x close

พ่อคาใจ เด็ก 11 ขวบ ขาขาด รพ. แจงอาการยังไม่เร่งด่วน ต้องรอผลโควิด สุดท้ายดับ !

          พ่อคาใจ ลูกสาววัย 11 ขวบ เกิดอุบัติเหตุขาขาด แต่หมอให้รอผลตรวจโควิด 19 จนสุดท้ายเด็กเสียชีวิต ขณะที่โรงพยาบาลขอแจงอีกมุม จำเป็นต้องรอผลตรวจก่อน


พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

          จากกรณีคุณพ่อท่านหนึ่งขับรถไปต่างจังหวัดแล้วประสบอุบัติเหตุ ทำให้รถอัดก๊อปปี้ลูกสาววัย 11 ขวบ และลูกสาววัย 3 ขวบ ลูกสาวคนโตขาขาดในที่เกิดเหตุ กู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลที่เพชรบุรี โรงพยาบาลบอกว่าขอให้มีการตรวจโควิด 19 และต้องรอผลก่อนทำการรักษา รอจนเที่ยงอีกวัน สุดท้ายน้องวัย 11 ขวบ เสียชีวิต

          รายการ โหนกระแส วันที่ 7 มิถุนายน 2564 สัมภาษณ์ พ่อเอ็ม พ่อเด็กที่เสียชีวิต, คุณทราย ผู้ติดต่อประสานงานกู้ภัย, นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบินและแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่เท่าไหร่ ?


          เอ็ม : 4 มิถุนายน ขับรถเพื่อไปขนสินค้าแล้วเกิดอุบัติเหตุ เดินทางจากชลบุรีไประนอง เกิดอุบัติเหตุตรงหนองหญ้าปล้อง ตอนเกิดเหตุประมาณเที่ยงคืน รถเกิดเสียหลักตกถนนและชนเสาไฟฟ้า ลูกสาวคนโต 11 ขวบ ชื่อน้องเฌอเอม อีกคนชื่อน้องอัญชัน 3 ขวบ ไปกัน 3 คน คุณแม่ทำงานครับ เฌอเอมนั่งด้านหน้า น้องอัญชันนอนอยู่เบาะด้านหลัง รถเป็นรถเทรลเลอร์หัวลาก

พ่อหลับแล้วรถพุ่งชนเสา ตอนนั้นเป็นยังไง ?

          เอ็ม : พอเกิดเหตุก็ตกใจ ร้องเรียกลูก คนโตตอบรับก่อน แล้วคนโตเรียกหาน้อง น้องก็ร้องขาน ผมก็หาน้องคนเล็กก่อน พอเจอน้องคนเล็ก คนโตตะโกนบอกว่าป่าป๊าหนูขาขาด แต่ไม่มีร้องไห้นะครับ ผมก็บอกใจเย็น ๆ นะลูก เดี๋ยวป่าป๊าลงไปช่วย ผมก็เอาลูกคนเล็กมานั่งริมถนน

น้องเฌอเอมรู้ตัวเดี๋ยวนั้นว่าขาขาด ?
 
          เอ็ม : รู้ครับ มีสติ ไม่ร้องเลยครับ ไม่ได้วิตกอะไรเลย

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

ตอนน้องบอกขาด คุณพ่อเห็นไหม ?


          เอ็ม : ตอนนั้นไม่เห็น มันมืดมาก แต่ตอนที่ผมลงไปช่วย มันเริ่มมีแสงไฟจากรถเราสลัว ๆ ก็เห็นว่าลูกสาหัส ก็เลยอุ้มลูกไปบนถนน เพื่อเรียกให้คนช่วย แล้วก็คุณทรายเข้ามาโทร. แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ครับ

คุณทรายเห็นเหตุการณ์พอดี ?

