x close

เปิดฉายารัฐสภา 2563 ปลวกจมปลัก ยก "มันคือแป้ง" เป็นวาทะแห่งปี

           เปิดฉายารัฐสภา 2563 สภาผู้แทนราษฎรปีนี้ รับชื่อ ปลวกจมปลัก ยก "มันคือแป้ง" เป็นวาทะแห่งปี พร้อมยกเลิกตำแหน่ง คนดีศรีสภา ถาวร


ภาพจาก INN

           วันที่ 27 ธันวาคม 2563 สำนักข่าว INN เผยรายงานเกี่ยวกับการตั้งฉายารัฐสภา จากการประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีข้อสรุปดังนี้...

1. สภาผู้แทนราษฎร : ปลวกจมปลัก

           ปลวกเป็นสัตว์ที่มีการแบ่งงานกันทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด สำหรับสภาผู้แทนราษฎรแล้วมี ส.ส. ที่ทำงานดุจปลวกที่ทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ด้วยการใช้สภาเป็นเครื่องมือเพื่อชิงอำนาจและทำลายล้างฝั่งตรงข้าม ยิ่งนานวันก็จมปลักกลับการทำงานแบบเดิม ไม่ใช้สภาเพื่อประโยชน์ในการระดมสมองและแก้ปัญหาให้กับประชาชน หนำซ้ำตลอดปีมานี้การประชุมสภาฯ ล่มกลางคันหลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ส.ส. ชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภาฯ ทั้งที่เป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ ส.ส. ในฐานะคนทำงานจึงเปรียบเป็นปลวกที่จมปลักไม่พัฒนา และจะยิ่งกัดกินหลักการของประชาธิปไตยให้ผุกร่อนเข้าไปทุกที  

2. วุฒิสภา : สภาปรสิต

           ในทางวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายถึง "ปรสิต" ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร และบางครั้งทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต เมื่อกลับมามองในมิติทางการเมืองแล้วจะพบว่าวุฒิสภาชุดนี้ก็มีสภาพไม่ต่างปรสิตที่อาศัยอยู่ในรัฐสภา นอกจากไม่มีผลงานที่เห็นด้วยตาเปล่าเหมือนปรสิต แล้วยังนำมาซึ่งพิษภัยแก่การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย โดยเฉพาะการพยายามใช้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างเพื่อชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาพิจารณาก่อนรับหลักการไปจนถึงการลงชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฉายา "ปรสิต" จึงเหมาะกับวุฒิสภาชุดนี้


(นายชวน หลีกภัย) ภาพจาก INN

3. "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ครูใหญ่ไม้เรียวหัก

           ทุกครั้งที่ ชวน หลีกภัย ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาไม่เคยถูกกังขาถึงความเป็นกลางแม้แต่ครั้งเดียว และตลอดปีที่ผ่านมาก็ยังยึดแนวทางดังกล่าวไว้ได้อย่างมั่นคง นอกเหนือไปจากการพยายามควบคุมการประชุมสภาแล้ว ประธานสภายังสวมบท "ครูใหญ่" ที่ถือไม้เรียวคอยกวดขันวินัยของ ส.ส. ที่หย่อนยานอีกด้วย เช่น การตักเตือน ส.ส. ให้สวมหน้ากากในห้องประชุมสภา เพื่อคุมการระบาดของโควิด 19 หรือการขอความร่วมมือ ส.ส. ให้ความสำคัญกับการประชุมสภา เป็นต้น

           แต่ปรากฎว่า ส.ส. การ์ดตก ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการละเลยการสวมหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่อเรื่องเล็ก ๆ อย่างขอความร่วมมือ ส.ส. งดนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทานในห้องประชุมก็ไม่เป็นผล และที่ร้ายแรงที่สุด คือ เหตุการณ์สภาล่ม ซึ่งเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าต่อให้ประธานสภาจะยึดมั่นหลักการแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจสร้างเปลี่ยนแปลงได้เพราะ ส.ส. ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ เหมือนกับครูใหญ่ที่มีไม้เรียว และต่อให้ฟาดแรงจนไม้เรียวหักคามือ ส.ส. ก็ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวแต่อย่างใด
 
