คู่มือรถไฟฟ้าสายสีแดง แบบละเอียดยิบ รู้ไว้ใช้บริการไม่มีหลง

          จัดมาให้แล้วกับข้อมูลแน่น ๆ ของรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้ทดลองใช้ฟรีตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ว่าวิ่งเส้นทางไหน ผ่านสถานีอะไร และมีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง มาดูกันเลย
          การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเปิดทดลองให้บริการฟรี (ระยะเวลา 3 เดือน) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของระบบขนส่งทางรางของประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางเข้า-ออกเมืองหลวงให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้บริการ เรามาทำความรู้จักกับรถไฟฟ้าสายสีแดงให้มากขึ้นกว่าเดิมในฐานะ “น้องใหม่” ของระบบรางกัน
รถไฟฟ้าสายสีแดง

เส้นทางให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง

          เส้นทางให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลัก (ตอนนี้) รวมทั้งหมด 13 สถานี คือ
 

  • สายสีแดงเข้ม 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต
     
  • สายสีแดงอ่อน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน, สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน
รถไฟฟ้าสายสีแดง

ตารางการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในช่วงบริการทดลองวิ่ง)

          สำหรับช่วงทดลองบริการวิ่ง (ฟรี) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 รวมระยะเวลา 3 เดือน มีตารางการเดินทาง ดังนี้

          - เส้นทางบางซื่อ-รังสิต

  • เที่ยวแรกจากบางซื่อ เวลา 06.00 น.
  • เที่ยวแรกจากรังสิต เวลา 06.00 น.
  • เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ เวลา 19.30 น.
  • เที่ยวสุดท้ายจากรังสิต เวลา 19.30 น.


          *** ระยะเวลาสำหรับการวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ใช้เวลา 25 นาที ระยะทางทั้งสิ้น 26 กิโลเมตร

          ดูข้อมูลตารางการเดินรถเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Airport Rail Link

          - เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน

  • เที่ยวแรกจากบางซื่อ เวลา 06.00 น.
  • เที่ยวแรกจากตลิ่งชัน เวลา 06.06 น.
  • เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ เวลา 19.30 น.
  • เที่ยวสุดท้ายจากตลิ่งชัน เวลา 19.36 น.


          *** ระยะเวลาสำหรับการวิ่งของรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใช้เวลา 15 นาที ระยะทางทั้งสิ้น 15 กิโลเมตร

          สำหรับความถี่ในการให้บริการ เวลาเร่งด่วน 15 นาที (ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. และ 17.00-19.30 น.) นอกเวลาเร่งด่วน 30 นาที โดยปิดสถานีเมื่อขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายเดินทางถึงปลายทาง

ขั้นตอนการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง

          สำหรับคนที่อยากใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง บอกเลยว่าขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน เมื่อเข้าไปยังสถานีที่ใช้บริการก็จะเจอกับเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ที่มีลักษณะหน้าตาที่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าคุ้นเคยเป็นอย่างดี สามารถใส่เหรียญและธนบัตรตามมูลค่าจำนวนค่าโดยสารที่เดินทาง หรือถ้าไม่สะดวกที่จะซื้อกับเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ บริเวณเดียวกันนั้นจะมีห้องขายตั๋วโดยสารอยู่ด้วย ซึ่งก็จะมีพนักงานคอยให้คำแนะนำการใช้บริการ
รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ และห้องขายตั๋วโดยสารภายในสถานีกลางบางซื่อ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

          ทั้งนี้ ในช่วงเปิดให้ทดลองวิ่ง ผู้โดยสารสามารถเข้าทดลองใช้บริการฟรี (เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติจะยังไม่เปิดให้บริการ) เพียงแค่สแกน QR Code ก่อนการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสแกนเสร็จจะขึ้นให้ผู้โดยสารเลือกสถานีปลายทางต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการ ก็เป็นอันเรียบร้อย
รถไฟฟ้าสายสีแดง

          (แบบฟอร์มเมื่อสแกน OR Code แล้วเรียบร้อย)

          เมื่อเข้ามาภายในสถานี ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงไปขึ้นผิดขบวน เพราะจะมีหน้าจอบอกให้เรารู้ว่ารถไฟที่ขึ้นเป็นรถไฟอะไร ขบวนไหน ชานชาลาที่เท่าไร และจะมาถึงกี่โมง ดังนั้นใครที่วางแผนไว้จะเดินทางไปที่ไหน เวลากี่โมง แนะนำให้คำนวณเวลาให้ดี ๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะพลาดตกขบวนรถไฟเอาได้