          ทราย : เขาแซงหน้ารถมอเตอร์ไซค์หนูไปค่ะและขับส่ายค่ะ เห็นอีกทีเขาลงไปแล้ว และเห็นคุณพ่ออุ้มน้องขึ้นมาและเรียงข้างถนน ก็ตกใจ วิ่งไปแจ้งคนที่ไลฟ์ในเพจ เขาจะสามารถช่วยได้ แต่ตรงนั้นมันมืด ไม่มีไฟ ไม่สามารถบอกได้ว่าตรงไหน บวกกับหนูตกใจด้วย พ่อเขาก็สติหลุดไปแล้ว เขาก็วางตัวเล็กไว้ติดถนน หนูก็อุ้มลูกคนเล็กไว้ก่อน แล้วพ่อเขาไปดูน้องคนโต สักพักกู้ภัยก็มาตามคลิปเลยค่ะ

มีคนหนึ่งพยายามโอบกอดน้องไม่ให้ดูขา ?

          ทราย : คนนั้นเป็นแฟนหนูเองค่ะ เขาโอบไว้ พยายามชวนคุย เพราะน้องบอกตลอดว่าน้องง่วง จะนอน น้องเริ่มหนาวแล้วค่ะ ส่วนคนเล็กเขาร้องตกใจ แต่น้องไม่มีแผลภายนอก มีแค่รอยถลอกตามตัวนิดหน่อย

ตัวพ่อล่ะ ?

          ทราย : แผลที่เท้าเหวอะเลยค่ะ ฉีกขาด และที่แขนค่ะ ตอนนั้นทุกคนมีสติค่ะ

กู้ภัยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ?

          ทราย : ห่อขาน้องค่ะ เพราะน้องสาหัสจริง ๆ แล้วรีบไปโรงพยาบาลเลย ไปถึงโรงพยาบาลพ่อก็พาลูกไปห้องฉุกเฉิน หนูก็บอกว่าเดี๋ยวหนูทำบัตรให้ แต่พอถึงห้องบัตรเขาไม่พอใจ เขาถามว่าเอกสารส่วนตัวอยู่ไหน บัตรประชาชนอยู่ไหน หนูบอกว่าพี่เขาเกิดอุบัติเหตุมา บัตรพ่อเขาอยู่ในที่เกิดเหตุ

บัตรพ่อไม่ได้ติดตัว เพราะตกอยู่ในรถหมด ไม่ได้เอาอะไรมาเลย เอาชีวิตลูกก่อน ?

          ทราย : ค่ะ แล้วเขาก็บอกว่าไม่ได้นะ ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ ไปหาชื่อมา ที่อยู่ เลขประชาชน อายุ พ่อก็เลยบอกมา หนูก็เขียนให้ทั้ง 3 คนเลย กว่าเขาทำให้ เขาทำไปส่ายหัวไป ก็เข้าใจว่าไม่มีข้อมูลส่วนตัวเลยเพราะเขาไม่ใช่คนที่นี่ ไม่มีประวัติการรักษา แต่พ่อเขาอยากให้ดูคนเล็กก่อนว่าเป็นยังไงบ้าง ก็พาไปห้องฉุกเฉิน พยาบาลห้องฉุกเฉินก็บอกว่าไม่ได้ รอบัตรอยู่ ถ้าไม่มีบัตรยังรักษาให้ไม่ได้ เป็นบัตรเหมือนเราทำบัตรรักษาค่ะ

ไปลงชื่อเป็นบัตรโรงพยาบาล ถ้าไม่มีบัตรนี้ไม่รักษาให้ ?

          ทราย : ใช่ค่ะ ตัวพ่อเองเดินเลือดเป็นทางเลย ในห้องฉุกเฉิน เลือดที่เท้าไหลตลอดค่ะ

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

น้องเฌอเอมวัย 11 ขวบ ขาด้านขวาขาด ?

          เอ็ม : ขาดที่น่องครับ ต้นน่องเลยครับ

ติดกับตัวหรือหลุดไปเลย ?

          เอ็ม : ด้านที่ขาดหลุดไปเลย หลุดไม่มีชิ้นแล้ว ข้างล่างมีแค่กระดูกหัวเข่าโผล่ออกมา ข้างซ้ายขาดช่วงนิ้ว ขาดครึ่งฝ่าเท้า ด้านซ้ายนิ้วหายหมดเลย

โรงพยาบาลทำยังไง ?

