ประวัติ ขุนช้าง ขุนแผน ย้อนอดีตความรักสุดดราม่าที่เลือกไม่ได้

           เพราะความรักเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเสมอ เช่นเดียวกับมหากาพย์รักสามเส้าสุดดราม่าของขุนแผน วันทอง และขุนช้าง มาร่วมย้อนประวัติและเรื่องราวจริง ๆ ของทั้ง 3 ตัวละครจากวรรณคดีพื้นบ้านไทย จะเป็นอย่างไร มาดูกัน
           ขุนช้าง ขุนแผน เสภานิทานมหากาพย์พื้นบ้านไทย ไม่ว่าจะเอากลับมาทำเป็นละครหรือภาพยนตร์กี่เรื่องก็มักจะเป็นกระแสโด่งดังอยู่เสมอ จนล่าสุดมาถึงละคร “วันทอง” ที่ออกอากาศทางช่อง One31 ก็ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก เพราะด้วยบทอันร้อนแรง และได้ดารา-นักแสดงตัวท็อป ๆ ของเมืองไทยมาร่วมแสดงมากมาย แต่นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของวรรณคดีเท่านั้น เรื่องราวประวัติขุนแผน ขุนช้าง จะเป็นอย่างไร มีที่ไปที่มาอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว

ขุนช้าง ขุนแผน คืออะไร

           ขุนช้าง ขุนแผน เป็นเสภานิทานมหากาพย์พื้นบ้านไทย ที่สันนิษฐานกันว่าเคยเกิดขึ้นจริงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ระหว่างปี พ.ศ. 2034-2072) แต่ก็มีหลายคนเชื่อว่าเป็นการแต่งขึ้นแบบปากต่อปากเพื่อความบันเทิง และแต่งเติม-ลดทอนข้อเท็จจริงกันเรื่อยมา มีลักษณะเป็นกลอนชาวบ้าน เล่าสืบทอดกันมาจนกลายเป็นนิยายพื้นเมืองของชาวสุพรรณบุรี แก่นของเรื่องคือ ความรักสามเส้าของ 1 หญิง 2 ชาย คือ นางพิมพิลาไลย (นางวันทอง) พลายแก้ว (ขุนแผน) และขุนช้าง มีการสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์สมัยที่ไทยทำสงครามกับเชียงใหม่และล้านช้างเข้าไว้ด้วย รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเมืองสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยในยุคสมัยนั้น จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าสนุกสนานชวนติดตามหลายยุคหลายสมัยจนถึงทุกวันนี้

จากเรื่องเล่าสู่ยอดหนังสือประเภทกลอนเสภา

           แม้ว่าในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ต้นฉบับนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนได้สูญหายไป แต่ผู้ที่จดจำเนื้อหาได้จึงฟื้นฟูนำกลับมาอีกครั้ง ต่อมาในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดเกล้าฯ ให้กวีในพระราชสำนักแต่งขึ้นมาใหม่ และได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย ขุนข้างขุนแผนจึงกลายเป็นวรรณคดีที่มีค่าทั้งในแง่ของความไพเราะและลีลาในการแต่ง จนได้รับการยกย่องตามพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นยอดของหนังสือประเภทกลอนเสภา

ใครเป็นผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผน

          เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นมีหลายตอน รวมถึงมีผู้แต่งหลายคนด้วย ซึ่งสามารถจำแนกผู้แต่งในแต่ละตอนได้ ดังนี้

  • พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม  ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี

  • พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนช้างตามนางวันทอง

  • ครูแจ้ง วัดระฆัง แต่งตอนกำเนิดกุมารทอง  ตอนขุนแผนพลายงามแก้พระท้ายน้ำ  ตอนสะกดพระเจ้าเชียงใหม่และยกทัพกลับ  และตอนจระเข้เถรขวาด

             แต่บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างถวายฏีกา ยังไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