4. "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา : หัวตอ รอออเดอร์

           ถ้าเทียบบารมีทางการเมืองระหว่างเมื่อครั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับประธานวุฒิสภา ถือว่านับตั้งแต่มาเป็นประมุขสภาสูง บารมีของ "พรเพชร" ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งตอกย้ำด้วยทุกครั้งที่ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา พบว่าไม่สามารถควบคุมการประชุมให้เป็นที่เรียบร้อยได้เมื่อเทียบกับ ชวน หลีกภัย

           หลายครั้งที่รับมือกับความเขี้ยวทางการเมืองของ ส.ส. ฝ่ายค้านไม่ไหว ทำให้การประชุมเกิดความปั่นป่วนเป็นระยะ กลายเป็นหัวหลักหัวตอที่สมาชิกรัฐสภาไม่ค่อยให้ความยำเกรง ไม่เพียงเท่านี้ การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภายังไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเพราะหลายเรื่องในวุฒิสภากลับปล่อยให้ ส.ว. เป็นผู้ชี้นำประธานวุฒิสภาแทน ภาพรวมแบบนี้ทำให้ประธานวุฒิสภาเสมือนหัวหลักหัวตอที่ไม่มีใครสนใจแต่มีหน้าที่แค่รับคำสั่งทำงานเท่านั้น
 
5. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : สุทิน คลังแสง ?

           สำหรับฉายาของผู้นำฝ่ายค้านฯ ที่ปรากฎออกมานั้นเป็นฉายาที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งขึ้นมาจริง ๆ ไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด เนื่องจากต่างเห็นตรงกันว่าบทบาทการเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ นั้น "สมพงษ์" ไม่ได้โดดเด่นสมกับตำแหน่งเท่าใดนัก ตรงกันข้ามกลับเป็น "สุทิน คลังแสง" ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่น หลายต่อหลายครั้งเป็นตัวแทนของฝ่ายค้านไปร่วมประชุมกับฝ่ายรัฐบาลจนทำให้ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปรายในสภาอย่างสมน้ำสมเนื้อและสามารถชี้นำสภาในที่ประชุมได้ ผิดกับผู้นำฝ่ายค้านฯ ตัวจริง ที่ยังไม่ทำงานเชิงรุกมากนัก ด้วยเหตุนี้ทำให้อดไม่ได้ว่า "สุทิน คลังแสง" คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ใช่ "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์"


(นายสุทิน คลังแสง) ภาพจาก INN

6. ดาวเด่นแห่งปี : สุทิน คลังแสง

           ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2563 ตลอดทั้งปี "สุทิน คลังแสง" ในฐานประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้อย่างท็อปฟอร์ม หลายครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องสำคัญและ ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยที่อภิปรายนอกประเด็นไปไกลและใช้แต่วาทะศิลป์ในการโจมตี แต่ทุกอย่างก็กลับเข้ารูปเข้ารอยเมื่อ สุทิน ได้ขึ้นอภิปรายสรุปประเด็น การอภิปรายสรุปของประธานวิปฝ่ายค้านไม่ใช่แค่การอภิปรายสรุปเพื่อให้จบตามหน้าที่เท่านั้น เพราะยังหยิบจับประเด็นสำคัญบางเรืองที่ ส.ส. ฝ่ายค้านอาจไม่ได้พูดถึงหรือพูดถึงแต่ยังไม่มีความชัดเจน มาขยายความเพื่อให้สภาได้ข้อเท็จจริงเพิ่มมากขึ้น ตำแหน่งดาวสภาประจำปี 2563  จึงตกเป็นของ สุทิน คลังแสง ไปอย่างเอกฉันท์

7. ดาวดับแห่งปี : วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

           การตัดสินตำแหน่งดาวดับแห่งปีในครั้งนี้ถือว่ามีความลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีข้อเสนอควรให้ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ สมควรได้รับตำแหน่งนี้ด้วยเช่นกัน ภายหลังมงคลกิตติ์แสดงจุดยืนทางการเมืองที่กลับไปกลับมา นึกอยากจะร่วมรัฐบาลก็ประกาศสนับสนุน แต่วันใดไม่อยากสนับสนุนก็ประกาศขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ ซึ่งอาจบอกว่าเป็น ส.ส. ไร้จุดยืนก็คงไม่ผิดนัก