          เอ็ม : ก็ทำแผลให้ลูกสาวคนโต ให้เลือด ให้น้ำเกลือ และไม่แน่ใจเป็นยาอะไร ฉีดเข้าไปในกระปุกน้ำเกลือ น่าจะแก้ปวดแก้อะไร ก็ทำการรักษาแค่นั้นครับ

เป็นประเด็นขึ้นได้ยังไง ?

          เอ็ม : ผมแค่อยากรู้ครับ ตอนแรกผมถามว่าให้รักษาเลยได้ไหม เขาบอกให้รอผลโควิด เขาตรวจโควิด แล้วเขาก็บอกนะว่าน้องสาหัส และถามว่ายินยอมให้ผมตัดแต่งขาน้องไหมเพื่อทำการรักษา จะได้เย็บเส้นเลือดตามการแพทย์ ผมก็ขอโทร. หาญาติ 10 นาที ก็เอาโทรศัพท์คุณทรายติดต่อว่าจะผ่าตัดไหม เขาบอกว่าเซ็นผ่าตัดไปเลย ไม่ต้องรอ เพราะแผลมันโคม่า เลยให้ผ่าตัดเลย

ตอนนั้นน้องอยู่ที่ไหน ห้องฉุกเฉินหรือไอซียู ?

          เอ็ม : นอนอยู่ห้องฉุกเฉิน ไม่ได้ทำการเคลื่อนย้าย มีแค่กระปุกน้ำเกลือกับเลือด

เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คุณหมอทำถูกแล้ว ?

          นพ.สุระ : ส่วนหนึ่งถ้าอยู่ในห้องฉุกเฉิน เขาจะมีความพร้อมดูแลคนไข้อยู่แล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุฉุกเฉินที่หนัก การให้เลือดกับคนขาขาดต้องให้อยู่แล้ว เพราะเท่าที่ดูมีโอกาสช็อกอยู่แล้ว จากการเสียเลือดค่อนข้างเยอะ สำหรับเด็กตัวน้อย วิธีการคือ หนึ่ง ต้องห้ามเลือดก่อน ถ้าเลือดขาดจริง ๆ เกิดภาวะช็อกก็ต้องให้เลือดเพิ่มเข้าไป

คือถูกแล้ว ?

          นพ.สุระ : ขั้นตอนเหล่านี้ก็ถือว่าถูกต้อง

หลังจากนั้นยังไงต่อ ?

          เอ็ม : ผมก็ไปถามอีกทีว่ามันนานไหมกว่าจะได้ผลตรวจโควิด เขาบอกว่าต้องรออย่างเดียว อาจจะเช้าหรือบ่าย เขาแจ้งมาแบบนี้ ลูกนอนอยู่ในห้องฉุกเฉินประมาณตี 4 แล้วย้ายไปห้องพักครับ

มีหมอมาดู ประเมินอาการไหม ?

          เอ็ม : มีหมอดูอยู่แต่ว่าไม่ได้รักษาอะไรเพิ่มเติม ทำแค่นั้น มีแต่เติมน้ำเกลือ ยืนยันว่าต้องรอผลตรวจโควิดให้ได้ ทุกครั้งที่ผมไปถามให้รออย่างเดียว ผมเลยถามว่าผลโควิดอยู่ไหน ผมไปเอาเองได้ไหมเพราะผมสงสารลูก เขาบอกเป็นขั้นตอนการแพทย์ เดี๋ยวเขาจะส่งมาเอง ตอนนั้น 9 โมงกว่า ๆ เขาก็ให้รอครับ

สุดท้ายจนถึงเช้าแล้วเป็นยังไง ?