ประวัติขุนช้างขุนแผน และนางวันทอง

ภาพจาก ช่อง One

ประวัติตัวละครสำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผน

ประวัติขุนแผน

          ขุนแผน เดิมชื่อ พลายแก้ว เป็นคนหน้าตาดี หล่อเหลา คารมดี ฉลาด แต่เจ้าชู้ เป็นบุตรของขุนไกรพลพ่าย กับนางทองประศรี บ้านเดิมอยู่ที่สุพรรณบุรี ต่อมาย้ายไปอยู่ที่กาญจนบุรี บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดส้มใหญ่ และศึกษาเล่าเรียนที่วัดป่าเลไลยก์ต่อ ไม่นานก็สึกและแต่งงานกับนางพิมพิลาไลย หรือวันทอง 

          เมื่อได้รับราชการทหารทำศึกสงครามจนชนะ ก็ได้อวยยศเป็น “ขุนแผนแสนสะท้าน” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระกาญจนบุรี ตามลำดับ ขุนแผนมีวิชาคาถาอาคมที่ได้เรียนรู้ในสมัยที่ยังเป็นสามเณรมากมาย อาทิ คาถามหาระรวย วิชาคงกระพันชาตรี วิชามหาเสน่ห์ วิชาสะเดาะกลอน การเสกกุมารทอง การควบคุมผีโหงพราย เป็นต้น

ชีวิตคู่ของขุนแผน

           สำหรับในเรื่องความรักของขุนแผนนั้น ไม่ว่าจะไปรบที่เมืองไหนก็มักจะได้ภรรยากลับมาทุกทีไป ซึ่งขุนแผนมีภรรยาทั้งหมด 5 คน และลูก 3 คน ดังนี้

  1. สายทอง พี่เลี้ยงของนางพิมพิลาไลย 

  2. พิมพิลาไลย (วันทอง) มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ พลายงาม 

  3. ลาวทอง มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ พลายณรงค์ 

  4. บัวคลี่ มีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่ขุนแผนผ่าท้องออกมาก่อนเกิด และปลุกเสกเป็นกุมารทอง 

  5. แก้วกิริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ พลายชุมพล 
     

ชีวิตคู่ของขุนแผน จากวรรณกรรม ขุนช้าง ขุนแผน

ภาพจาก ช่อง One

ประวัติขุนช้าง

      ขุนช้าง เป็นบุตรของขุนศรีวิชัย เศรษฐีเมืองสุพรรณบุรี กับนางเทพทอง เป็นคนซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว แม้จะอยู่ในตระกูลที่ร่ำรวย แต่ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่อ้วนลงพุง หัวล้านแต่กำเนิด ทำให้เป็นที่ขบขันล้อเลียนอยู่เสมอ เมื่อเป็นหนุ่ม ขุนช้างได้นางแก่นแก้วเป็นภรรยา แต่ไม่นานก็ตาย ขุนช้างจึงหันมาหมายปองหญิงที่เขาหลงรักตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นคือ นางพิมพิลาไลย

ประวัตินางวันทอง หรือ นางพิมพิลาไลย

            นางพิมพิลาไลย ลูกสาวคนเดียวของพันศรโยธา พ่อค้าเมืองสุพรรณบุรี กับนางศรีประจัน มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงดงาม ฝีปากกล้า เมื่อเป็นสาวแรกรุ่นได้แต่งงานกับพลายแก้ว และเกิดป่วยหนัก จึงได้เปลี่ยนชื่อแก้เคล็ดเป็น วันทอง และถูกหลอกให้แต่งงานใหม่กับขุนช้าง เพราะคิดว่าขุนแผนตายในสงคราม และโกรธที่รู้ว่าขุนแผนพาภรรยาใหม่จากการทำศึกกลับมา ด้วยความรักความอาลัยที่มีต่อขุนแผนและความระแวงของขุนช้าง ทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมากมาย จนถูกคนประณามว่าเป็น หญิงสองใจ และถูกลงโทษให้ประหารชีวิตในที่สุด

เรื่องย่อขุนช้างขุนแผน

          พลายแก้ว ขุนช้าง และนางพิม เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็ได้แยกย้ายกันไป พลายแก้วบวชเป็นสามเณร เล่าเรียนวิชาที่เมืองกาญจนบุรีแล้วย้ายกลับมาที่วัดป่าเลไลยก์ จนได้เจอกับนางพิมและรักกัน นางสายทอง พี่เลี้ยงของนางพิม ก็เป็นแม่สื่อให้เณรแก้วกับนางพิมจนทั้งคู่ได้เสียกันในขณะที่เณรแก้วยังเป็นสามเณร มิหนำซ้ำเณรแก้วยังได้นางสายทองเป็นภรรยาด้วย

