x close

สรุปกรณี วัคซีนพระราชทาน ธนาธร VS สธ. ตอบทำไมต้องสยามไบโอไซเอนซ์

            เทียบชัด ๆ ประเด็นร้อน ธนาธร ตั้งคำถามถึง วัคซีนพระราชทาน กับคำชี้แจงหลายข้อจากกระทรวงสาธารณสุข ทำไมต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์
            จากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ช่วง 22.00 น. วันที่ 18 มกราคม 2564 ในหัวข้อ "วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย ? " วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีน โควิด 19 ของรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องตั้งโต๊ะร่วมกันแถลงเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 19 มกราคม 2564 แบ่งออกเป็นประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
วัคซีนโควิด 19

ภาพจาก Lutsenko_Oleksandr / Shutterstock.com

สั่งซื้อวัคซีนล่าช้า ไม่ครอบคลุมประชากรหรือไม่ ?

            นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า กระบวนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนต่างชาติและจัดหาวัคซีนต้านเชื้อโควิด 19 ของรัฐบาล เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ครอบคลุม เหตุไม่เร่งเจรจากับบริษัทผู้วิจัยและผลิตวัคซีนต่างประเทศ มีแค่การซื้อจาก AstraZeneca 26 ล้านโดส ในกลางปี 2564 ก่อนจะเจรจากับซิโนแวค ไบโอเทค ซื้อวัคซีน 2 ล้านโดส ล็อตแรกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รวม 2 บริษัท คิดเป็น 21.5% ของจำนวนประชากร เทียบกับประเทศใกล้เคียง มาเลเซีย มีวัคซีนครอบคลุม 71%, ไต้หวัน มีวัคซีนครอบคลุม 42% และฟิลิปปินส์ มีวัคซีนครอบคลุม 45.1%

            ในประเด็นนี้ได้รับการชี้แจงโดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแล้วเริ่มต้นตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการศึกษามาตลอด แม้ในเวลานั้นจะมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด โดยมีการตั้งเป้าว่าจะให้ได้วัคซีนมาฉีดให้คนไทยในปี 2564 จำนวน 50% ของประชากร

เจาะจงเลือกบริษัทเดียวผลิตวัคซีน เป็นการแทงม้าตัวเดียวหรือไม่ ?

            นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชนรายเดียว คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากแอสตร้าเซนเนก้า โดยไม่มีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ที่มีความพร้อม ตั้งคำถามว่าบริษัทนี้เหมาะสมที่จะทำภารกิจนี้หรือไม่ เพราะไม่มีชื่ออยู่ในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ของไทย

            ในเรื่องนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ของประชากรจะมาจาก 3 ช่องทาง

            1. จองซื้อ - โดยการเข้าไปร่วมกับ COVAX Facility ที่เป็นถังกลางศูนย์รวมวัคซีน มีการเจรจากันหลายครั้ง เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีปัญหาบ้างในการเจรจาและทำสัญญา ประกอบกับเรตราคาที่ประเทศไทยได้ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่แพง แม้จะยังไม่ได้วัคซีนจากช่องทางนี้ แม้จะดูแล้วเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้ง ส่วนนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20%

            2. ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้มีการผลิตในประเทศไทย ส่วนนี้ที่ทางบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ได้เข้ามาดำเนินการ ตั้งเป้าไว้ 20%

            3. เปิดทางไว้กับบริษัทอื่น ๆ ที่จะมีผลการทดลองออกมาเป็นระยะ ๆ อีก 10% ซึ่งติดตามดูอยู่ตลอด โดยศึกษาข้อมูลจากทุกเจ้า แต่ไม่ได้นำมาเสนอสู่สาธารณะเนื่องจากข้อมูลเป็นความลับ

            นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการผลิตวัคซีนเองในประเทศเป็นส่วนเสริมอีกด้วย และมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เสมอ

สรุป : ไทยจะได้วัคซีนจากซิโนแวคมาจำนวนหนึ่ง (2 ล้านโดส) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน และของแอสตร้าเซนเนก้า ประมาณเดือนพฤษภาคม ส่วนการเจรจาจัดซื้อเพิ่มเติมให้ครบ 50% ในปี 2564 ก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ถือว่าล่าช้าหรือไม่ ?