          เอ็ม : ตอนประมาณ 10 โมงเช้า ลูกเริ่มเพ้อเรียกคนโน้นคนนี้ เรียกใครก็ไม่รู้ เรียกมากินขนม ผมก็เริ่มรู้แล้วเพราะผมเคยทำพวกมูลนิธิ เพียงแต่ผมไม่ใช่มืออาชีพ ก็พอรู้ว่าอาการลูกเป็นยังไง ผมก็เริ่มทำใจแล้ว แต่เวลาไปถึงประมาณช่วงเที่ยงเขาย้ายลูกผมไปไอซียู ซึ่งมั่นใจว่าลูกผมไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไรแล้ว ผมก็เลยสงสัยว่าตอนที่เขาย้ายไปผลโควิดมาพอดีเหรอครับ ทำไมก่อนหน้านี้ไม่ย้ายไป เพราะเด็กก็ไม่ไหวแล้ว ทำไมไม่ย้ายตั้งแต่แรก ช่วงก่อน 11 โมง ทำไมไม่ทำ ลูกผมเริ่มอาการแย่ เริ่มตาลอย

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

สุดท้ายน้องเสียชีวิต ?

          เอ็ม : ผมคิดว่าเสียชีวิตตั้งแต่ย้ายน้องไปไอซียู

ตอนหลังคุณหมอแจ้งว่ายังไง ?


          เอ็ม : เขาเอาเข้าไปซีพีอาร์สัก 20 นาที แล้วก็ออกมาแจ้งให้พ่อหรือแม่เข้าไปดูน้อง ผมก็เปลี่ยนชุดเข้าไปเขาซีพีอาร์ให้ดู ปั๊มหัวใจให้อยู่ เขาบอกว่าเขาช่วยเต็มที่ ผมถามว่าลูกจะรอดไหม เขาบอกว่าเขาช่วยเต็มที่ ซีพีอาร์อยู่ประมาณชั่วโมงกว่า ๆ จนผมรู้แล้วว่าลูกผมไม่ไหวแล้ว น่าจะแตกหมดแล้วข้างใน ถูกการกระแทก สุดท้ายน้องเสียชีวิต

สิ่งที่ค้างคาใจคือผลตรวจโควิด ทำไมไม่รักษาตั้งแต่แรก ทำไมรอถึงเที่ยงอีกวัน สุดท้ายเอาเข้าไอซียูได้ พ่อติดใจว่าผลโควิดมาแล้วเหรอถึงเอาเข้าไอซียู อัญชันล่ะครับ ?


          เอ็ม : เขามาตรวจเบื้องต้น จับตามขา เขาบอกน้องไม่ร้อง ไม่น่าจะเป็นอะไร เป็นหมอผู้ชายมาตรวจ พอญาติผมเริ่มมา เขาก็เอาคนเล็กเข้าไปเอกซเรย์ ตอนแรกไม่ได้เอาไปเอกซเรย์

รอนานไหม ?

          เอ็ม : ญาติผมไปประมาณตี 3 กว่า ๆ เริ่มเอกซเรย์ให้คนเล็ก ตอนตี 1 บอกว่าแตะตรงไหนไม่ร้อง ไม่เป็นไร แต่ผมจับลูก ลูกผมร้องเป็นบางจังหวะ ผมก็ประคองให้ลูกนอน เขาเจ็บเขาก็เอียงข้างหนึ่ง เอาหมอนไปสอดไว้ให้เขานอน แต่หมอบอกว่าไม่เป็นไร

สุดท้ายเอกซเรย์เป็นไง ?

          เอ็ม : เขาบอกว่ากระดูกต้นขาร้าวอย่างเดียว ใส่เฝือกดามให้ ผมก็ขอย้ายโรงพยาบาล มารักษาที่สมุทรปราการ หมอเข้ารักษาแล้วแจ้งเลยว่าลูกผมกระดูกสะโพกคด กระดูกต้นขาร้าว ไม่ได้เป็นแบบที่โรงพยาบาลแรกบอก

อาการเพิ่มขึ้นมา ได้ด้วยเหรอ ?

          เอ็ม : ผมแจ้งถามแล้วว่าต้องเอารถพยาบาลมารับไหม ผมอยู่ในกลุ่มมูลนิธิเขายินดีช่วย เขาบอกไม่เป็นไร สามารถอุ้มกลับได้ พออุ้มกลับมาเข้าโรงพยาบาลสมุทรปราการ เขาก็วินิจฉัยโรค ตอนนี้ลูกทำการผ่าตัดอยู่ที่โรงพยาบาล

โรงพยาบาลแรกบอกไม่เป็นไร พอเข้าเอกซเรย์ตอนตี 3 บอกต้นขาร้าว คุณก็ทำเรื่องย้ายมาสมุทรปราการ โรงพยาบาลสมุทรปราการบอกว่ากระดูกสะโพกคด กระดูกต้นขาร้าว ?

