เรื่องน่ารู้เมื่อต้องไปอยู่ “โรงพยาบาลสนาม”

           มาทำความรู้จัก “โรงพยาบาลสนาม” สถานที่รองรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 พร้อมไขข้อสงสัยต่างจาก Hospitel และโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร และกลุ่มไหนเข้าข่ายจะได้ไปรักษาตัวที่นี่ เช็กเลย
โรงพยาบาลสนาม

          ผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่ก็ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนเกิดปัญหาเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ นำไปสู่การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจทำให้หลายคนมีความกังวลถึงความเป็นอยู่ รวมไปถึงกระบวนการรักษา ดังนั้นเรามาเจาะลึกโรงพยาบาลสนามกันหน่อยดีกว่า ว่าจริง ๆ แล้วที่นี่เป็นอย่างไร

โรงพยาบาลสนาม คืออะไร ?

โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก สำนักข่าว INN

           โรงพยาบาลสนาม หรือ Field Hospital คือ สถานที่รักษาพยาบาลที่มีระบบบริการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก อาจเป็นภายในบริเวณโรงพยาบาลหรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือหอประชุม เป็นต้น เพื่อดูแลและประคับประคองผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการ มีอาการคงที่ หรือผู้ป่วยที่ฟื้นตัวได้ดีจากภาวะวิกฤต มีอาการไม่รุนแรง และยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ระบบการรักษาเป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถเคลมประกันโควิดได้ด้วยนะคะ

โรงพยาบาลสนาม ต่างจาก Hospitel และโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไร

           การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่ Hospitel ก็เพื่อช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพื่อสำรองเตียงเอาไว้ให้ผู้ป่วยวิกฤตหรือผู้ป่วยหนักโรคอื่น ๆ ได้เข้ารักษาตามปกติ ทั้งนี้ การส่งผู้ป่วยโควิด 19 ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

การรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม

          การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในโรงพยาบาลสนาม จะใช้หลักการ Telemedicine & Care คือประเมินอาการออนไลน์ผ่านกล้องกับแพทย์ผู้ทำการรักษา และหากอาการหนักจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งเกณฑ์ของผู้ป่วยโควิด 19 ที่จะได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ 

  • ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย 

  • ผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

  • ไม่ใช่ผู้ป่วยตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

  • ไม่ใช่ผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุ 

โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก Brickinfo Media / Shutterstock.com

การรักษาตัวใน Hospitel

           Hospitel (Hospital+Hotel) คือ การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นหอผู้ป่วยชั่วคราว มีไว้รองรับผู้ป่วยในระยะสังเกตอาการ และดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจนอาการดีแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องพักรักษาตัวภายใต้การดูแลของแพทย์ให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการดูแลจะเป็นการติดตามวัดสัญญาณชีพและระดับออกซิเจนในเลือดเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง และหากพบอาการผิดปกติก็จะส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

  • ผู้ป่วยใหม่ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย 

  • ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการหลังจากนอนโรงพยาบาลมาแล้ว 4-7 วัน และไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

  • ผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการแต่ไม่มีภาวะเสี่ยงหรือภาวะร่วม หลังจากนอนโรงพยาบาลมาแล้ว 4-7 วัน

  • ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ที่ไม่มีอาการหรือภาวะเสี่ยงร่วม

  • ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะทางจิตเวช

  • ต้องลงทะเบียนและ X-ray ปอดก่อน

การรักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วไป

           ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก มีภาวะเสี่ยงที่อาการจะรุนแรง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัว ตั้งครรภ์ มีภาวะอ้วน รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ปอด มีภาวะปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ กลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และแม้จะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel อยู่ก่อนแล้ว แต่หากพบอาการผิดปกติและเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง แพทย์ก็จะให้ย้ายมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลทั่วไป

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยคนไหนที่จะได้พักรักษาตัวทั้ง 3 แห่งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินจากอาการของผู้ป่วยแต่ละราย และจะต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์ก่อน

กว่าจะมาเป็นโรงพยาบาลสนาม มีการเตรียมพร้อมอย่างไร

โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

           เมื่อเตียงในโรงพยาบาลเต็มจนไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มได้ ทางมหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ โรงยิม หรือแม้กระทั่งวัด ก็ได้จัดเตรียมสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวก น้ำ ไฟ เข้าถึงได้ ในการใช้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมปฏิบัติงาน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ ซึ่งทาง กลุ่ม ปตท. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องอุปโภค-บริโภคให้แก่ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด
โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องไปโรงพยาบาลสนาม