         ต่อมาสมภารวัดป่าเลไลยก์ให้เณรแก้วสึกออกจากวัด เณรแก้วจึงไปอยู่กับสมภารคง วัดแข และได้เริ่มเรียนรู้วิชาคาถาอาคมและไสยศาสตร์ ในระหว่างนั้นขุนช้างมาสู่ขอนางพิม เณรแก้วจึงสึกออกมาแล้วให้นางทองประศรีรีบไปสู่ขอนางพิมเพื่อแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี หลังจากที่แต่งงานกันได้ไม่นานก็เกิดศึกเชียงใหม่ยกมาตีเมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาจึงแต่งตั้งให้พลายแก้วเป็นแม่ทัพไปรบที่เมืองเชียงทองจนได้รับชัยชนะกลับมา และระหว่างตั้งค่ายที่บ้านจอมทอง ท้าวแสนคำเมือง ผู้ปกครองเมือง ก็ได้ยก นางลาวทอง ให้เป็นภรรยาแก่พลายแก้วกลับมา

         หลังจากที่พลายแก้วไปทำศึกสงครามไม่นาน นางพิมก็ล้มป่วย รักษาไม่หาย ขรัวตาจูแห่งวัดป่าเลไลยก์ได้ตรวจดูดวงชะตาและให้เปลี่ยนชื่อเป็น นางวันทอง อาการถึงได้ดีขึ้น และในตอนนั้นเอง ขุนช้างสบโอกาสเห็นว่าพลายแก้วไปรบและยังไม่ละความพยายามที่จะเอานางวันทองมาเป็นภรรยา จึงทำอุบายนำหม้อใส่กระดูกแล้วอ้างว่าพลายแก้วตายแล้ว และขู่ว่านางวันทองจะถูกคุมตัวให้เป็นม่ายหลวงตามกฎหมาย นางศรีประจันเชื่อและเห็นว่าบ้านขุนช้างมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี จึงบังคับให้นางวันทองแต่งงานกับขุนช้าง แต่นางวันทองไม่ยอมเข้าหอ

         เมื่อพลายแก้วนำชัยชนะกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้อวยยศเป็น ขุนแผนแสนสะท้าน และพานางลาวทองกลับมาด้วย นางวันทองจึงโกรธมากจนปะทะคารมโต้เถียงกับนางลาวทองและขุนแผนจนโมโห จึงได้พานางลาวทองไปอยู่กินกันที่เมืองกาญจนบุรี ส่วนนางวันทองก็ต้องจำใจเป็นภรรยาของขุนช้างไปในที่สุด

จุดแตกหักขุนช้างและขุนแผน

           ต่อมา ทั้งขุนข้างและขุนแผนได้เข้าวังและได้ตำแหน่งเป็นมหาดเล็ก วันหนึ่งขุนแผนได้รับข่าวว่านางลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนจึงฝากเวรไว้กับขุนช้างเพื่อกลับไปดูอาการ เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อสมเด็จพระพันวษาถามถึงขุนแผน ขุนช้างกลับบอกว่าขุนแผนปีนกำแพงวังกลับบ้านไปหาภรรยา สมเด็จพระพันวษาจึงโกรธมากและรับสั่งให้ขุนแผนไปตระเวนด่านที่กาญจนบุรี ห้ามเข้าเฝ้า และริบนางลาวทองให้เข้าเป็นม่ายหลวง เมื่อรู้ดังนั้นขุนแผนเลยโกรธขุนช้างมาก แต่ก็ไม่กล้าขัดรับสั่ง จึงตระเวนเข้าป่าไปลำพัง โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างสุดยอดอาวุธ ม้า และกุมารทอง เอาไว้ป้องกันตัว