          เอ็ม : ที่นี่ก็ทำการรักษาได้เลย ผมก็เดินเรื่องเอาศพลูกสาวคนโตกลับมาถึงไปแจ้ง พ.ร.บ. ให้ ใช้เวลาข้ามไปอีกวันถึงยื่นเรื่องรักษาให้ แต่หมอที่นี่รักษาไปแล้ว

แพทย์

มองเรื่องนี้ยังไง ?


          นพ.สุระ : จริง ๆ ตั้งแต่นำส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสคุยภายใน พอทราบข้อมูลมาบ้าง ขั้นตอนน่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสารที่ไม่ค่อยชัดเจนตั้งแต่แรก แต่การปฏิบัติขั้นตอนก็เป็นไปตามหลักปฏิบัติพอสมควร เพราะเมื่อเกิดเหตุ เริ่มการคัดกรองคนไข้เป็นรายกลุ่ม ไม่ว่าจะกลุ่มเขียว เหลือง แดง น้องแดงแน่ ๆ เพราะน้องนอกจากขาขาดและเสี่ยงภาวะช็อก นอกจากนี้กระดูกเชิงกรานหักด้วย การให้การรักษาเบื้องต้น ถึงแม้ไม่ได้ใส่ชุดเต็ม PPE แต่ทีมแรกที่ไปดูแลใส่ N95 ใส่เฟซชิลด์ระดับหนึ่ง

จำเป็นต้องรอผลโควิดไปอีกวันหนึ่งเหรอ ?

          นพ.สุระ : ผมเชื่อว่าอะไรก็ตามที่คุกคามต่อชีวิตคุณหมอ-พยาบาลคงเข้าไปช่วยชีวิตระดับหนึ่ง เท่าที่ทราบไปอยู่ในช่วงเกรย์โซน ยังไม่ย้ายไปอยู่โซนเซฟมาก หมายถึงส่วนที่สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโควิด แต่ทีมแพทย์-พยาบาลที่อยู่ตรงนั้นใส่ชุดป้องกันระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าการมอนิเตอร์สังเกตสัญญาณชีพทั้งหลายก็เป็นไปได้ระดับหนึ่ง ให้การรักษาเบื้องต้นทั้งการให้น้ำเกลือและเลือดครับ

ต่อสายหา "นพ.เอกโชติ พีรธรรมานนท์" รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ?

          นพ.เอกโชติ  : ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครับ

พ่อติดใจมากว่าทำไมต้องรอตรวจโควิดจนไปถึงเที่ยง สุดท้ายทำให้ลูกเสียชีวิต ?

          นพ.เอกโชติ : ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าเนื่องจากตอนนี้ จ.เพชรบุรี มีการระบาดโควิด แล้วโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เป็นโรงพยาบาลใหญ่โรงพยาบาลเดียวของภาครัฐที่ต้องรับผู้ป่วยผ่าตัดจากโรงพยาบาลชุมชนรอบ ๆ อีก 7 โรงพยาบาลมาดูแล ฉะนั้นโรงพยาบาลเราเลยต้องไม่มีคนติดเชื้อ กรณีห้องผ่าตัด ห้องคลอด หน่วยไอซียู รวมทั้งห้องฉุกเฉิน เราไม่สามารถปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อ เพราะจะทำให้เกิดการกักตัวเจ้าหน้าที่เหมือนหลาย ๆ โรงพยาบาลที่กักตัวไป และต้องปิดดำเนินการ เราเลยต้องสร้างระบบขึ้นมาเซฟหน่วยงานสำคัญ ๆ ของเราไว้ว่าให้เป็นหน่วยงานที่ปลอดภัย ไม่ปิดดำเนินการ ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบกับผู้ป่วยทั้งจังหวัดครับ

กรณีเด็กที่สงสัยว่าต้องตรวจโควิดก่อน แต่น้องขาขาดไปแล้ว เราไม่สามารถใส่ชุด PPE มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปรักษาทันท่วงทีก่อนผลตรวจจะออก หรือตรวจสวอปไปแล้วทำการรักษาก่อนเลยไม่ได้เหรอ ?

