x close

รู้ไว้ไม่เอาต์ ! เทรนด์รีไซเคิลขยะที่น่าจับตามอง ช่วยโลกจากวิกฤตขยะอย่างยั่งยืน

ส่องเทรนด์การรีไซเคิลขยะ เปลี่ยนสิ่งที่ถูกมองว่าไร้ค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยกู้วิกฤตอย่างยั่งยืน

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

ตราบใดที่มนุษย์ยังคงกิน ดื่ม ใช้ ก็ย่อมมี “ขยะ” เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งจัดการไม่ถูกวิธีก็จะเป็นปัญหาตามมา แต่หากกำจัดได้อย่างตรงจุดตั้งแต่ต้นทาง นำกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็จะช่วยลดปัญหาขยะให้กลายเป็นศูนย์ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีแนวคิดและไอเดียในการรีไซเคิลที่น่าสนใจ และถูกนำมาใช้กันหลายพื้นที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนจะมีวิธีไหนบ้าง ตามมาดูกันเลย

Circular Economy แนวคิดกู้วิกฤตขยะที่เริ่มต้นจากผู้ผลิต

ในระบบเศรษฐกิจเก่า หรือ Linear Economy คือ การที่ผู้ผลิตนำทรัพยากรจำนวนมากมาผลิตสินค้า เมื่อใช้เสร็จก็ทิ้งกลายเป็นขยะ แล้วผลิตใหม่ขึ้นมาใช้แทนอีกเรื่อย ๆ (Make → Use → Dispose) แต่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะคำนึงถึงการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้นำไปใช้ได้อย่างคุ้มค่า มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น และเมื่อใช้เสร็จแล้วนำกลับมาหมุนเวียนใหม่ หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกเป็นวงจรไม่รู้จบ (Make → Use → Return)

Zero Waste แนวคิดการกำจัดให้เหลือศูนย์ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้

เป็นวิธีที่คนทั่วไปสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ๆ ด้วยหลัก 1A3R นั่นก็คือ

  • Avoid หลีกเลี่ยงการบริโภคที่ทำให้เกิดขยะที่กำจัดยาก
  • Reduce ลดการใช้ที่ก่อให้เกิดขยะ
  • Reuse นำของที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้งานอีกครั้ง
  • Recycle การนำของเหลือใช้ไปรีไซเคิลมาใช้ใหม่
เทรนด์รีไซเคิลขยะ

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แนวคิดมีจุดประสงค์หลักเหมือนกันก็คือ การลดปริมาณของเสีย แต่ส่วนใหญ่ Circular Economy นิยมนำไปใช้ในระดับองค์กรผู้ผลิต เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในขณะที่แนวคิด Zero Waste เน้นที่ผู้บริโภคทั่วไปเป็นหลัก ด้วยการกำจัดขยะในชีวิตประจำวันแบบง่าย ๆ นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการกำหนดตายตัว เพราะทุกแนวคิดมีเป้าหมายเดียวกันคือ “การลดขยะ” แค่เลือกใช้ให้เหมาะสมก็ถือว่าช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว

เทรนด์การรีไซเคิลขยะน่าสนใจ ลดปัญหาอย่างยั่งยืน

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

การกำจัดขยะผิดวิธี นอกจากจะทำให้เกิดมลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมามากมาย แต่หากมีการจัดการที่ถูกต้อง นำกลับเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม ก็จะกลับมาสร้างประโยชน์ได้อีก ซึ่งบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วโลกก็ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี จึงได้ร่วมด้วยช่วยกันหาทางออกเพื่อลดปริมาณขยะตกค้างที่มีอยู่ รวมไปถึงของเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเกิดเป็นวิธีเหล่านี้โดยมีการนำไปใช้ในหลายประเทศ อาทิ

1. แปรสภาพขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก

ขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียก คือ เศษอาหารเหลือกินเหลือใช้ มูลสัตว์ และผลผลิตจากการเกษตร เช่น ฟางข้าว ถึงแม้จะไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้ เพราะมีความชื้นสูง ไม่เหมาะกับการเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง แต่สามารถนำไปหมักทำปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ แถมยังช่วยเพิ่มแร่ธาตุให้กับดินอีกต่างหาก

