เจาะลึกเรื่อง “พลังงานสะอาด” พลังงานสำคัญที่จะมาเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น และพร้อมจะขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
หลายปีมานี้ เรื่องของ “พลังงานสะอาด” เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจทั้งในภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างมลภาวะจากกระบวนการผลิต จึงเริ่มมีการนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพลังงานทางเลือกชนิดนี้กัน ว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง ?
พลังงานสะอาด หรือ พลังงานสีเขียว (Green Energy) คือ พลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต แปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และจัดการกากหรือของเสีย อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และพลังงานจากธรรมชาติก็ยังสามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด แตกต่างจากเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบและถ่านหินที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด ใช้แล้วอาจหมดไปได้ในวันหนึ่ง และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในระหว่างการเผาไหม้อีกด้วย
สาเหตุที่ทำให้ทั่วโลก รวมถึงไทย ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เนื่องจากว่าพลังงานสะอาดมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบกับระบบนิเวศ และยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้นในระยะยาว
แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนที่สูง แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงาน รวมถึงภาครัฐ ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้ใช้พลังงานสะอาดในราคาที่ถูกลงและจับต้องได้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และประชาชนทั่วไป
แหล่งพลังงานสะอาดที่มาจากธรรมชาติต่างก็มีข้อดีและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละชนิดจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ด้านไหนได้บ้าง ลองตามมาดูกันค่ะ
พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
1. การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน เช่น การผลิตน้ำร้อนและการอบแห้ง
2. การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า โดยอาศัยอุปกรณ์เป็นตัวกลางที่เรียกว่า “เซลล์แสงอาทิตย์” หรือ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) นั่นเอง
ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าสนใจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้คิดค้น “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” (Floating Solar on Sea) นวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย เป็นโครงการนำร่องในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ขนาด 100 กิโลวัตต์ แล้วนำไปใช้ภายในสำนักงานของบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ก่อนจะนำมาเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนาสู่รูปแบบทางธุรกิจต่อไป
โดยจุดที่น่าสนใจของโซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเลนี้ คือ การใช้เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ “InnoPlus HD8200B” เป็นวัสดุหลักในการผลิตทุ่นลอยน้ำ มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ขึ้นรูปง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์น้ำ และพืชในทะเล ลดการสะสมของเพรียงทะเล และเพิ่มสารป้องกันรังสียูวี จึงช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานถึง 25 ปี
ผลจากการติดตั้งโซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเลนี้ พบว่าสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นองค์ความรู้ให้กับเยาวชน ผู้ที่สนใจ และชุมชน นำไปต่อยอดได้อีกด้วย
พลังงานลม
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “ลม” โดยอาศัย “กังหันลม” เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนพลังงานจลน์ หรือการเคลื่อนที่ของลมให้กลายเป็นพลังงานกล นำไปใช้สูบน้ำ บดเมล็ดพืช และผลิตไฟฟ้า ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความเร็วลมสม่ำเสมอ ซึ่งในประเทศไทยมีแค่บางพื้นที่และยังอยู่ในช่วงพัฒนาและสาธิตเป็นส่วนใหญ่
ตัวอย่างเช่น โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 0.82 ล้านลิตรต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,011 ตันต่อปี และโครงการสาธิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าประมาณ 3.4 ล้านหน่วยต่อปี เพื่อใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณ 290 ล้านตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000 ตันต่อปี
พลังงานน้ำ
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “น้ำ” โดยอาศัย “กังหันน้ำ” ในการเปลี่ยนพลังงานจลน์ (การไหลของน้ำ) ให้กลายเป็นพลังงานกล หลักการเดียวกับการผลิตพลังงานด้วยกังหันลม ก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า เริ่มจากทำการเก็บน้ำไว้ในเขื่อน ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำ ก่อนจะปล่อยกระแสน้ำจากที่สูงลงไปหมุนกังหันน้ำเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งปริมาณของพลังงานที่ได้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับน้ำ ปริมาณน้ำ และประสิทธิภาพของกังหันน้ำ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น เขื่อนภูมิพล บริเวณเขาแก้ว จ.ตาก ที่มาพร้อมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 779.2 เมกะวัตต์ และให้พลังงานไฟฟ้าปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
พลังงานชีวมวล
พลังงานสะอาดที่ได้มาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น เศษไม้ ฟางข้าว ชานอ้อย ซังข้าวโพด กะลามะพร้าว น้ำเสียจากโรงงาน หรือมูลสัตว์ต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น นำไปหมักเพื่อดูดก๊าซชีวภาพมาใช้ การเผาเพื่อเอาความร้อนเป็นกระแสไฟฟ้า และการใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือไอน้ำในโรงงาน เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีปัญหามูลสัตว์เรี่ยราดในหมู่บ้าน จนได้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ด้วยการขุดหลุม ลงถุงก๊าซ แล้วหมั่นใส่มูลสัตว์และวัสดุเหลือใช้ลงไปเรื่อย ๆ จนทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนมีก๊าซใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยประหยัดเงินและประหยัดการเติมแก๊สได้มากเลยทีเดียว
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “ความร้อนใต้ผิวโลก” ที่มักเห็นกันในรูปแบบของน้ำพุร้อน ไอน้ำร้อน และโคลนเดือด โดยอาศัย “กังหันไอน้ำ” เปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงาน มีหลักการก็คือ ใช้แรงดันจากไอน้ำร้อนที่จะเคลื่อนตัวไปหมุนกังหันจนเกิดเป็นพลังงาน ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ผลิตไฟฟ้า ด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าสาธิต ณ บ่อน้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เป็นการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ 2 วงจรโดยตรงแห่งแรกของไทยและอาเซียน มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,200,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ก๊าซธรรมชาติ
แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานจากซากฟอสซิล แต่เป็นเชื้อเพลิงที่ผ่านการคัดแยกสิ่งเจือปนและองค์ประกอบก่อนนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ น้ำหนักเบา ติดไฟยาก มีความปลอดภัย มีการเผาไหม้แบบสมบูรณ์ เป็นพลังงานสะอาด ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่น ๆ อย่างน้ำมันดิบหรือถ่านหิน อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานทดแทนได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตโรงไฟฟ้าแทนถ่านหิน และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์แทนน้ำมันเบนซินหรือดีเซล หรือที่เรียกว่า NGV มีประสิทธิภาพ ไร้เขม่า ควันดำ และสารพิษ แถมปริมาณไอเสียที่ออกมาก็ยังน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นอีกด้วย
นับเป็นสัญญาณดีที่หลายฝ่ายเริ่มสนใจนำพลังงานสะอาดมาใช้ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เชื่อแน่ว่าจากจุดเริ่มต้นนี้ หากได้รับการพัฒนาและต่อยอด ประเทศไทยจะมีพลังงานสะอาดใช้ในอนาคตอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญยังช่วยลดมลพิษลงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย