x close

หมอไขความจริง คดีบอส กระทิงแดง เป็นไปได้ไหม ที่จะไม่เสพโคเคน - ใครใช้ต้องเอาใบมายัน


           นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ให้ความรู้กระบวนการตรวจสารพิษ ชี้ ผลการตรวจเป็นผลยืนยันชัด หากบอกว่าเจอโคเคนก็คือเจอโคเคน ไม่มีทางเจอเป็นส่วนประกอบยาอื่นแล้วบอกว่าเป็นโคเคน ส่วนการใช้ ทันตแพทย์ต้องมีใบอนุญาต

นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์

           กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หลุดคดีขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีจุดที่คาใจสังคมเพิ่มเติมตรงที่ มีข่าวออกมาว่า สารโคเคนที่พบในร่างกาย จากการเผยแพร่ในเอกสารของ รพ.รามาธิบดี อ้างว่าเป็นเพราะมาจากการทำฟัน

           ล่าสุด วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เฟซบุ๊ก Smith Fa Srisont ของ นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนิติพิษวิทยา มีรายละเอียดดังนี้

           1. เวลาตรวจสารพิษ จะมีการทดสอบเฉพาะซึ่งเราจะสามารถหาสารพิษได้มากกว่า 1,000 ตัว ฉะนั้น ผลที่ออกมาถือเป็นผลที่ยืนยันชัดเจน ถ้าบอกว่าเป็นโคเคน ก็คือ เจอโคเคน ไม่ได้เป็นการเจอยาชนิดอื่นแล้วมีโคเคนเป็นส่วนประกอบของยาตัวนี้

           2. โคเคนมีใช้ในการแพทย์จริง แต่น้อยมาก ส่วนในแง่ทันตแพทย์ คุณหมอไม่แน่ใจ เห็นในอินเทอร์เน็ตบอกว่ามีใช้ แต่บางคนก็บอกว่า เลิกใช้ไปนานแล้ว

           3. สิ่งสำคัญคือ โคเคนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 เหมือนมอร์ฟีน การจะใช้ต้องมีใบอนุญาต ดังนั้น ทันตแพทย์ต้องมีใบพวกนี้มายืนยัน ถ้าไม่ใช้เอกสารยืนยัน ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ ระดับโคเคนในเลือดต้องมีน้อยมาก ๆ ต่างจากระดับที่เจอในการเสพยาเสพติด

วรยุทธ อยู่วิทยา

           4. โคเคนมี metabolite ที่สกรีนหา คือ benzoylecgonine และ ecgonine methyl ester ซึ่งสองตัวนี้ถ้าตรวจเจอแสดงว่าเกิดจากการใช้โคเคนเท่านั้น นอกจากนี้หากใช้โคเคนร่วมกับเอทานอล จะเกิด metabolite พิเศษชื่อ cocaethylene ซึ่งรามาฯ ก็จะสกรีนหาด้วย โดยปกติเราจะหา metabolite ทั้งหมดนี้ในเลือดกับปัสสาวะ เพราะตัวโคเคนเองมักตรวจไม่เจอเนื่องจากสลายไปได้เร็วหลังใช้

           5. หากเราตรวจเจอสารเสพติดในปัสสาวะ สามารถสรุปได้ว่ามีการเสพหรือใช้ยาเท่านั้น แต่อาจเสพมานานกว่านั้น 1-2 วันก่อนก็ได้ ฉะนั้น ถ้าเกิดเหตุทำนองว่ารถชน แล้วสงสัยว่าเสพยาเสพติด ควรตรวจเลือดร่วมด้วย เมื่อพบสารต้องสงสัยก็ต้องตรวจหาปริมาณ เพื่อยืนยันว่า สารนั้นออกฤทธิ์ให้มึนเมาจริง

           ดังนั้น หากตำรวจต้องการรู้แค่ว่าเคยเป็นผู้ใช้สารเสพติดไหม ก็ตรวจปัสสาวะหรือเส้นผมก็พอ

           6. ในต่างประเทศ หากมีคนอ้างว่าดื่มเหล้าหลังขับรถ ตำรวจจะให้นักนิติพิษวิทยา คำนวณโดยใช้ประวัติปริมาณเหล้าที่กินหลังขับชน ร่วมกับตัวแปรอื่น ๆ รวมถึงเวลาเจาะเลือดกับผลตรวจแอลกอฮอล์ว่าถูกไหม เช่น หลังขับรถแล้วเครียด ดื่มเบียร์ไป 2 กระป๋อง แต่กลับตรวจแอลกอฮอล์ได้ 200 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งวิธีแบบนี้ในไทยยังไม่ยอมรับ

           สรุปคือ หากมีการส่งผลให้ทางโรงพยาบาลตรวจหาโคเคน แล้วทางโรงพยาบาลตรวจเจอโคเคน นั่นคือเสพโคเคนเข้าไปจริง ไม่ใช่ใช้สารอย่างอื่นที่มีโคเคนเป็นส่วนประกอบ

นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์

นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอไขความจริง คดีบอส กระทิงแดง เป็นไปได้ไหม ที่จะไม่เสพโคเคน - ใครใช้ต้องเอาใบมายัน อัปเดตล่าสุด 31 กรกฎาคม 2563 เวลา 09:45:54 28,432 อ่าน
TOP