          นพ.เอกโชติ : เราต้องตรวจก่อน กรณีคนไข้ไม่รีบเร่งก็ทำการตรวจอย่างนี้ก่อน

ขาขาดนี่เร่งด่วนไหม ?

          นพ.เอกโชติ : ตอนแรกที่น้องมาคิดว่าอาการพอดูได้ แต่ถ้าเร่งด่วนจริง ๆ คนไข้ถูกยิงเข้าช่องท้อง แบบนี้ถือว่าเร่งด่วน ต้องผ่าตัดเลยโดยใส่ชุด PPE ก่อน

กรณีขาขาดข้างหนึ่ง เท้าซ้ายขาดครึ่งหนึ่ง จะยิ่งกว่าถูกยิงหรือเปล่า ?

          นพ.เอกโชติ : เราทำการรักษาอยู่โดยการทำความสะอาดแผลและห้ามเลือดครับผม ชะลอการห้ามเลือด พันแผล ดามไว้ลดการเสียเลือดครับ

ต้องรอผลโควิดอีกวัน ในระหว่างนั้นดูแลรักษาเบื้องต้นไปก่อน ?

          นพ.เอกโชติ : เราไม่ได้รอข้ามวัน คนไข้มาประมาณตี 1 กว่า ๆ วันนั้นเลย ไม่ได้ข้ามวัน วันนั้นเป็นคืนที่ 3 ต่อเช้าวันที่ 4 ไม่ได้ข้ามวันครับ

ตี 1 กว่ารอไปถึงเที่ยง ก็ยืนยันไม่ข้ามวันในมุมอาจารย์ เราก็ทำการรักษาไป ?

          นพ.เอกโชติ : ใช่ครับ แล็บโควิดเราทำเป็นรอบ ๆ ครับ มันจะมีรอบในการตรวจของเขา

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

ชี้แจงว่าจำเป็นจริง ๆ โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีโรงพยาบาลเดียว มีห้องผ่าตัดที่เดียว ฉะนั้นจำเป็นต้องตรวจโควิดก่อนเข้าห้องผ่าตัด ถ้าถูกยิงมาฉุกเฉินก็ทำได้ แต่ถ้าขาขาดมาต้องรอไปก่อน แล้วค่อยดูแลอีกที ?

          นพ.เอกโชติ : อย่างน้อยเราไม่ทอดทิ้งคนไข้ เราดูแลให้เลือด ให้น้ำเกลือ พันแผล ให้ยาระงับความปวดคนไข้ไว้ด้วยครับ

ฟังแล้วยังไง ?

          นพ.สุระ : ก็ตามที่เรียนน่าจะตามขั้นตอน แบ่งโซนกันดูแล เพราะเป็นเคสที่หนัก

ถูกยิงกับขาขาดไป ถูกยิงรุนแรงกว่า ?

          นพ.สุระ : ต้องดูสัญญาณชีพเป็นหลัก เคสนี้เท่าที่ทราบอยู่ในภาวะช็อกอยู่ ดูแลเรื่องป้องกันช็อกแล้วระดับหนึ่ง

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองเรื่องนี้ยังไง ?

          นพ. จเด็จ : ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินต้องดูคนไข้เป็นหลักก่อน การตรวจใด ๆ ถ้าหากต้องใช้เวลา ปกติทางการแพทย์เราจะใช้วิธีดูแลคนไข้เป็นเบื้องต้น ถ้าสงสัยโควิด โรงพยาบาลจะใช้วิธีให้คิดไว้ก่อนว่าคนไข้เป็นโควิด และให้ป้องกันบุคลากรได้เลย ส่วนการส่งตรวจก็สามารถทำได้เพื่อรอ ไม่จำเป็นต้องรอผลเลือด ผลแล็บ หลักการน่าจะใช้วิธีการคือทำคู่ขนานกันได้

กรณีแบบนี้จะทำยังไง โรงพยาบาลชี้แจงมาอย่างหนึ่ง ?