            นายธนาธร มองว่า ควรให้ความสำคัญเรื่องราคาเป็นเรื่องรอง เมื่อเทียบกับความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อวัคซีนมาให้ประชาชน ถ้าเป็นตนต่อให้วัคซีนแพงก็จะซื้อ รู้สึกว่าราคาสำคัญน้อยกว่าเวลา

            ซึ่งในประเด็นนี้ นพ.ศุภกิจ คิดว่าไม่ได้ล่าช้าอะไรมากมายนักเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วไป โดยยกตัวอย่างประเทศที่ได้ฉีดก่อน คือพวกที่จองซื้อตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัย

            นอกจากนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บางประเทศที่มีการใช้วัคซีนมาก่อนหน้าก็จะพบรายงานการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการใช้วัคซีน ซึ่งถ้าเรารีบร้อนในการนำมาใช้ก็อาจจะไม่ปลอดภัย ต้องระวังไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ

มีความขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ ? ทำไมต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์ ?

            นายธนาธร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 กรรมการท่านหนึ่งในที่ประชุมได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่า มีประเด็นข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นการนำงบจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน ซึ่งขอให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนฯ ต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ทราบด้วย มองว่าหากรัฐบาลเอาเรื่องการจัดหาวัคซีนมาสร้างความนิยม แต่มองเรื่องความมั่นคงของประเทศและของประชาชนมาก่อน ไทยจะเดินหน้าจัดหาวัคซีนได้เร็วกว่านี้ มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้อย่างแน่นอน

            ในประเด็นนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงว่า การจองซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าไม่ใช่การจองซื้อทั่ว ๆ ไป แต่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดการผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทยด้วย ซึ่งได้มีการพิจารณาจากหลาย ๆ บริษัทในไทยแล้วพบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นที่เดียวที่มีศักยภาพพร้อมที่สุดในการผลิตวัคซีนพิเศษนี้ แม้แต่องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะผลิต

            เรื่องนี้เกิดจากความสัมพันธ์และความร่วมมือของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกับบริษัท SCG ที่มีมาเป็นสิบปีแล้ว จึงได้มีการดึงแอสตร้าเซนเนก้ามาประเมินศักยภาพของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ผลิตในที่สุด ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าต้องการขยายฐานการผลิตไปทั่วโลกซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งมีหลายประเทศอยากได้ข้อตกลงแบบนี้ แต่ทีมประเทศไทยก็ได้ร่วมกันสร้างความมั่นใจ

            รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุหรือว่ายาที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเท่านั้น ให้สามารถที่จะปรับศักยภาพการผลิตได้ รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท บวกกับ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องมือให้กับบริษัท จนอีกฝั่งคัดเลือกเรา มันเป็นความพยายามของทีมประเทศไทย มันไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน

            โดยทางผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวด้วยว่า ทางรัฐบาลได้มีสัญญากับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ด้วยว่าทางบริษัทจะผลิตวัคซีนมาในมูลค่าเท่ากับเงินที่ได้รับการสนับสนุนไปคืนกลับมาให้รัฐบาลอีกด้วย

ผลกระทบจากการตัดสินใจเรื่องวัคซีนของรัฐบาล

            นายธนาธร มองว่า กรณีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าดีลนี้มีอะไรผิดพลาด พล.อ. ประยุทธ์ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ หากวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนด ถ้าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม และประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

            ในเรื่องนี้ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต่างออกมาให้ความมั่นใจว่า คนไทยจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงแน่ ๆ ในการแถลงข่าวในวันนี้

Siam Bioscience

ภาพจาก Siam Bioscience

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปกรณี วัคซีนพระราชทาน ธนาธร VS สธ. ตอบทำไมต้องสยามไบโอไซเอนซ์ อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2564 เวลา 16:38:18 14,821 อ่าน
TOP