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง

          ภายในขบวนตู้รถไฟจะสัมผัสได้ถึงความโล่งโปร่งสบายตา ด้วยเพราะภายในเป็นสีขาว ตัดสลับกับที่นั่งสีแดง พร้อมกับหน้าต่างกระจกสองฝั่ง เผยให้เห็นวิวสองข้างทางให้นั่งมองก่อนถึงปลายทางเพลิน ๆ
รถไฟฟ้าสายสีแดง

ภายในขบวนสะอาด โปร่ง นั่งสบาย พร้อมกระจกบานใหญ่มองเห็นวิวสวย ๆ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง

          ลองสังเกตอีกสักนิด บริเวณเหนือประตูของขบวนรถไฟ จะมีจอที่แสดงผลบอกให้รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่สถานีไหนแล้ว รวมถึงมีแผนที่โดยรวมของเส้นทางเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยเช่นกัน
รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง

          ทั้งนี้ ภายในสถานีและขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ทุพพลภาพ คนป่วย สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ คอยบริการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์, ประตูพิเศษสวิงเกต, บริการรถเข็นวีลแชร์ และที่นั่งสำรองพิเศษ เป็นต้น หรืออย่างภายในตู้ขบวนรถไฟฟ้าจะมีพื้นที่สำหรับคนพิการ ซึ่งจะเห็นเป็นภาพสัญลักษณ์คนนั่งรถเข็นอยู่แถว ๆ จุดเชื่อมต่อระหว่างตู้โดยสาร บริเวณนั้นจะมีพื้นที่สำหรับล็อกรถเข็นของผู้พิการที่โดยสารนั่นเอง
รถไฟฟ้าสายสีแดง

สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ทุพพลภาพ คนป่วย สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดงกับการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ

          จริง ๆ แล้วรถไฟฟ้าสายสีแดงไม่ได้วิ่งเดี่ยว ๆ เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เพราะเขายังมีเพื่อนเป็นรถไฟฟ้าสายอื่นที่เข้ามาเชื่อมต่อ เพื่อให้การเดินทางของผู้โดยสารสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยมี 3 สถานีทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อ ได้แก่
  • สถานีกลางบางซื่อ เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน (หลักสอง-บางซื่อ-ท่าพระ)
     
  • สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโมโนเรลสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
     
  • สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อกับ MRT สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) สามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันโดยสะดวก
รถไฟฟ้าสายสีแดง

          ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก MRT Bangkok Metro
          นอกจากความสะดวกที่เกิดจากการเชื่อมโยงของรถไฟ 2 ระบบแล้ว ที่ “สถานีดอนเมือง” ก็ยังเชื่อมกับท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยสกายวอล์กที่ทอดยาวข้ามถนนวิภาวดีรังสิต เข้าไปในลานจอดรถของ Termimal 2 สถานีนี้จึงเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ คราวนี้ก็ไม่ต้องมาพะวงว่าหากรถติดจะตกเครื่องหรือเปล่า เพราะเราสามารถควบคุมเวลาการเดินทางมายังสนามบินได้ด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดง

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ทางเดินสกายวอล์กเพื่อเดินเข้าไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง

          ในส่วนของรถเมล์ก็ยังเชื่อมต่อกันได้กับทุกสถานี รวมถึงสถานีที่ไม่เคยมีรถเมล์เข้าไป ทาง ขสมก. รถเมล์เอกชน หรือแม้แต่รถประจำทางท้องถิ่น ก็มีการจัดเส้นทางเดินรถประจำทางใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยเช่นกัน

          ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

สถานที่สำคัญแต่ละสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง

          จุดมุ่งหมายหลักสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีแดง นั่นคือ ต้องการทำเส้นทางการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้น ส่วนใหญ่เป็นสถานที่สำคัญที่รายล้อมโดยรอบแต่ละสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดง บ้างก็เป็น Super Highway บ้างก็เป็นร้านค้าต่าง ๆ หรือจะเป็นแนวชุมชนในซอยใหญ่ต่าง ๆ รวมไปถึงสำนักงานสำคัญ ๆ เช่น
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีกลางบางซื่อ เช่น สวนจตุจักร, ธนาคารทหารไทย (สำนักงานใหญ่), สถานีขนส่งหมอชิต 2, เจเจมอลล์ และตลาดเตาปูน เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีจตุจักร เช่น ปตท. สำนักงานใหญ่, สมบัติทัวร์ และตึกชินวัตร 3 เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีวัดเสมียนนารี เช่น ตลาดประชานิเวศน์, บองมาร์เช่, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เมเจอร์ รัชโยธิน และตึกช้าง เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีบางเขน เช่น ห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์, ศูนย์ราชการนนทบุรี, เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์, สถาบันโรคทรวงอก และกรมพลาธิการทหารบก เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีทุ่งสองห้อง เช่น โรงงานยาคูลท์, โรงแรมรามา การ์เด้นส์, สโมสรตำรวจ และไทยพีบีเอส เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีหลักสี่ เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, เซ็นทรัล รามอินทรา, วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน, กรมทหารราบที่ 11 และสะพานใหม่ เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีการเคหะ เช่น เคหะทุ่งสองห้อง, คลังน้ำมันดอนเมือง และเจ้เล้ง เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีดอนเมือง เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง, ตลาดใหม่ดอนเมือง, วัดดอนเมือง และอนุสรณ์สถาน เป็นต้น
รถไฟฟ้าสายสีแดง