ความสัมพันธ์ระหว่างขุนแผน นางบัวคลี่ และกุมารทอง

          ขุนแผนตระเวนไปเรื่อย ๆ จนถึงถิ่นหมื่นหาญ หัวหน้าซ่องโจร และได้สมัครเข้าไปอยู่ด้วยหวังจะได้ บัวคลี่ บุตรสาวหมื่นหาญ เป็นภรรยา ซึ่งหมื่นหาญก็ถูกใจขุนแผนมากด้วยพฤติกรรมนอบน้อมและตั้งใจทำงาน จนยอมยกลูกสาวให้ แต่เมื่อได้แต่งงานกับบัวคลี่แล้ว ขุนแผนกลับไม่ยอมทำงานร่วมกับหมื่นหาญอีก ทำให้หมื่นหาญโกรธและคิดวางยาพิษใส่ในอาหารเพื่อฆ่าขุนแผน แต่ผีพรายมาบอกให้รู้ตัวเสียก่อน ขุนแผนจึงวางอุบายตลบหลังด้วยการแสร้งทำเป็นไม่สบาย ไม่ยอมกินอาหาร และเอ่ยขอลูกจากบัวคลี่จนหลงเชื่อและเอ่ยปากยกลูกให้ และขุนแผนก็ผ่าท้องนางบัวคลี่แล้วนำลูกไปทำพิธีเสกเป็น กุมารทอง

ตำนานดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก

           เมื่อขุนแผนได้กุมารทองแล้ว ก็ได้รวบรวมโลหะ 108 ชนิด ทั้งมงคลและอวมงคลตามตำราคัมภีร์มหาศาสตราคมไปหลอมได้เป็น ดาบฟ้าฟื้น ลงคาถาอาคมต่าง ๆ ให้มีฤทธิ์ในการข่มขวัญศัตรูและขับไล่ผีพราย แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดเพชรบุรี ซื้อม้าตัวหนึ่งที่ถูกต้องตามตำราจากคณะจัดซื้อม้าหลวง เสกหญ้าให้กิน และฝึกฝนจนกลายเป็นม้าแสนรู้ชื่อว่า ม้าสีหมอก นั่นเอง

ขุนแผนแก้แค้นขุนช้าง

            เมื่อได้ทั้งกุมารทอง ดาบฟ้าฟื้น และม้าสีหมอกแล้ว ขุนแผนก็คิดที่จะกลับบ้าน หวังจะไปแก้แค้นขุนช้าง มุ่งหน้าจากบ้านที่กาญจนบุรีไปเรือนขุนช้างที่สุพรรณบุรี และได้เจอกับ นางแก้วกิริยา ที่พระยาสุโขทัยเอามาเป็นตัวจำนำไว้ที่เรือนขุนช้าง ขุนแผนย่องเข้าหาจนได้เป็นภรรยาคนที่ 5 ก่อนจะพานางวันทองหนีจากเรือนขุนช้างไป เมื่อขุนช้างรู้เรื่องก็รีบไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา และเกิดการต่อสู้กันระหว่างขุนแผนและขุนเพชร ขุนราม ทหารในสมเด็จพระพันวษา จนถึงแก่ความตาย ขุนแผนเลยตกเป็นกบฏ ต้องหนีเร่ร่อนเข้าไปในป่า ขณะนั้นนางวันทองกำลังท้องแก่ใกล้คลอด ขุนแผนสงสารและกลัวว่าจะเกิดอันตราย จึงยอมเข้ามอบตัวกับพระพิจิตร และเข้าสู้คดีในกรุงศรีอยุธยา ผลปรากฏว่า ขุนแผนชนะความ ได้นางวันทองคืน แต่ขุนแผนก็ยังคิดถึงนางลาวทอง เลยทูลขอ แต่สมเด็จพระพันวษากริ้วมาก รับสั่งให้จำคุกขุนแผน นางแก้วกิริยาจึงตามเข้าไปปรนนิบัติในคุก
รักสามเส้าของ ขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง

ภาพจาก ช่อง One

กำเนิดพลายงามและพลายชุมพล ลูกขุนแผน

          เมื่อนางวันทองมาเยี่ยมขุนแผนในคุกและถูกขุนช้างฉุดเอาตัวไปที่เมืองสุพรรณบุรี และได้คลอดบุตรชายชื่อว่า พลายงาม เมื่อขุนช้างรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตัวเอง ก็วางแผนจะลวงไปฆ่าทิ้งในป่า แต่ผีพรายมาช่วยบอกไว้ นางวันทองจึงให้พลายงามเดินทางไปหาย่าที่เมืองกาญจนบุรีและอยู่กับย่าจนโต บวชเรียนเป็นสามเณร และร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมต่าง ๆ เมื่ออายุถึงเกณฑ์เข้ารับราชการ ก็ถวายตัวเข้าวังไปเป็นมหาดเล็ก และออกรบในสงครามที่หัวเมืองเชียงใหม่ และทูลขออภัยโทษให้ขุนแผนไปออกรบด้วย ขุนแผนกับนางลาวทองจึงพ้นโทษ และในระหว่างนั้นนางแก้วกิริยาก็คลอดบุตรชายชื่อว่า พลายชุมพล

