาจมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดอื่น ๆ ด้วย อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้

ซูชิเรืองแสง
ภาพจาก One31

ซูชิเรืองแสง
ภาพจาก One31

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา เผยสาเหตุ ซูชิเรืองแสง อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คล้ายลูกชิ้นปลาเรืองแสง ปี 53 อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 10:48:00 15,177 อ่าน
TOP