ไขปริศนา ปรากฏการณ์น้ำโขงสีคราม เกิดจากอะไร อันตรายกว่าที่คิด

          นักวิชาการอธิบายสาเหตุ น้ำโขงใสจนมองเห็นเป็นสีคราม เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งจากน้ำมือมนุษย์ เป็นปัญหาที่อันตรายกว่าที่คิด หากไม่รีบแก้ อาจกระทบระบบนิเวศระยะยาว 

น้ำโขงสีคราม
ภาพจาก สำนักข่าวไทย

          วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่า น้ำโขงในหลายจังหวัดในภาคอีสานเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ระดับต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้บางจุดเกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้าง น้ำในแม่น้ำไม่ไหลเชี่ยว จนทำให้น้ำมีสีฟ้าครามคล้ายสีทะเล จนเป็นที่ฮือฮาของประชาชนและนักท่องเที่ยว ต่างพากันไปชมความสวยงามกันเป็นจำนวนมากนั้น

          ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า สาเหตุที่น้ำในแม่น้ำโขงมีความใสจนเห็นเป็นสีฟ้าในฤดูแล้ง เกิดจากการยกระดับของน้ำหน้าเขื่อนไซยะบุรีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากเขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างเสร็จในปี 2562 ในเขตประเทศ สปป.ลาว พื้นที่ระหว่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้สร้างเพื่อกับควบคุมปริมาณน้ำ แต่มีหน้าที่หลักในการกั้นแม่น้ำโขงเพื่อยกระดับน้ำสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้น้ำเหนือเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ามีระดับสูงขึ้น ทำให้สามารถยิ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น

น้ำโขงสีคราม
ภาพจาก สำนักข่าวไทย

          ดังนั้น ในฤดูแล้งซึ่งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างน้อย ทำให้ตะกอนหนักที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำตกลงตั้งแต่พื้นที่ขอบอ่าง ทำให้น้ำที่ปล่อยผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีจึงใส ไม่มีตะกอน น้ำที่ไหลลงมาสู่พื้นที่ตอนล่างตั้งแต่ จ.เลย ลงไปจนถึง จ.อุบลราชธานี จึงมีความใสเป็นสีฟ้า

          ขณะที่ หน่วยงานประมง จ.นครพนม ได้เผยสาเหตุว่า น้ำโขงสีครามคล้ายทะเลเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จะเกิดความเสียหายในอนาคต เนื่องจากน้ำโขงไม่ไหลเวียนและตกตะกอนจากผลกระทบในการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน และจะส่งผลกระทบต่อปลาน้ำโขงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคต ระบบนิเวศแม่น้ำโขงถูกทำลายสิ้นเชิงหากไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากธรรมชาติของน้ำโขงจะต้องไหลเวียนสีขุ่น จึงจะทำให้มีความอุดมสมบูรณ์จากแพลงตอนในน้ำ

น้ำโขงสีคราม
ภาพจาก สำนักข่าวไทย

          และจะทำให้ชาวประมงในน้ำโขง รวมถึงผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับผลกระทบ เนื่องจากแม่น้ำโขงจะมีปริมาณออกซิเจนต่ำ เสี่ยงต่อปัญหาน็อกน้ำตาย และหาปลาแม่น้ำโขงยากขึ้น เพราะเกิดการสูญพันธุ์ เนื่องจากปลาจะไม่สามารถไปวางไข่ต้นน้ำได้ ซึ่งปัจจุบันปลาเริ่มสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 100 ชนิด

น้ำโขงสีคราม
ภาพจาก สำนักข่าวไทย

น้ำโขงสีคราม
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขปริศนา ปรากฏการณ์น้ำโขงสีคราม เกิดจากอะไร อันตรายกว่าที่คิด อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:04:46 32,318 อ่าน
TOP
x close