ของใช้ส่วนตัวแบบไหนบ้างที่ไม่ควรให้คนอื่นยืมไปใช้ แม้จะเป็นเพื่อนฝูงที่สนิทรู้ใจก็ต้องระวัง เพราะสุ่มเสี่ยงจะโดนชิ่ง ขโมยข้อมูล หรือทำให้เสียทรัพย์ได้ ของแบบนี้ใครเขาให้ยืมกัน !
แม้การแบ่งปันจะเป็นเรื่องที่ดี แต่กับของบางอย่างก็ไม่ควรใจกว้างให้ใครยืมไปใช้ แม้จะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวก็ตาม เพราะอย่างเคสที่เราเห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ เช่น ให้เพื่อนยืมรถแล้วขับไปชนจนเสียชีวิต ให้พี่น้องยืมบัตรเครดิตไปรูดจนเต็มวงเงิน หรือบางคนก็โดนเพื่อนหักหลัง มิตรภาพขาดสะบั้นเพราะให้ยืมของใช้ส่วนตัวไป ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดเรื่องที่ต้องมานั่งเสียใจ อย่าให้ใครยืมของ 9 อย่างนี้เลยดีกว่า มีอะไรบ้าง มาดูกัน
1. โทรศัพท์มือถือ
เพราะโทรศัพท์สมัยนี้ล้ำหน้าไปเยอะ สามารถเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ได้มากมาย และที่สำคัญคือมีแอปพลิเคชันธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น โอน ถอน ชำระค่าบริการต่าง ๆ หรือแม้แต่ทำเรื่องกู้สินเชื่อผ่านมือถือก็ง่าย ดังนั้นหากให้ใครยืมโทรศัพท์ไปใช้ ก็เท่ากับว่าเพิ่มความเสี่ยงที่เขาจะเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของเราด้วย
2. บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรกดเงินสดอื่น ๆ
แม้จะไม่ได้ให้ยืมเงินโดยตรง แต่ถ้าให้ยืมบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรกดเงินสดไป ก็เท่ากับว่าเหมือนเรายกเงินให้เข้าไปใช้เลยนะคะ ซึ่งนอกจากอาจเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืนแล้ว (ในกรณีที่โดนเชิดเงินไป) ยังเสี่ยงโดนโจรกรรมข้อมูลบัตรไปใช้ทำธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย และไม่ควรบอกเลขบัตรให้ใครรู้ด้วย
3. คอมพิวเตอร์ หรือแล็ปท็อป
คอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปจัดเป็นของใช้ที่มีข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของเครื่องอยู่ ไม่ว่าจะรหัสผ่านเข้าอีเมล การเข้าถึงบัญชีโซเชียลต่าง ๆ หรือแม้แต่ข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ บนเว็บไซต์ธนาคารที่เคยเข้าใช้ แม้ว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกขโมยข้อมูลได้ ดังนั้นของแบบนี้ให้เป็นของใช้ส่วนตัวดีที่สุด อย่าให้ใครยืมเลยเนอะ
4. เอกสารส่วนตัว
ไม่ว่าจะบัตรประชาชน ใบขับขี่ สมุดบัญชีธนาคาร สมุดเช็ค สำเนาทะเบียนบ้าน เล่มทะเบียนรถ โฉนดที่ดิน หรือเอกสารอื่นที่ปรากฏข้อมูลส่วนตัว ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ใครยืมไปใช้ หรือส่งข้อมูลเหล่านั้นให้เด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการถูกสวมรอยทำธุรกรรมหรือทำการอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่าย ๆ เลย
5. อีเมล
สมัยนี้อีเมลเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับการสมัครบัญชีออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย สมัครใช้งานแอปพลิเคชันธนาคาร หรือการสมัครใช้แอปฯ อื่น ๆ ก็จำเป็นต้องกรอกและเปิดใช้งาน (Activate) ผ่านอีเมล ซึ่งถ้าให้ใครยืมไปก็อาจเสี่ยงต่อการถูกนำอีเมลไปใช้สมัครเฟซบุ๊กปลอม หรือบัญชีโซเชียลปลอมอื่น ๆ สร้างข้อมูลปลอมเพื่อหลอกลวงขายของ ยืมเงิน หรือทำสิ่งผิดกฎหมายได้
6. บัญชีโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้ง Facebook, Line, Twitter, Instagram หรือ TikTok ควรเป็นสิ่งที่ใช้แค่เราคนเดียว ไม่ควรให้คนอื่นยืม เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวังให้ดีอาจถูกสวมรอย เปลี่ยนรหัสผ่าน แล้วนำไปแอบอ้างขายของ หลอกยืมเงิน หรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมายในรูปแบบอื่นได้
7. รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
ไม่ว่าจะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์หากเป็นชื่อของคุณก็ไม่ควรให้ใครยืมไปสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะอาจถูกยืมรถไปใช้ขนยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย หรือกระทำการใด ๆ ที่เสี่ยงขัดต่อข้อกฎหมายได้ หรืออาจถึงขั้นขับไปชนคนเสียชีวิตก็มีให้เห็นแล้วจากข่าว (หนุ่มยืมรถเพื่อนขับไปรับแฟน เปรี้ยวจัดซิ่งแซงซ้ายแต่ตกขอบทางชนดะคันหน้า - กำแพงดับ) หรือขับชนจนรถพังเสียหาย ซึ่งก็ควรต้องนึกถึงประเด็นนี้ เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และอาจมีผลกับการเคลมประกันอีกด้วย
8. ภาพถ่าย
หากมีใครมาขอยืมภาพถ่ายของเรา ไม่ว่าจะรูปเดียว หรือหลายรูป หลายแอ็คชั่น ก็ไม่ควรให้ยืมนะคะ เพราะอาจโดนใช้รูปไปสวมรอยในแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยเฉพาะแอปฯ หาคู่ออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงภาพถ่ายอาหาร วิว แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็อาจะถูกนำไปขายหารายได้เข้ากระเป๋าได้ด้วย ดังนั้นควรใส่ลายน้ำให้ชัดเจนเสียก่อน
9. ปืน
ปืนถือเป็นอาวุธที่ต้องมีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตในการใช้งาน และสามารถตามหาเจ้าของได้ไม่ยาก หากใช้ปืนไปทำสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากผู้ก่อเหตุแล้ว เจ้าของปืนก็จะเดือดร้อนด้วย ดังนั้นก็อย่าให้ใครยืมปืนเราไปใช้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม
นอกจากนี้ไม่ว่าจะรถยนต์ ของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ อย่างหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยที่เคยใส่แล้ว ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน เสื้อผ้า แปรงสีฟัน ในยุคโควิดแบบนี้ก็ควรใช้ของใครของมันไปก่อนเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กกองปราบปราม, เฟซบุ๊กสำนักงานกิจการยุติธรรม, เฟซบุ๊กสายตรงกฎหมาย