2. นำขยะไปใช้เป็นพลังงานทดแทน

เนื่องจากในปัจจุบันขยะมีปริมาณมากไม่สามารถกำจัดได้หมด ประกอบกับมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ขยะมูลฝอยจากชุมชนจึงสามารถนำไปผลิตเป็น “เชื้อเพลิงขยะ RDF” (Refuse Derived Fuel) ต่อยอดนำไปใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานความร้อนได้ ทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด ลดการเกิดมลพิษ และยังส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

3. การผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล

ตอนนี้ผู้ผลิตสินค้าหลายรายให้ความสำคัญกับปัญหาขยะมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์จำนวนไม่น้อยที่มีการระบุชนิดวัสดุ เช่น ประเภทของพลาสติก เพื่อง่ายต่อการคัดแยกและนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อแปรสภาพและผลิตเป็นงานชิ้นใหม่ได้ ในขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งทางเลือกในการนำกลับไปผลิตเป็นวัสดุทดแทน เช่น อิฐบล็อกจากถุง หลังคาจากกล่องนม และหนังเทียมจากวัสดุธรรมชาติ อย่าง กระบองเพชร เป็นต้น

ไอเดียลดขยะให้เป็นศูนย์ผ่านโครงการ Siam Piwat 360 Waste Journey to Zero Waste

ขณะเดียวกันในประเทศไทยได้มีวิธีการจัดการกับขยะที่น่าสนใจเช่นกัน อย่างโครงการ Siam Piwat 360 Waste Journey to Zero Waste ของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ที่ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแผนการจัดการขยะแบบ 360 องศา และก้าวสู่การเป็นองค์กรขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) พร้อมทั้งนำข้อมูลไปต่อยอดใช้เป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ผ่าน 2 กิจกรรม ดังนี้

1. Recycle Collection Center หรือ จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว แบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) แห่งแรกในประเทศไทย

โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกแล้วมาทิ้งที่จุดไดร์ฟทรู ณ สยามพารากอน ซึ่งมีอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือ บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ) เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการขยะของศูนย์การค้า ซึ่งมีทั้งส่งต่อไปยังศูนย์รีไซเคิล เพื่อแปรรูปหรือพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และนำกลับมาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคได้อีกครั้ง ซึ่งในอนาคตจะมี Application สำหรับเก็บข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้บริโภคนำวัสดุมาส่ง จนถึงปลายทางที่สยามพิวรรธน์นำเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ ต่อไป เพื่อส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

โดยเปิดรับวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผ่านการทำความสะอาด 8 ชนิด คือ กระดาษ, แก้ว, เหล็ก อะลูมิเนียม, พลาสติกแข็ง, พลาสติกยืด, พลาสติกซอง ถุง มัลติเลเยอร์, ขวดพลาสติกใส และกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ โดยขยะรีไซเคิลที่นำมาฝากได้ต้อง "สะอาด" และมีการ "คัดแยก" มาก่อนแล้ว

2. ส่งขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

ขยะจากศูนย์การค้าในเครือทั้งหมดจะถูกนำมาคัดแยกเป็น 2 ประเภท และส่งไปยังปลายทาง

กลุ่มที่ 1 : ขยะรีไซเคิลได้ ส่งต่อไปตามขั้นตอนการบริหารจัดการขยะที่เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่กระบวนการ Recycle และ Upcycling ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่

กลุ่มที่ 2 : ขยะกำพร้า โดยร่วมกับเครือข่ายลดพลาสติกไทยแลนด์ หรือ Less Plastic Thailand ส่งต่อให้กับบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก อันจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

เทรนด์รีไซเคิลขยะ

ขยะจะไม่สร้างปัญหาหากช่วยกันจัดการอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการทำความสะอาด คัดแยกตามประเภท แล้วส่งต่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปจัดการได้อย่างถูกต้อง เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังทำให้ของเหลือใช้ถูกนำไปรีไซเคิล และเอากลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เชื่อว่าหากทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ จะต้องผ่านวิกฤตและแก้ปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไว้ไม่เอาต์ ! เทรนด์รีไซเคิลขยะที่น่าจับตามอง ช่วยโลกจากวิกฤตขยะอย่างยั่งยืน อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2564 เวลา 17:39:16 5,776 อ่าน
TOP