พาไปทำความรู้จักเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City) จากทั่วโลก ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตประชากรให้ดีขึ้น
หลังจากนานาประเทศทั่วโลกกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนาเมืองต่าง ๆ ให้ก้าวเข้าสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มกำลังสูบ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงประเทศไทยเองก็ต้องการมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 ภายในไม่กี่ปีนี้ เราจะขอพาไปทำความรู้จักกับเมืองอัจฉริยะจากทั่วโลก รวมถึงแนวทางและโครงการน่าสนใจต่าง ๆ ที่ได้รู้แล้วจะว้าวเลยทีเดียว
เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คืออะไร ?
เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มคุณภาพบริการในชุมชน พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ทันสมัย ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น และมีความสุขอย่างยั่งยืน
เมืองอัจฉริยะ ต้องมีอะไรบ้าง ?
การจะก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบได้นั้น ควรมีองค์ประกอบทั้ง 7 ด้าน ดังนี้
1. Smart Environment : สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการให้เป็นระบบ และทำให้ประชาชนรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2. Smart Economy : เศรษฐกิจอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
3. Smart Energy : พลังงานอัจฉริยะ บริหารจัดการพลังงานอย่างมั่นคง ควบคุมการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ได้สมดุล และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
4. Smart Governance : การปกครองอัจฉริยะ พัฒนาระบบบริการของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้สะดวก โปร่งใส มีการปรับปรุงผ่านนวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง
5. Smart Living : การดำรงชีวิตอัจฉริยะ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และมีความสุข
6. Smart Mobility : การสัญจรอัจฉริยะ พัฒนาระบบจราจรและขนส่ง มีการเชื่อมโยงที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
7. Smart People : พลเมืองอัจฉริยะ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วม
(ข้อมูลจาก: Smart City Thailand)
เปิดต้นแบบเมืองอัจฉริยะจากทั่วโลก
เรามาเริ่มต้นกันที่หลากหลายเมืองจากฝั่งอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่คิดค้นและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างน่าสนใจ เช่น
Silicon Valley, สหรัฐอเมริกา
ภาพจาก Uladzik Kryhin / Shutterstock.com
ซิลิคอน วัลเลย์ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีโลก มีบริษัทด้านไอทีและนวัตกรรมชั้นนำของโลกนับร้อยราย เช่น Twitter, Apple, Facebook, Google, Netflix, PayPal เป็นต้น และยังมีสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่าง Stanford University ที่คอยสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเปิดบริษัทและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก Smart City ในสหภาพยุโรป)
Smart City Vienna, ประเทศออสเตรีย
ภาพจาก Kagan Kaya / Shutterstock.com
กรุงเวียนนา หนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลก พร้อมไปด้วยการเดินทาง สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารงานต่าง ๆ ที่มาจากแผนงานแม่บท “Smart City Wien” สู่การพัฒนาเมืองของสหภาพยุโรปที่ใหญ่ที่สุด โดยมีแนวคิด Transit-Oriented Development ออกแบบพื้นที่การใช้สอยสันทนาการและสาธารณะอย่างละครึ่ง และระบบคมนาคมแบบ Mixed use Quarters ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน การให้บริการ ธุรกิจ และการวิจัยอย่างครบวงจร (ข้อมูลจาก Smart City ในสหภาพยุโรป)
Smart City Oslo, ประเทศนอร์เวย์
เมืองอัจฉริยะในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ในหลาย ๆ เมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนเริ่มมีความตื่นตัวกับนโยบายสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองให้มีความก้าวหน้า รวมถึงในประเทศไทยก็มีการดำเนินงานดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน
วังจันทร์วัลเลย์ ก้าวต่อไปของเมืองอัจฉริยะประเทศไทย
จากกระแสความตื่นตัวการสร้างเมืองอัจฉริยะจากทั่วโลก ประเทศไทยก็มีการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน โดยนำร่องในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่พัฒนาภายใต้รูปแบบ Smart Natural InNovation Platform แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่
ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
1. Education Zone : พื้นที่เพื่อการศึกษา เสริมสร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัย ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เป็นกำลังสำคัญคอยผลิตนวัตกรคุณภาพ สร้างสรรค์งานวิจัยเชิงลึก ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ความคิดและจิตสำนึกการอนุรักษ์ผืนป่าอย่างยั่งยืน และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming
2. Innovation Zone : พื้นที่เพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร มีศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง (Data Center) และอาคารปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) ที่วางโครงข่ายระบบต่าง ๆ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อรองรับ 5G Play Ground ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม รวมถึง “UAV Regulatory Sandbox” เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอากาศยานไร้คนขับ นำไปพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ
3. Community Zone : พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นที่พักอาศัยและสันทนาการ รองรับนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และตอกย้ำความพร้อมของพื้นที่แห่งนี้ เพื่อนำไปสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตข้างหน้านี้
ขณะที่การสร้างเมืองอัจฉริยะของไทยเข้าใกล้ความสมบูรณ์มากขึ้น หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็มีความตื่นตัวไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น
- สิงคโปร์ : วางเป้าหมายสร้างเมืองอัจฉริยะพร้อมกันทั้งประเทศ ด้วยเทคโนโลยีระบบคลาวด์ นำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล มีระบบคมนาคมและการแพทย์ที่ทันสมัย และการสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะของประเทศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย (ข้อมูลจาก salika.co)
- กรุงพนมเปญ, กัมพูชา : มุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เหมาะแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลาย ๆ ด้านในการเชื่อมต่อกับประชาชน (ข้อมูลจาก eastasiawatch.mfa.go.th)
- กรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย : นำเอาเทคโนโลยีซิตีเบรน (City Brain) นำข้อมูลการจราจรมาประมวลผลและออกแบบวิธีการเปิดสัญญาณไฟจราจร ลดปัญหารถติดในบางพื้นที่ วางแผนต่าง ๆ และช่วยคำนวณหาเส้นทางที่ดีที่สุดในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน (ข้อมูลจาก http://tatp.or.th)
- กรุงจาการ์ตา, อินโดนีเซีย : กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนครแห่งความโปร่งใสและเมืองน่าอยู่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Internet of Things (IoT) เช่น ติดตั้งไฟถนน LED 21,000 จุด ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EVs และการมองหาพลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 29% ภายในปี 2573 (ข้อมูลจาก deltathailand.com)
- ดานัง, เวียดนาม : การนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาช่วยวางระบบงานจราจรในเมือง ผ่านการมอนิเตอร์ถนนและจัดการสัญญาณไฟแบบเรียลไทม์ รวมถึงมีแผนเปิดใช้งานระบบบันทึกประวัติผู้ป่วยด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์สําหรับโรงพยาบาล เช่นเดียวกับเครื่องมือจัดการผลผลิตสําหรับเกษตรกร รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีในการรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างสึนามิและอุทกภัยด้วยเช่นกัน (ข้อมูลจาก ditp.go.th)
มาถึงวันนี้ การจินตนาการถึงเมืองอัจฉริยะจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ไล่เรียงตั้งแต่ความสำเร็จจากฝั่งอเมริกาและยุโรป ตลอดจนหลากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย กำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบ โดยรับเอามาเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และร่วมก้าวสู่โลกอนาคตที่รอเราทุกคนอยู่ข้างหน้าด้วยกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก
thaiindustrialoffice, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, wangchanvalley