           แต่ถึงที่สุดแล้วสื่อมวลชนรัฐสภามีความเห็นว่าควรให้ตำแหน่งดาวดับเพียงคนเดียว และตำแหน่งนั้นเป็นของ "วิสาร เตชะธีราวัฒน์" ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ใช้มีดปอกผลไม้กรีดแขนกลางที่ประชุมสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางการเมือง ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการชี้นำให้ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังเป็น ส.ส. หลายสมัยและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนที่สมควรเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อหวังผลทางการเมือง จึงหวังว่าตำแหน่งดาวดับที่สื่อมวลชนมอบให้จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก


(นายสิระ เจนจาคะ) ภาพจาก INN


(นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์) ภาพจาก เฟซบุ๊ก มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์

8. คู่กัดแห่งปี : สิระ เจนจาคะ และ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์

           เกือบได้เห็นการวางมวยกลางสภา ภายหลังปฐมบทแห่งความเดือดมาจากกรณีที่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเพราะไม่สามารถควบคุมความสงบได้ ต่อมา สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวตอบโต้ว่า การออกมาเรียกร้องเช่นนี้ต้องการผลประโยชน์อะไรหรือไม่ หรือเงินหมด เพราะบริจาคเงินเดือน ส.ส. ให้ในสถานการณ์โควิด 19 ไปแล้ว ซึ่งหากเงินหมดจริงติดต่อผมได้

           แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นั้นเพราะมงคลลกิตติ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กระบุว่า เจอสิระที่ไหนจะเอาให้ฟันร่วงหมดปาก

           และในที่สุดทั้งสองคนก็ได้เจอหน้ากันจริง โดยเป็นเหตุการณ์ระหว่างที่ มงคลกิตติ์ กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบริเวณรัฐสภา และได้พบกับ สิระ ทำให้เดินเข้าไปจับแขนสิระ แต่สิระสะบัดออก ปรากฎว่ามงคลกิตติ์พยายามเดินตาม แต่สิระเดินหนี ที่สุดแล้วต้องถึงมือ ชวน หลีกภัย ที่ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ปรามทั้งสองฝ่ายว่าต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของสภาด้วย  
 
9. เหตุการณ์แห่งปี : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

           รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากที่สุด โดยเฉพาะการต้องมีเสียง ส.ว. สนับสนุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นผลให้การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน ไม่สามารถลงมติได้ แต่กลับต้องมาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ และเมื่อกลับมาประชุมรัฐสภาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนนำโดยกลุ่มไอลอว์ได้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนครั้งแรก การประชุมรัฐสภาเวลานั้นไม่ได้เข้มข้นเฉพาะในสภาเท่านั้น แต่นอกสภาก็เดือดไม่แพ้กัน ภายหลังกลุ่มสนับสนุนและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาและเกิดการปะทะกันเป็นระยะ อีกด้านหนึ่งตำรวจใช้น้ำผสมสารเคมีควบคุมการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร จนกระทั่งที่สุดแล้วเหตุการณ์นอกสภาสงบลงพร้อมด้วยการลงมติของรัฐสภาที่ไม่เห็นด้วยกับการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขต่อไป ด้วยเหตุนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจึงเป็นเหตุการณ์แห่งปีไปอย่างไม่ต้องสงสัย  


(ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า) ภาพจาก INN

10. วาทะแห่งปี : "มันคือแป้ง"

           "สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดของรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม มันคือแป้ง" เป็นการชี้แจงของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์

           เวลานั้น ร.อ. ธรรมนัส ถูกกังขาถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนนำมาสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งของตนเองถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ อย่างไรก็ตาม ร.อ. ธรรมนัส กลับเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯ น้อยที่สุดเพียง 269 เสียง โดยที่ ร.อ. ธรรมนัส ได้ลงคะแนนไว้วางใจตัวเอง

           จากเหตุการณ์นี้เองทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาลลดลงและสื่อต่างประเทศก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจับกุม ร.อ. ธรรมนัส ในอดีตด้วย
 
11. คนดีศรีสภา : ยกเลิกตำแหน่งนี้ถาวร

           เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาไม่ได้มอบตำแหน่งคนดีศรีสภาให้กับสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว INN

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดฉายารัฐสภา 2563 ปลวกจมปลัก ยก "มันคือแป้ง" เป็นวาทะแห่งปี โพสต์เมื่อ 27 ธันวาคม 2563 เวลา 11:44:34 12,860 อ่าน
TOP