          ในขณะที่ไปทำสงคราม ขุนแผนได้แวะเยี่ยมพระพิจิตร พลายงามจึงได้เจอกับ นางศรีมาลา และได้หมั้นหมายกันไว้ เมื่อชนะศึกสงคราม ขุนแผนได้เลื่อนยศเป็น พระสุรินทรฦาไชย ครองเมืองกาญจนบุรี และพลายงามได้เลื่อนยศเป็น จมื่นไวยวรนาถ และพระราชทาน นางสร้อยฟ้า ให้แก่พลายงาม จึงได้แต่งงานกับนางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาพร้อมกัน  

ประหารนางวันทอง จุดจบรักสามเส้า

           เรื่องราวความระหองระแหงของบ้านขุนแผนและบ้านขุนช้างมีอยู่เรื่อย ๆ จนเป็นคดีความกันระหว่างขุนช้างและจมื่นไวยอยู่บ่อยครั้ง จมื่นไวยจึงไปรับนางวันทองกลับมาอยู่ด้วย ขุนช้างก็พยายามจะติดตามไปด้วย แต่จมื่นไวยไม่ยอม ขุนช้างจึงไปร้องทุกข์ถวายฎีกา สมเด็จพระพันวษาจึงรับสั่งให้ขุนแผน ขุนช้าง และนางวันทอง เข้าเฝ้า และรับสั่งถามว่านางวันทองจะเลือกอยู่กับใคร แต่นางเกิดความลังเลเพราะยังรักและห่วงใยกับขุนแผน แต่ก็ผูกพันและยอมรับในความดีของขุนช้าง นางจึงตอบไม่ได้ ทำให้สมเด็จพระวันวษาโกรธมาก จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิต แม้จมื่นไวยจะเข้าเฝ้าทูลขอพระราชทานอภัยโทษจนสำเร็จ แต่ก็ไม่ทันเพชฌฆาตที่ได้ลงดาบประหารนางวันทองไปแล้ว

ขุนช้างขุนแผนในสื่ออื่น ๆ

          จากความสนุกสนานที่ถูกเล่าต่อ ๆ กันมาทำให้นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ถูกเนรมิตให้เป็นละครและภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง ถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละครต่าง ๆ ได้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • ละคร ขุนช้าง ขุนแผน (ปี 2542) ออกอากาศทางช่อง 3

  • ภาพยนตร์เรื่อง ขุนแผน (พ.ศ. 2545) 

  • ละครเรื่อง ขุนแผนแสนสะท้าน (พ.ศ. 2560) ออกอากาศช่องจ๊ะทิงจา 

  • ละครเรื่อง วันทอง (พ.ศ. 2564) โดย ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ รับบทเป็นนางวันทอง ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ รับบทเป็นขุนแผน และชาคริต แย้มนาม รับบทเป็นขุนช้าง ออกอากาศช่อง One31 

           เรื่องราวขุนช้างขุนแผน เป็นนิทานพื้นบ้านที่ไม่ได้พูดถึงความรักระหว่างหนุ่มสาวอย่างเดียว แต่ยังให้ทั้งความรู้ คติสอนใจ และความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย ใครที่สนใจอยากรู้แบบเต็ม ๆ ก็ลองไปหาอ่านดูได้ หรือใครจะดูแบบสนุก ๆ ก็ติดตามดูจากละครเรื่อง วันทอง ทางช่อง One31 ที่กำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้ได้เลย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ ขุนช้าง ขุนแผน ย้อนอดีตความรักสุดดราม่าที่เลือกไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2567 เวลา 16:06:12 198,409 อ่าน
TOP
x close