น้ำมันเรือ น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันรถ คือน้ำมันเดียวกันจริงหรือไม่ ?

เจาะโลก “น้ำมัน” พลังงานจากธรรมชาติ กับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงยานพาหนะ พร้อมไขข้อข้องใจ เรือ เครื่องบิน และรถยนต์ ใช้น้ำมันชนิดเดียวกันหรือไม่ ? ไปดูกัน

น้ำมันยานพาหนะ

ปัจจุบัน “น้ำมัน” ยังคงเป็นพลังงานหลักที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนพาหนะชนิดต่าง ๆ ทั้งเรือ เครื่องบิน จนมาถึงรถยนต์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่รู้กันหรือไม่ว่า ถึงแม้จะเรียกเชื้อเพลิงเหล่านั้นว่า “น้ำมัน” เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนละชนิด ส่วนจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ชนิดไหนใช้กับพาหนะอะไร วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันแบบชัด ๆ เลย

น้ำมันยานพาหนะ

ปิโตรเลียม จุดเริ่มต้นของพลังงาน

น้ำมันยานพาหนะ

น้ำมันเป็นปิโตรเลียมที่เกิดจากการทับถมของฟอสซิล ถูกความกดดันสูงจากอุณหภูมิใต้ผิวโลก และการหดตัวของชั้นหิน ค่อย ๆ แปรสภาพให้กลายเป็นน้ำมันดิบแทรกอยู่ในชั้นผิวโลก เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ต้องนำไปแยกสารประกอบที่โรงกลั่นน้ำมันก่อน ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ซึ่งน้ำมันที่ใช้กับพาหนะมีหลายชนิด แตกต่างกันไปตามจุดเดือด จุดควบแน่น และปริมาณของสารประกอบไฮโดรเจน กล่าวคือ ถ้ามีสารประกอบไฮโดรเจนเยอะและจุดเดือดสูง จะแยกตัวอยู่ส่วนล่างของหอกลั่น เช่น ยางมะตอยกับน้ำมันเตา ในทางกลับกัน ถ้ามีสารประกอบไฮโดรเจนน้อยและจุดเดือดต่ำ ก็จะเกิดการควบแน่นกลายเป็นของเหลวและก๊าซ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียม นั่นเอง

น้ำมันเรือ น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันรถ
ใช้น้ำมันเหมือนกันไหม ?

เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะสงสัยในประเด็นนี้เหมือน ๆ กัน เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่า “น้ำมัน” แต่จริง ๆ แล้วสามารถนำมาใช้ด้วยกันได้หรือไม่ ? เราได้หยิบยกข้อมูลของน้ำมันชนิดต่าง ๆ จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาอธิบายให้เข้าใจ ดังนี้

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์

น้ำมันยานพาหนะ

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซ LPG (Liquefied Petroleum Gas) มีจุดเดือดต่ำกว่า 65 องศาเซลเซียส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีค่าออกเทนสูง การเผาไหม้สมบูรณ์ ช่วยให้เครื่องยนต์สะอาด ช่วยยืดอายุการใช้งาน ไม่ทำให้เกิดเขม่าควัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันได้ อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าด้วย

น้ำมันเบนซิน ขุมพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์

น้ำมันยานพาหนะ

น้ำมันเบนซิน

มีจุดเดือดอยู่ที่ 65-200 องศาเซลเซียส ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเพิ่มค่าออกเทน ที่ใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  • เบนซินออกเทน 95 : หรือน้ำมันเบนซินพิเศษ มีการเผาไหม้สมบูรณ์ ไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ และปลอดจากสารตะกั่ว เหมาะสำหรับรถยนต์ทุกชนิด แต่มีราคาสูง
     
  • เบนซินออกเทน 91 : หรือน้ำมันเบนซินธรรมดา ไม่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ และปลอดจากสารตะกั่ว มีการปรับลดค่าออกเทนลงมา ทำให้การตอบสนองต่อเครื่องยนต์ด้อยลง
น้ำมันแก๊สโซฮอล์

เป็นการนำน้ำมันเบนซินไปผสมกับเอทานอล หรือสารแอลกอฮอล์ที่ได้จากพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แบ่งออกตามสัดส่วนของส่วนผสมได้ ดังนี้

  • น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 : เบนซินผสมเอทานอล ในอัตราส่วน 9:1
     
  • น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 : เบนซินผสมกับเอทานอล โดยใช้สาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) เพิ่มค่าออกเทน มีคุณภาพใกล้เคียงกับเบนซิน 95 และยังช่วยลดมลพิษจากการสันดาปได้
     