          นพ.จเด็จ : ต้องเรียนนิดหนึ่งว่าในภาวะแบบนี้ ปัญหาสำคัญสุดคือการสื่อสารระหว่างหมอหรือคนไข้หรือญาติ ตรงนี้อาจต้องใช้การพูดคุยกัน ต้องออกตัวก่อนเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราไม่ทราบเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ถ้าผู้ป่วยฉุกเฉิน เสียเลือด ต้องแก้ที่ตัวผู้ป่วยก่อน เพราะอาจมีภาวะช็อกที่ไม่ทราบได้ ต้องห้ามเลือดก่อน การผ่าตัดอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะการห้ามเลือดจะชะลอการผ่าตัดด้วย ถ้าคนไข้ยังสภาพไม่สมบูรณ์ หรือว่าแผลอาจไม่สะอาดนัก คุณหมออาจไม่เย็บปิดแผล แต่ห้ามเลือดไปก่อน

          ตรงนี้สำคัญคือต้องรายงานผลให้ญาติเข้าใจเป็นระยะ ๆ เข้าใจว่าการตรวจโควิดต้องใช้เวลา ถ้าฟังดูเร็ว ๆ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การตรวจไม่ได้เป็นปัญหา แต่ช่วงการตรวจต้องดูผู้ป่วย ดูสัญญาณชีพเป็นระยะ ๆ ดูคนไข้เป็นหลัก ไม่ได้เอาผลตรวจเป็นประเด็น อาการหนักไม่หนักอยู่ที่คุณหมอประเมิน ถ้าประเมินแล้วคนไข้ยังอยู่ในสภาพเริ่มดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าต้องรอผลแล็บถึงจะผ่าน อันนี้เป็นไปได้นะครับ ต้องเรียนก่อน แต่ต้องดูข้อเท็จจริงตรงนั้น แต่การสื่อสารสำคัญที่สุด เพราะญาติอยู่ในภาวะตกใจ การฟังสื่อสารอาจเข้าใจไม่ตรงกัน เลยอาจเข้าใจว่าหมอให้การรักษาที่ไม่เหมาะสม

หนุ่มกรรชัย

ควรต้องได้รับการเยียวยาไหม ?

          นพ.จเด็จ : ต้องดูแลทางญาติไปก่อน เรื่องจิตใจสำคัญที่สุด เรื่องการเยียวยากฎหมายมีอย่างไรเดี๋ยวค่อยไปดูกัน ตอนนี้เราต้องดูแลความรู้สึกของญาติ ตัวผู้เสียหายก่อน เรื่องการรักษาต่าง ๆ ตรงนี้เป็นเบื้องต้นครับ

ทางอาจารย์หมอที่นั่นมาบอกไหมว่าอาการเป็นแบบนี้ ๆ ?

          เอ็ม : เขาดูแต่ไม่แจ้งเรา เขาดูแล้วคุยกันในทีมแพทย์ครับ แต่เขาไม่ได้แจ้งเรา

เรื่องศพโรงพยาบาลไม่ตกแต่งอะไรให้เลยเหรอ ?

          เอ็ม : ไม่ครับ มูลนิธิเพื่อนของผมทั้งหมดเข้ามาช่วยเหลือ และมีทีมแพทย์ จ.ชลบุรี เพิ่งมาเย็บต่อเท้าให้เมื่อคืนครับ
 
         ทั้งนี้ สามารถติดตามชมรายการ โหนกระแส โดยมี หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33




รถบรรทุก

รถบรรทุก

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

ญาติเด็กขาขาด

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

ญาติเด็กขาขาด

แพทย์

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

หนุ่มกรรชัย

หนุ่มกรรชัย

พ่อคาใจ ลูก 11 ขวบ ขาขาด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ่อคาใจ เด็ก 11 ขวบ ขาขาด รพ. แจงอาการยังไม่เร่งด่วน ต้องรอผลโควิด สุดท้ายดับ ! อัปเดตล่าสุด 9 มิถุนายน 2564 เวลา 10:45:42 17,493 อ่าน
TOP