          สิ่งที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามควรนำไปด้วย มีดังนี้

  • ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว ผ้าเช็ดตัว ไดร์เป่าผม แก้วน้ำ สกินแคร์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นประจำ 

  • ชุดเครื่องนอน หากอยากนอนสบาย ๆ ที่นอนนุ่ม ๆ ควรเตรียมมาด้วย

  • เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ควรเตรียมไปให้ครบ 14 วัน เพราะอาจซักตากไม่สะดวก 

  • ปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง แบตฯ สำรอง

  • ทิชชูเปียก ทิชชูแห้ง ผ้าอนามัย (สำหรับสุภาพสตรี)

  • ที่คาดปิดตาตอนนอน เพราะเปิดไฟตลอด และหูฟัง

  • ขนม อาหารแห้ง 

  • ของเล่นแก้เบื่อ เช่น หนังสือ รูบิก กันดั้ม หรือบอร์ดเกมต่าง ๆ 

เปิดรายชื่อโรงพยาบาลสนาม มีที่ไหนบ้าง

           ในขณะนี้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วทุกภาค กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนี้
โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่

           โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 50 เตียง, มหาวิทยาลัยมหิดล 470 เตียง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 442 เตียง, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 360 เตียง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ วิทยาเขตนนทบุรี 350 เตียง

โรงพยาบาลสนามภาคกลาง ได้แก่

           มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก 300 เตียง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สุพรรณบุรี 100 เตียง

โรงพยาบาลสนามภาคเหนือ ได้แก่

            มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 100 เตียง, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1,420 เตียง, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 200 เตียง และมหาวิทยาลัยนเรศวร 100 เตียง

โรงพยาบาลสนามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่

             มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 3,736 เตียง, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 1,030 เตียง และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 638 เตียง

โรงพยาบาลสนามภาคตะวันออก ได้แก่

            มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 250 เตียง

โรงพยาบาลภาคใต้ ได้แก่

            มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภูเก็ต 350 เตียง, มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา 350 เตียง, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 260 เตียง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประจวบคีรีขันธ์ 144 เตียง, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 110 เตียง และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 100 เตียง
โรงพยาบาลสนาม

             เพราะที่ผ่านมา “ไม่มีวิกฤตไหนที่คนไทยเอาชนะไม่ได้” และโควิด 19 ระลอกใหม่ครั้งนี้เราก็จะไม่ยอมแพ้เช่นกัน ขอแค่คนไทยสู้ภัยโควิดไปด้วยกัน อย่างที่กลุ่ม ปตท. ร่วมสานพลังใจด้วยการทุ่มงบกว่า 30 ล้านบาท ในการสนับสนุนทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนงบประมาณจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มอบอุปกรณ์สิ่งของที่จำเป็นทางการแพทย์และสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ อีกทั้งยังสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยด้วยการมอบแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ กล้อง CCTV เครื่องวัดอุณหภูมิแบบมีกล้อง เป็นต้น
โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

            โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังช่วยเหลือสิ่งของที่จำเป็นอื่น ๆ อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สนับสนุนชุดกาวน์จากเม็ดพลาสติกจีซี แก่จังหวัดระยอง และบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการมอบกาแฟดริป จาก คาเฟ่ อเมซอน และเบเกอรี่ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาท
โรงพยาบาลสนาม

ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โรงพยาบาลสนาม

           ณ เวลานี้ “ยิ่งห่วง ยิ่งต้องห่าง” อยู่บ้านหยุดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด 19 และกลุ่ม ปตท. ขอ #สานพลังใจWeFightTogether เพื่อรวมพลังให้ทุกฝ่ายผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย เพียงใจสู้ ยิ้มสู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนไทยเอาชนะทุกอุปสรรคได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาพจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), Hfocus, thebangkokinsight, กรุงเทพธุรกิจ, แนวหน้า

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้เมื่อต้องไปอยู่ “โรงพยาบาลสนาม” อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2564 เวลา 16:04:21 10,219 อ่าน
TOP
x close