เปิดคอมเมนต์เดือด กรณี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศห้ามทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมทำลายปะการังไปเที่ยวดำน้ำทะเล ชาวเน็ตเสียงแตก แบบนี้ต้องไปห้ามผู้ผลิตไหม อีกด้านซัดตรรกะป่วย !
วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามโดย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
โดยระบุเหตุผลว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเลจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง โดยจากข้อมูลวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้น ทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว
กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ ในอุทยาน จึงออกประกาศ ดังนี้
1. ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
2. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ภายหลังประกาศดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย บ้างก็บอกว่าคงไม่มีใครมานั่งดูส่วนผสมของครีมกันแดดก่อนซื้อทุกขวด แถมตัวหนังสือยังเล็กมาก ๆ ถ้าไม่อยากให้ใช้ก็ไปบอกให้บริษัทเลิกผลิต
นอกจากนี้ อีกฝ่ายยังมองว่าคนที่บอกให้บริษัทเลิกผลิตนั้นเป็นตรรกะที่ป่วยมาก ๆ เพราะครีมกันแดดมีหลากหลายประเภท ทุกคนที่ซื้อครีมกันแดดไม่ได้ซื้อเพื่อไปเที่ยวทะเลเท่านั้น บางคนก็ซื้อใช้ในชีวิตประจำวันก็มี เมื่อก่อนไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้รู้แล้วว่ามันทำลายธรรมชาติ ก็ควรช่วยสละเวลากันสักนิด เพื่อหาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็มองว่าไม่ว่าจะทาครีมกันแดดแบบไหนไป อุทยานฯ จะรู้จริงหรือว่าเราทาแบบไหนมา แล้วใครจะมาปรับเงินเรา ซึ่งก็มีอีกหลากหลายความคิดเห็นที่มองว่าถึงใครไม่รู้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจ อะไรที่ช่วยสิ่งแวดล้อมได้ก็ควรทำ ไม่ใช่ไปเที่ยวดำน้ำดูปะการังสวย ๆ สุขใจตัวเอง แต่ทำลายธรรมชาติ
อ่านราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม คลิกที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก IGreen