เมื่อใกล้ถึงสถานีดอนเมือง มองออกไปที่หน้าต่างก็จะเจอกับเครื่องบินจอดเรียง อีกหนึ่งวิวสวยยอดนิยม

  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีหลักหก เช่น ตลาดสี่มุมเมือง, ดรีมเวิลด์, เซียร์รังสิต, แยก คปอ., แยกลำลูกกา และ BTS คูคต เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีรังสิต เช่น เมเจอร์ รังสิต, สถาบันธัญญารักษ์, ตลาดพูนทรัพย์, วัดเวฬุวัน และเวิร์คพอยท์ เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีบางซ่อน เช่น MRT แยกติวานนท์, แยกประชานุกูล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์, ตลาดวงศ์สว่าง และกรมยุทธบริการทหาร เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีบางบำหรุ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, แยกซังฮี้, สะพานกรุงธน และซอยวัดภคินีนาถวรวิหาร เป็นต้น
     
  • สถานที่ใกล้เคียงละแวกสถานีตลิ่งชัน เช่น ไปรษณีย์ตลิ่งชัน, ซอยวัดมะกอก (ฝั่งบรมราชชนนี), สถานีขนส่งสายใต้ใหม่, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และตลาดเซฟอี เป็นต้น

รถไฟฟ้าสายสีแดงกับความปลอดภัยช่วงโควิด 19

        ด้วยเพราะช่วงนี้สถานการณ์โควิด 19 ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้บริการ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว จึงมีมาตรการการดูแลผู้โดยสารด้วยความไม่ประมาท โดยมีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้
 
  • ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าภายในสถานีทุกครั้ง

  • ผู้โดยสารทุกคนจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย 100%
     
  •  ยืนในระยะห่างที่เหมาะสมขณะที่ใช้ลิฟต์โดยสาร
รถไฟฟ้าสายสีแดง

มาตรการการดูแลและป้องกันโควิด 19

  • สแกน QR Code ไทยชนะ ก่อนเข้าระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง
  • เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร
     
  • หมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ตามจุดที่ให้บริการ
          นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อยังเป็นหนึ่งในจุดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 หลายคนจึงวางแผนการเดินทางมาฉีดวัคซีนด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง มาลงที่สถานีกลางบางซื่อได้เลย สามารถออกไปทางประตู 1 เพื่อที่จะเข้าประตู 2-4 เพื่อรับการฉีดวัคซีนต่อไป ซึ่งระหว่างทางจะมีป้ายบอกจุดให้บริการเป็นระยะ ๆ ว่าเราควรจะเดินไปยังจุดไหน เป็นขั้นเป็นตอน 
รถไฟฟ้าสายสีแดง

ป้ายจุดฉีดวัคซีนตั้งเป็นระยะ ๆ

รถไฟฟ้าสายสีแดง

          มาถึงตรงนี้ ใครที่อยากจะใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงทดลองนั่ง (ฟรี) ก็สามารถมาใช้บริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ถือว่าเป็นรถไฟอีกหนึ่งสายที่เหมาะกับคนชานเมืองมาก ๆ รถออกจากสถานีวิ่งปรู๊ดถึงจุดหมายโดยเร็ว ทั้งยังเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ จึงง่ายทั้งการเดินทาง ประหยัดเวลา และสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างรัดกุม นับเป็นอีกหนึ่งของขวัญดี ๆ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ยินดีและพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทุกคนด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง สามารถสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 1690 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Airport Rail Link และ เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊ก BMTA องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือรถไฟฟ้าสายสีแดง แบบละเอียดยิบ รู้ไว้ใช้บริการไม่มีหลง อัปเดตล่าสุด 4 มกราคม 2566 เวลา 17:01:44 237,908 อ่าน
TOP