เปิดที่มาฉลองพระองค์ พระราชินี ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย - ลายสำเภาหลงเกาะ เกล็ดหมี่สีทอง

          เปิดความหมายที่มาฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จฯ พบทูตออสเตรเลีย ทรงเลือกผ้าไหมมัดหมี่สัญลักษณ์ประเทศไทย และทรงเลือกใช้สีเขียวและสีทอง ซึ่งเป็นสีประจำชาติของประเทศออสเตรเลีย

          เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงศึกษาในเครือรัฐออสเตรเลีย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย

          วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แฟนเพจ We love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เปิดเผยถึงที่มาฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ว่า "ฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย ลายสำเภาหลงเกาะ สีเขียว เกล็ดหมี่สีทอง" ในการเสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย


พระราชินี
          ครั้งนี้ทรงได้เล็งเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรงเลือกผ้าไหมมัดหมี่อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และทรงเลือกใช้สีเขียวและสีทอง "ซึ่งเป็นสีประจำชาติของประเทศออสเตรเลีย" ประเทศออสเตรเลียมีสีประจำชาติ คือ สีเขียวเข้มและสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีของดอก Golden Wattle "ดอกไม้ประจำชาติออสเตรเลีย" ออสเตรเลียประกาศใช้สีเขียวเข้มกับสีเหลืองทอง เป็นสีประจำชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1984 การติดต่อค้าขายในอดีตจะใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ด้วยออสเตรเลียเป็นทวีปที่มีทะเลล้อมรอบ 


          "มัดหมี่ร่ายลายสำเภาหลงเกาะ เป็นมัดหมี่ลายโบราณ ที่ช่างทอจินตนาการถึงเรือสำเภากางใบพัด แล่นกลางแม่น้ำใหญ่ สำเภายังเปรียบเสมือน ธุรกิจ การค้า การงาน ให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ปราศจากอุปสรรคต่าง ๆ หมี่ร่าย เป็นหนึ่งในเทคนิคมัดหมี่ คือ กระบวนการสร้างลวดลายให้บรรจบกันต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยใช้กรรมวิธีการตั้งแต่การค้นลำหมี่ โดยมีเครื่องค้นหมี่หรือโฮงค้นหมี่ จะมีลักษณะเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 60-80 เซนติเมตร ยาว 1.02 เมตร (ความยาวเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว)"


          วิธีการค้นหมี่ จะเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้แล้วมามัดกับหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การก่อหมี่ การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบรอบที่ต้องการ จะเรียกแต่ละจำนวนว่าลูก หรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูกเส้นไหมด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง ควรผูกเส้นไหมทุกลูกไว้ด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน ถือเป็นกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดที่มาฉลองพระองค์ พระราชินี ผ้าไหมมัดหมี่ร่าย - ลายสำเภาหลงเกาะ เกล็ดหมี่สีทอง อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09:33:13 28,128 อ่าน
TOP