  • น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 : เบนซินผสมเอทานอล 15%
     
  • น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 : เบนซินผสมเอทานอล 20%

หมายเหตุ : ควรเช็กประเภทของน้ำมันที่เหมาะสมจากฝาน้ำมันก่อนการเติมทุกครั้ง เพราะหากเติมผิดประเภทอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้

นํ้ามันเครื่องบิน พลังงานของอากาศยาน

น้ำมันยานพาหนะ

น้ำมันเครื่องบิน หรือน้ำมันอากาศยาน (Jet Fuel) มีช่วงการกลั่นใกล้เคียงกับน้ำมันก๊าด จุดเดือดอยู่ที่ 150-250 องศาเซลเซียส โดยที่ใช้มีอยู่ 2 ชนิด แบ่งตามประเภทเครื่องยนต์ คือ

1. น้ำมันเบนซินเครื่องบินใบพัด : ใช้น้ำมันที่อยู่ในช่วงการกลั่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน แต่เติมสารปรับค่าออกเทนให้สูงขึ้น เพื่อให้น้ำมันสะอาด มีความคงตัวสูง เก็บในถังได้นาน เผาไหม้ได้ดี ทนต่ออุณหภูมิต่ำและความดันเปลี่ยนแปลงจากการบินสูง ๆ เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ได้ต่อเนื่องตลอดเวลา

2. น้ำมันเชื้อเพลิง-เครื่องบินไอพ่น : เป็นเครื่องยนต์แบบกังหัน ต้องใช้น้ำมันที่สะอาด บริสุทธิ์ เผาไหม้ได้ดี มีความคงตัวสูง ไม่สลายตัวหรือเสื่อมสภาพในระหว่างที่เก็บในถังหรือระหว่างการใช้งาน

น้ำมันดีเซล เชื้อเพลิงรถเครื่องยนต์ความเร็วและรอบสูง

น้ำมันยานพาหนะ

ดีเซลหมุนเร็ว (High Speed Diesel) หรือน้ำมันโซลาร์ จุดเดือดอยู่ที่ 250-360 องศาเซลเซียส ใสและหนืดเล็กน้อย เผาไหม้เร็ว เหมาะกับเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบสูงกว่า 1,000 รอบ/นาทีขึ้นไป เช่น เครื่องยนต์รถทั่วไป รถกระบะ รถบรรทุก มีจำหน่ายตามปั๊มน้ำมันหัวจ่าย จะแตกต่างกับดีเซลหมุนช้า (Low Speed Diesel) หรือน้ำมันขี้โล้ จะใช้กับเครื่องยนต์ความเร็วรอบต่ำกว่า 1,000 รอบ/นาที มีแรงม้าน้อย

โดยประเภทของน้ำมันดีเซลสำหรับรถยนต์ แบ่งประเภทได้ดังนี้

  • น้ำมันดีเซล B7 : น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 6.6-7% เหมาะสำหรับรถรุ่นเก่าและรถยุโรป
    ​​​​​​​
  • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 : เกรดมาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทย มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 9-10% เหมาะสำหรับรถยนต์ทั่วไป
     
  • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 : มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 19-20% ทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถกระบะบางรุ่น

หมายเหตุ : ไบโอดีเซล คือ น้ำมันที่สกัดจากผลผลิตจากธรรมชาติ เช่น ปาล์ม ข้าวโพด รำข้าว นำมาทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเมทานอล จนเกิดเป็นสารเอสเทอร์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งช่วยลดการเกิดมลพิษ

น้ำมันเตา เชื้อเพลิงแห่งการเดินเรือ

น้ำมันยานพาหนะ

น้ำมันเตา หรือกากกลั่น (Residual Fuel หรือ Heavy Fuel Oils) จะอยู่ชั้นล่างของหอกลั่น มีจุดเดือดสูงกว่า 360 องศาเซลเซียส เป็นของเหลวข้นหนืด สีเข้ม มีสิ่งตกค้างปนเปื้อน ราคาถูก เหมาะกับเรือเดินทะเลขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ต้องบรรทุกของที่มีน้ำหนักมาก และเดินทางไกล จึงใช้น้ำมันในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังเหมาะกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักรต่าง ๆ และเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกด้วย

หายสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า ถึงแม้เชื้อเพลิงที่นำมาใช้กับยานพาหนะชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือ เครื่องบิน และรถยนต์ จะถูกเรียกว่าน้ำมันเหมือนกัน แต่คุณสมบัติก็แตกต่างกันไปตามลักษณะของเครื่องยนต์ ดังนั้น ควรทำความเข้าใจให้ดีก่อน โดยเฉพาะน้ำมันรถที่เราใช้กันทุกวัน ถ้าเติมผิดชีวิตเปลี่ยนเลยนะคะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันเรือ น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันรถ คือน้ำมันเดียวกันจริงหรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 08:56:42 25,687 อ่าน
TOP