x close

รัฐบาล ยัน ไทยยังไม่เข้าร่วม CPTPP หลังหลุดเอกสารประชุมลับ จนโซเชียลเมนต์สนั่น

          รองโฆษกรัฐบาล ยันไทยยังไม่มีขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP ล่าสุด ครม. สั่งให้ขยายเวลาศึกษา ข้อดี-ข้อเสีย ออกไปอีก 50 วัน หลังโซเชียลแห่ต้านหวั่นยาแพง เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกไม่ได้

CPTPP
ภาพจาก  เฟซบุ๊ก FTA Watch

        จากกรณี เพจเฟซบุ๊ก FTA Watch โพสต์ภาพที่อ้างว่าเป็นเอกสารลับ เกี่ยวกับการประชุมวาระลับของคณะรัฐมนตรี ที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เสนอเรื่องผลการดำเนินการเรื่อง CPTPP โดยขอขยายเวลาศึกษา 50 วัน พร้อมระบุว่า ไทยอาจลงนามเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ที่เคยสร้างความกังวลให้กับประชาชนว่าอาจทำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองไม่ได้ รวมทั้งอาจทำให้ยามีราคาที่สูงขึ้นนั้น จนทำให้ชาวเน็ตต่างพากันติดแฮชแท็ก #NoCPTPP จำนวนมากนั้น

CPTPP
ภาพจาก รัฐบาลไทย

          ล่าสุดวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 TNN รายงานว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ไม่มีมติเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แต่อย่างใด มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด

        โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ กนศ. จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนการดำเนินการ เพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง CPTPP
CPTPP

CPTPP คืออะไร

          CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นการตกลงทางการค้าเสรี ที่ครอบคลุมในเรื่องหลายด้านทั้งในด้าน การค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

          ที่จริงแล้วข้อตกลงดังกล่าวเริ่มต้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 2549 ภายใต้ชื่อเดิมคือ TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2550 ประเทศสมาชิกที่เหลือจึงตัดสินใจสานต่อความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า "CPTPP" มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

CPTPP

ข้อเสีย CPTPP  

          - ประเทศไทยต้องปรับแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ส่งผลให้เกษตรมีต้นทุนมากขึ้น เพราะไม่สามารถเก็บเมล็ดพืชไว้ปลูกในปีต่อไปได้

          - มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะมารุกรานตลาดในเมืองไทย เพราะได้รับสิทธิ์ที่มากขึ้น

          - ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์แก่องค์การเภสัชกรรม ในการจัดซื้อยาให้แก่ภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น

          - ยกเลิกการช่วยเหลือแก่รัฐวิสาหกิจ ทำให้ค่าใช้จ่ายจำเป็นของประชาชนสูงมากขึ้น

          - CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list ทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

CPTPP


ข้อดี CPTPP

          - สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้า และสร้างแรงดึงดูดให้การลงทุนที่ประเทศไทย

          - ยกระดับมาตรฐานเรื่องกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนให้แก่ประเทศไทย

          - รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

          - ช่วยขยายการค้าของประเทศไทยแก่ประเทศสมาชิก CPTPP

          - หากเข้าร่วม GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.12% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 13,323 ล้านบาท

          - เงินในการลงทุนจะเพิ่มขึ้น 5.14% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 148,240 ล้านบาท

          - การส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 3.47% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 271,340 ล้านบาท

          - เงินที่ได้จากการจ้างงานจะมากขึ้นถึง 73,730 ล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก FTA Watch, TNNmangozero


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐบาล ยัน ไทยยังไม่เข้าร่วม CPTPP หลังหลุดเอกสารประชุมลับ จนโซเชียลเมนต์สนั่น อัปเดตล่าสุด 6 พฤษภาคม 2564 เวลา 13:10:03 16,017 อ่าน
TOP